12 June 2011

คงจะไม่ต้องเขียนถึงกระแสหรือความนิยมของ Social Media ต่างๆ ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Twitter นะครับ และดูเหมือนว่ากระแสความนิยมและการเติบโตของสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ก็ดูจะยังแรงไม่เสื่อมถอยไปครับ คราวนี้เมื่อเราทราบว่าสื่อสังคมออนไลน์เป็นสิ่งที่สำคัญ จำเป็นและจะอยู่คู่กับเราไปอีกนานแล้ว ก็มีประเด็นถัดมาครับว่าเราจะใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ได้อย่างไรครับ ประโยชน์ในเรื่องของการตลาด การประชาสัมพันธ์ สื่อสาร เสริมสร้างภาพลักษณ์ แบรนด์ต่างๆ นั้นก็มีการเขียนกันไปเยอะแล้วครับ สัปดาห์นี้ผมจะลองนำเสนอในอีกมุมหนึ่งครับ นั้นคือการนำสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้มาใช้ในการพยากรณ์ครับ

ในวารสาร The Economists ฉบับล่าสุดมีบทความหนึ่งที่นำเสนอข้อมูลในอีกมุมมองหนึ่งว่าปัจจุบันเราสามารถที่จะใช้ข้อมูลและอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฎบนสื่อสังคมออนไลน์มาใช้ในการพยากรณ์พฤติกรรมของผู้บริโภค และทำนายตลาดกันได้แล้ว มีนักวิจัยชาวสหรัฐคนหนึ่งที่เก็บข้อมูลอารมณ์ต่างๆ ของผู้ที่โพสต์บน Twitter อาจจะมีบางวันที่บางคนโพสต์ว่า “วันนี้อารมณ์ดีจัง” หรือ โพสต์ว่า “วันนี้หงุดหงิดและร้อนเป็นพิเศษ” จากนั้นนักวิจัยคนนี้เขาก็พบว่าอารมณ์ของคนที่โพสต์บน Twitter นั้นจะแปรปรวนขึ้นๆ ลงๆ และการแปรปรวนขึ้นๆ ลงๆ นั้นก็ขึ้นอยู่กับจังหวะหรือช่วงเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของสหรัฐ เช่น จะพบว่าช่วงที่อารมณ์บน Twitter ดี จะเป็นของเทศกาลอย่างเช่นวันขอบคุณพระเจ้าหรือ Thanksgiving

นอกจากสื่อสังคมออนไลน์แล้วยังพบอีกนะครับว่าคำต่างๆ ที่ค้นหากันใน Google ก็เป็นสิ่งที่พยากรณ์ถึงปรากฎการณ์ที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างดี มีงานเขียนโดยผู้ที่เป็น Google’s Chief Economist ที่พบว่าถ้ามีการค้นหาคำต่างๆ กันอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าและบริการ ก็จะนำไปสู่ยอดขายของสินค้าและบริการดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา หรือ การค้นหางานบนเน็ตก็จะแสดงถึงอัตราการว่างงานที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีการค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างการเอ่ยถึงชื่อผู้สมัครลงเลือกตั้งบนสื่อ Twitter ว่ามักจะมีความสัมพันธ์กับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น

ยังมีความพยายามในการหาความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ที่ปรากฎบน Twitter กับดัชนีหลักทรัพย์ของสหรัฐ จนกระทั่งพบความสัมพันธ์ระหว่างภาวะ Anxiety ที่ปรากฎข้ึนใน Twitter กับการลดลงของดัชนีหุ้นดาวน์โจนส์ในอีกสามวันต่อมา และปัจจุบันก็มีบริษัทที่เป็น Hedge Fund ซื้อ License การคำนวณความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์บน Twitter กับดัชนีหลักทรัพย์ไปใช้แล้วด้วยครับ

อย่างไรก็ดีปัญหาประการหนึ่งของการติดตามอารมณ์ของคนบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริษัทต่างๆ ที่จะใช้ในเชิงพาณิชย์ก็คือ บริษัทเหล่านี้มักจะพึ่งซอฟแวร์หรือคอมพิวเตอร์ในการสำรวจอารมณ์ของคนบนสื่อสังคมออนไลน์ แต่ปัญหาก็คือซอฟแวร์เหล่านี้ไม่สามารถที่จะตรวจจับการแดกดันหรือการประชดประชันที่เกิดขึ้นได้ เช่น ถ้าในวันที่ฝนตกทั้งวันมีคนโพสต์ว่า “วันนี้อากาศดีเชียว” คนทั่วไปเม่ื่ออ่านก็จะทราบว่าเป็นการประชด แต่สำหรับคอมพิวเตอร์นั้น ย่อมไม่สามารถที่จะตรวจจับสำเนียงหรือความหมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้ถ้อยคำได้

อย่างไรก็ดีมีการมองว่าการใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับนักการตลาดในเสาะแสวงหาแนวโน้มของเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ ท่านผู้อ่านอาจจะลองเข้าไปใน Facebook ของท่านดูก็ได้นะครับ แล้วลองดูว่าเพื่อนๆ ของท่านส่วนใหญ่โพสต์เรื่องอะไรกัน และจะสามารถมองเห็นแนวโน้มอะไรบ้างไหมที่เกิดขึ้น ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือกระแสของหนังหรือละครต่างๆ ครับ ในช่วงไหนที่มีละครดังออกอากาศ เราจะพบว่าเลยว่าบนสื่อสังคมออนไลน์ก็จะมีแต่เรื่องราวของละครเรื่องดังกล่าวอยู่เต็มไปหมด หรือ ภาพยนตร์เรื่องไหนที่กำลังจะหรือใกล้จะดัง ก็จะมีแต่คนโพสต์ทั้งบอกว่ากำลังจะไปดูหรือไปดูมาแล้ว

ดังนั้นเราน่าจะหันมามองพวกสื่อสังคมออนไลน์เหลานี้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการดักจับแนวโน้มของกระแสหรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ กันนะครับ เชื่อว่าน่าจะทำให้พอมองเห็นกระแสของการเปลี่ยนแปลงหรือแนวโน้มบางอย่างไร แต่ก็ต้องมีข้อระวังด้วยนะครับ เนื่องจากคนที่อยู่ใน Facebook หรือ Twitter ของเรานั้นก็มักจะเป็นเพื่อนเรา ซึ่งมีไลฟ์สไตล์หรือการใช้ชีวิตที่ใกล้เคียงกันทำให้อาจจะมองเห็นแต่แนวโน้มในสังคมเดียวกันกับเรา แต่ไม่สามารถมองเห็นแนวโน้มของสังคมอื่นได้