
4 July 2011
ผมมีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการของ PACIBER (Pacific Asian Consortium for International Business Education and Research) ซึ่งเป็นการสัมมนาทางวิชาทางประจำปี โดยปีนี้มาจัดกันที่กรุงโซล เกาหลีใต้ โดยในงานสัมมนาครั้งนี้มีการเชิญทั้งผู้บริหารระดับสูงและนักวิชาการชาวเกาหลีมาเล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ทางเศรษกิจและธุรกิจของเกาหลีในปัจจุบัน เลยอยากจะขอมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังกันนะครับ
มาเริ่มที่ความสำเร็จทางธุรกิจของเกาหลีในปัจจุบันนะครับ ในแง่ของธุรกิจนั้นปัจจุบันบริษัทจำนวนมากถือเป็นบริษัทชั้นนำในหลายๆ อุตสาหกรรมทั่วโลก ในธุรกิจสร้างและประกอบเรือ บริษัทต่างๆ ของเกาหลีรวมแล้วมีส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่งของโลก เช่นเดียวกับในอุตสาหกรรม LCD ส่วนธุรกิจ Semiconductor นั้นบริษัทของเกาหลีรวมแล้วมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับสองของโลก และสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นบริษัทของเกาหลีรวมแล้วเป็นอันดับห้าของโลก นอกจากความสำเร็จของบริษัทเกาหลีใต้แล้ว ความสำเร็จของเกาหลีในการส่งออกวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ไปทั่วโลกก็ป็นสิ่งที่เราทราบกันดี ล่าสุดศิลปินของเกาหลีก็เริ่มบุกตลาดยุโรปแล้ว ผมได้ถามผู้บริหารของเกาหลีว่าอะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการส่งออกวัฒนธรรมเกาหลี ผู้บริหารท่านนั้นได้ให้ความเห็นในอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจครับ
ตลาดส่งออกที่เป็นเป้าหมายสำคัญของวัฒนธรรมเกาหลีคือตลาดประเทศจีน และเนื่องจากวัฒนธรรมของเกาหลีนั้นได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของจีน แต่ในขณะเดียวกันวัฒนธรรมของจีนเองก็มีการขาดหายไปช่วงหนึ่งในช่วงของการปฎิวัติวัฒนธรรมจีน การเสพวัฒนธรรมด้านต่างๆ ของเกาหลีของชาวจีน (ทั้งในประเทศจีนและชาวจีนโพ้นทะเล) เป็นเสมือนการทำฝห้ชาวจีนได้กลับไปย้อนระลึกถึงฐานรากวัฒนธรรมของตัวเอง
ผู้บริหารชาวเกาหลีท่านนี้ (CEO ของ KB Banking Group ซึ่งเป็นสถาบันการเงินใหญ่สุดของเกาหลี) ยังระบุต่อด้วยนะครับว่าปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในด้านต่างๆ ของเกาหลีนั้นคือเรื่องของพื้นฐานการศึกษาครับ ผมเองก็เพิ่งทราบว่าเกาหลีนั้นเป็นประเทศที่มีอัตราการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสูงที่สุดในโลก (85%) นอกจากการศึกษาแล้ว ธรรมชาติของคนและสังคมเกาหลีก็เป็นตัวผลักดันความสำเร็จอีกประการหนึ่งครับ สังคมเกาหลีนั้นถือเป็นสังคมที่มีการแข่งขันสูงมากสังคมหนึ่ง และจากสภาพสังคมที่แข่งขันการสูงนั้นก็ทำให้คนเกาหลีทำงานหนัก
อย่างไรก็ดีจากความสำเร็จของเกาหลีที่ผ่านมาก็ส่งให้ในปัจจุบันเกาหลีก็เริ่มที่จะมองเห็นและประสบปัญหาแล้วเช่นเดียวกันครับ สังเกตได้จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีที่ถือว่าอยู่ในระยะอิ่มตัว เริ่มตั้งแต่แบรนด์ของสินค้าเกาหลีนั้น จากการสำรวจแล้วพบว่ายังไม่เป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลายว่าเป็นแบรนด์ของเกาหลี ปรากฎว่าชาวตะวันตกจำนวนมากยังมีความเข้าใจผิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่น นอกจากนี้จุดแข็งของเกาหลีที่คนเกาหลีมีระดับการศึกษาที่สูงก็เริ่มส่งผลเสียต่อเกาหลีแล้วนะครับ จากการที่คนเกาหลีมีการศึกษาที่สูง ทำให้คนเหล่านี้เมื่อจบมาแล้วอยากจะทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ ไม่สนใจที่จะทำงานในโรงงานหรือเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ ของตนเอง และทำให้เกาหลีมีอัตราการว่างงานในกลุ่มผู้มีการศึกษาสูงค่อนข้างมาก นอกจากนี้ในอดีตคนเกาหลีเป็นกลุ่มคนที่มีอัตราการออมเงินที่สูง แต่จากปัจจุบันที่ค่านิยมเรื่องของวัตถุนิยมและของแบรนด์ต่างๆ ทำให้อัตราการออมทรัพย์ของชาวเกาหลีลดน้อยลง
ประเด็นปัญหาที่สำคัญอีกประการ คือเนื่องจากในอดีตการเติบโตของเกาหลีนั้นผ่านทางการค้าและการส่งออก แต่ปัจจุบันคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญอย่างเช่นจีนก็เริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีจนไม่ห่างจากบริษัทในเกาหลีเท่าใด อีกทั้งการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีในอดีตของเกาหลีนั้น ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพื้นฐาน แต่จะเป็นการมุ่งเน้นในการปรับเปลี่ยนกระบวนการและอยู่ในธุรกิจเดิมเสียมากกว่า
บรรดาผู้เชี่ยวชาญชาวเกาหลีเขาก็มองว่าจากปัญหาต่างๆ ที่เกาหลีเผชิญนั้น สามารถแก้ไขได้ครับ เช่นการเริ่มให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการผลิตน้อยลงและให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการให้บริการมากขึ้น เนื่องจากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ สัดส่วนของรายได้จากอุตสาหกรรมการให้บริการในเกาหลีนั้นยังน้อยอยู่ นอกจากนี้เนื่องจากการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต ทำให้การลงทุนที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตไม่ได้ทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น
มีข้อถกเถียงกันพอสมควรในงานสัมมนานะครับว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีจะเป็นลักษณะของการเติบโตแล้วก็หยุดหรือหดตัวหรือไม่? มีหัวข้อสนทนาหนึ่งที่น่าสนใจนั้นก็คือสุดท้ายแล้วบริษัทของเกาหลีจะสามารถพลิกตัวเองจาก Imitator to Innovator ได้สำเร็จหรือไม่? ก็ถือว่าเราต้องจับตาดูต่อไปนะครับว่าการเติบโตและพัฒนาการของเกาหลีและบริษัทเกาหลีจะเป็นอย่างไรต่อไป