
19 June 2011
ไปพบเจองานวิจัยชิ้นหนึ่งที่จัดทำโดยศาสตราจารย์สี่คนจากสองทวีปครับ นั้นคือทางฝั่งอเมริกาและฝั่งยุโรป โดยโจทย์การศึกษาของพวกเขาในครั้งนี้คืออยากจะทราบว่าองค์กรจากภูมิภาคไหนที่มีการบริหารจัดการที่ดีที่สุดในโลก และจากการวิจัยและเก็บข้อมูลมาอย่างยาวนานก็ได้ข้อสรุปครับว่าเป็นบริษัทที่มาจากอเมริกา (ไม่น่าแปลกใจนะครับ) มีการยกย่องแกมประชดเลยครับว่าถึงแม้ชาวอเมริกันจะไม่ได้มีความเก่งกาจในกีฬาฟุตบอล แต่บริษัทจากอเมริกาก็เปรียบเสมือนเป็น Brazilians of Management เลยทีเดียว
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาทีมวิจัยดังกล่าวซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์จาก Harvard Business School, London School of Economics, Stanford และ McKinsey & Company ได้พยายามศึกษาถึงแนวทางการบริหารจัดการต่างๆ และพยายามพัฒนาเครื่องมือในการวัดถึงแนวทางในการบริหารองค์กรในด้านต่างๆ หลังจากนั้นก็มีการเก็บข้อมูลกว่า 10,000 บริษัทใน 20 ประเทศทั่วโลก ทำให้ทีมวิจัยแห่งนี้สามารถที่จะรวบรวมและสร้างฐานข้อมูลทางด้านการบริหารจัดการขนาดใหญ่ได้ และมีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการครับ ลองมาดูกันนะครับว่าเขาพบเจออะไรบ้าง
ประการแรกไม่ค่อยน่าแปลกใจเท่าไรครับ นั้นคือผู้วิจัยพบว่าในบริษัทที่มีการบริหารงานที่ดีจะนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ดีกว่าบริษัทที่ได้รับการประเมินในคะแนนที่ไม่ดี บริษัทที่มีการบริหารจัดการที่ดีจะมีการเติบโตที่เร็วกว่า มีมูลค่าหุ้นที่สูงกว่า และสามารถอยู่รอดในสภาวะต่างๆ ได้นานกว่า
ประการที่สองเป็นหัวข้อของบทความนี้ครับ นั้นคือเมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการบริหารจัดการโดยรวมแล้ว พบว่าบริษัทของอเมริกาจะมีคะแนนทางการบริหารจัดการด้านต่างๆ ดีกว่าบริษัทจากประเทศอื่น ถ้าดูเป็นอุตสาหกรรมแล้ว บริษัทอเมริกันจะโดดเด่นในอุตสาหกรรมการผลิต ค้าปลีก และสุขภาพ ในขณะที่บริษัทจากญี่ปุ่น เยอรมันนี และ สวีเดน จะมีคะแนนตามหลังมาไม่ไกล ในขณะที่บริษัทจากประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่น บราซิล จีน และอินเดีย กลับจะอยู่ในอีกฝั่งของตาราง (นั้นคือด้านล่างครับ) ส่วนกลุ่มที่อยู่ตรงกลางนั้นก็เป็นบริษัทที่มาจากอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรเลีย ซึ่งบริษัทที่อยู่ตรงกลางนั้นถือว่ามีระบบการบริหารจัดการที่ดีและใช้ได้ เพียงแต่อาจจะไม่โดดเด่น
ประการที่สามที่พบจากการวิจัยครั้งนี้ก็คือในทุกประเทศจะมีบริษัทอยู่บางบริษัทที่ถือว่ามีการบริหารจัดการอยู่ในระดับโลก หรือ World-Class แม้กระทั่งอินเดียที่ค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ต่ำสุด ก็มีบริษัทเกือบโหลที่มีการบริหารจัดการที่ถือว่าเป็นระดับโลก ซึ่งจากการค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าความสามารถในการบริหารจัดการของแต่ละบริษัทไม่ได้ขึ้นอยู่สภาวะแวดล้อมหรือบริษัทอื่นๆ ในประเทศ ในขณะเดียวกันการอยู่ในประเทศที่มีคะแนนการบริหารจัดการที่ดีเลิศอย่างอเมริกา ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกบริษัทจะมีการบริหารจัดการที่ดีเลิศตามไปด้วยนะครับ ในอเมริกาเองร้อยละ 15 ของบริษัทที่สำรวจมีการบริหารจัดการที่ถือว่าอยู่ในระดับแย่และตำ่กว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอย่างจีนหรืออินเดียเสียอีกนะครับ
ถ้าจะดูว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้บริษัทในอเมริกาประสบความสำเร็จเหนือกว่าบริษัทในประเทศอื่นนั้นก็คงตอบว่าเกิดขึ้นเนื่องจากวัฒนธรรมและแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการบริหารคนของเขาครับ บริษัทของอเมริกาจะเอาจริงเอาจังในการบริหารคน เวลาให้รางวัลก็ให้กันอย่างจริงจัง แต่ถ้าใครผลการดำเนินงานไม่ดี ก็พร้อมที่จะให้ออกโดยไม่อาลัย ซึ่งการบริหาคนของบริษัทอเมริกาอย่างเอาจริงเอาจังนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากการที่ตลาดของอเมริกามีขนาดใหญ่ ทำให้มีการแข่งขันระหว่างบริษัทต่างๆ ค่อนข้างรุนแรง บริษัทที่เก่งจริงเท่านั้นถึงจะอยู่รอดได้ ดังนั้นพัฒนาการของแนวทางการบริหารต่างๆ จึงต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้อีกสาเหตุหนึ่งของความสำเร็จนั้นคือเรื่องของระดับพื้นฐานการศึกษาครับ ที่ประเทศอเมริกา จะมีประชากรที่จบอย่างน้อยในระดับปริญญาตรีที่เมื่อเทียบกับประเทศอ่ื่นแล้ว จะอยู่ในอัตราส่วนที่สูงกว่า สุดท้ายคงต้องยกความดีให้ความยืดหยุ่นในตลาดแรงงานของอเมริกาครับ ที่ไม่ยากที่จะจ้างคนใหม่และไล่คนเก่าให้ออกไป
เมื่อนำปัจจัยด้านบุคคลเข้าไปพิจารณาแล้วจะพบว่าถึงแม้แนวทางในการบริหารจัดการของอเมริกาหลายๆ เรื่องจะดี แต่ด้วยพื้นฐานที่แตกต่างกันในระบบการบริหารคน ทำให้ยากที่จะนำแนวทางในการบริหารของอเมริกามาใช้ได้อย่างเต็มที่ บทเรียนที่น่าจะได้จากงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ใช่ว่าเราจะต้องลอกเลียนหรือตามก้นอเมริกันตลอดไปนะครับ เราควรที่จะเลือกใช้แนวทางหรือหลักการทางด้านการบริหารบางประการให้มาปรับใช้ แต่ก็ต้องพิจารณาดูด้วยว่าพื้นฐาน โครงสร้าง และระบบต่างๆ จะสามารถรองรับได้มากน้อยเพียงใดด้วย