
27 May 2011
สัปดาห์นี้เรากลับมาคุยกันเรื่องของนวัตกรรมกันต่อนะครับ แต่เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจนั้นคือ องค์กรที่อยากจะมุ่งเน้นในเรื่องของนวัตกรรม อยากจะให้บุคลากรมีความคิดสร้างสรรค์ อยากจะให้บุคลากรมีความเข้าใจต่อความต้องการของลูกค้า ฯลฯ ควรจะต้องแสวงหาบุคลากรเหล่านั้นจากไหน?? คำว่าจากไหนของผมนั้น เน้นในเรื่องของพื้นฐานทางด้านการศึกษาครับ ท่านผู้อ่านลองเดาดูนะครับว่าคนที่มีคุณสมบัติต่างๆ ข้างต้น เราควรจะหาจากคนที่จบทางด้านวิศวกรรม ด้านบริหาร ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านสังคม หรือ ด้านศิลปะ?? เชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนมากก็คงคิดเหมือนผมในตอนแรกว่า น่าจะเป็นคนที่จบมาจากสายวิทยาศาสตร์ หรือ ด้านบริหาร เนื่องจากคนที่พื้นฐานเหล่านี้น่าจะมีความสามารถในการคิดเชิงระบบ คิดเป็นขั้นเป็นตอน เน้นในเรื่องของการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ซึ่งนั้นก็คือส่ิงที่องค์กรต่างๆ ทำครับ นั้นคือการจ้างบุคลากรที่มีพื้นฐานด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านบริหาร ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ เข้ามาทำงานเป็นพนักงานในระดับต่างๆ และหวังว่าพนักงานที่จ้างมาเหล่านั้นจะสามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับองค์กรได้
แต่ท่านผู้อ่านลองสำรวจองค์กรต่างๆ ซิครับว่าหลังจากการจ้างพนักงานที่มีพื้นฐานต่างๆ ข้างต้นแล้ว สามารถที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องของนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ได้จริงหรือไม่ ไม่ได้บอกว่าบุคลากรที่จ้างมาเหล่านั้นไม่ฉลาดหรือความสามารถไม่ถึงนะครับ เพียงแต่องค์กรเหล่านั้นมองการจ้างคนเพื่อมาช่วยสร้างสรรค์หรือคิดในสิ่งใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่ผิดไปครับ ซึ่งสาเหตุทั้งหมดนั้นคงต้องไปมองที่ระบบการศึกษาของเราครับ ที่เน้นและให้ความสามารถต่อการสอนให้คนคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ คิดในเชิงธุรกิจ หรือ คิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ ปัจจุบันแนวโน้มที่น่าสนใจและสำคัญก็คือ คนที่เรียนมาในสายสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ ฯลฯ ผู้ท่ีศึกษาในเรื่องของประวัติศาสตร์ศิลปะ ผู้ที่เรียนบทประพันธ์ของเช็คสเปียร์ ผู้ที่ศึกษาภาพวาดของศิลปินอิตาลี บุคคลเหล่านี้คือผู้ที่มีพื้นฐานการศึกษาที่เน้นการมองภาพรวม และสามารถที่จะนำแนวคิดหรือวิธีการคิดแบบใหม่ๆ มาใช้ในการแก้ไขปัญหาเดิมๆ ที่มีอยู่
หลายองค์กรมักจะบ่นว่าบุคลากรขาดทักษะหรือความสามารถในการมองเห็นหรือตระหนักถึงปัญหาก่อนที่จะเกิด (เพื่อไม่ให้ปัญหาเกิด) เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะยุ่งอยู่กับงานหรือปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น คำถามก็คือคนที่มีพื้นฐานในด้านใดที่จะสามารถมองเห็นภาพรวม มองเห็นปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ก่อนที่ปัญหาดังกล่าวจะเกิด? Tony Golsby-Smith ได้เฉลยไว้ครับว่า พวกที่ศึกษาหรือเรียนมาทางด้านศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นด้านวรรณกรรม หรือ จิตรกรรม หรือ แม้กระทั่งปรัชญา และจิตวิทยา จะถูกสอนมาให้คิดในเชิงท้าทายหรือมีความอยากรู้อยากเห็น คนที่เรียนมาด้านนี้จะชอบถามคำถาม สามารถมองเห็นภาพใหญ่หรือองค์รวมได้ดี ซึ่งความสามารถของบุคคลประเภทนี้กลับเป็นสิ่งที่องค์กรต้องการอย่างยิ่งในปัจจุบัน
คำถามต่อมาก็คือคนประเด็นไหนที่จะมีความสามารถในเรื่องของนวัตกรรมหรือการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ดี? ก็ลองมาดูคำตอบในอีกมุมมองหนึ่งบ้างนะครับ พวกที่สามารถคิดสร้างสรรค์ได้ดีกลับไม่ใช่วิศวกรหรือนักวิทยาศาสตร์แบบที่เราเข้าใจกันนะครับ แต่เป็นพวกที่ศึกษาทางด้านมนุษยวิทยา พวกที่ศึกษาในด้านศิลปกรรม อักษรศาสตร์ กลับเป็นผู้ที่ได้รับการพัฒนามาในเรื่องของการคิดเชิงสร้างสรรค์ ท่านผู้อ่านลองนึกถึงคำว่าสร้างสรรค์ในบ้านเราดูก็ได้ครับ เรามักที่จะเชื่อมคำๆ นี้เข้ากับพวกศิลปิน สถาปนิก นักคิด นักเขียนต่างๆ
ในขณะเดียวกันพวกที่ศึกษาด้านภาษาศาสตร์ และ อักษรศาสตร์ ก็เป็นผู้ที่มีความสามารถในการเขียนและการนำเสนอ ทำให้คนที่มีพื้นฐานด้านนี้อาจจะมีความเหมาะสมต่องานทางด้านการตลาด การฝึกอบรม หรือ การทำวิจัย เนื่องจากคนเหล่านีี้จะต้องเขียนเก่งเพื่อให้สามารถเรียนให้จบ ดังนั้นคนกลุ่มนี้จะได้รับการอบรมในเรื่องของทักษะการเขียน การเขียนเพื่อจูงใจ การเขียนเพื่อโน้มน้าว ในขณะเดียวกันพวกที่มีพื้นฐานด้านการแสดงหรือด้านดนตรีก็จะมีทักษะในการแสดงออก ทำให้คนเหล่านี้มีทักษะในการนำเสนอที่ดีไปด้วย ผมเองก็เคยมีลูกศิษย์ที่เป็นนักแสดงและพบว่าคนกลุ่มนี้เมื่อต้องมีการนำเสนอหน้าชั้นเรียนแล้ว จะมีทักษะหรือความสามารถที่ดีกว่าเพื่อนๆ ด้วยกัน
สำหรับพวกที่เรียนมาทางด้านประวัติศาสตร์นั้น ก็จะมีความเข้าใจในภาพรวม สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมองเห็นภาพใหญ่ ความเชื่อมโยง และแนวโน้มของสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็เป็นสิ่งที่สะท้อนจากประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ส่วนพวกที่ศึกษามาทางด้านภาษา ก็สามารถที่จะทำงานในสาขาต่างประเทศ หรือ งานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศได้ดี
ท่านผู้อ่านน่าจะพอได้ไอเดียนะครับว่าการจ้างพนักงานที่มีพื้นฐานทางด้านศิลปะ ภาษา ประวัติศาสตร์ มนุษยวิทยา ฯลฯ อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งขององค์กรในการหาคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ และเหมาะต่อสภาวะแวดล้อมการดำเนินงานในปัจจุบันนะครับ