12 May 2011

ถ้าเอ่ยชื่อ Ikujiro Nonaka เชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนหนึ่งคงจะพอคุ้นๆ โดยเฉพาะอย่างย่ิงท่านผู้อ่านที่เกี่ยวข้องกับวงการของการบริหารความรู้ หรือ Knowledge Management เนื่องจาก Nonaka เป็นเจ้าพ่อของแนวคิดในการบริหารความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารความรู้ในสไตล์เอเชียที่ Nonaka นำแนวคิดต่างๆ ของญี่ปุ่นมาปรับใช้ คำว่า Tacit หรือ Explicit Knowledge ที่เราใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบันก็มาจาก Nonaka นั้นเองครับ

ล่าสุดในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนพฤษภาคมนี้ Nonaka ร่วมกับ Hirotaka Takeuchi เขียนบทความใหม่ขึ้นมาเกี่ยวกับการบริหารความรู้ ชื่อว่า The Wise Leader และพยายามขยายองค์ความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับ Knowledge Management ออกไปในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนได้พยายามชี้ให้เห็นว่าถึงแม้องค์กรต่างๆ จะเริ่มมีการบริหารความรู้กันมากขึ้น แต่ผลของการบริหารความรู้นั้นก็ไม่ได้ทำให้คนที่เป็นผู้นำมีความสามารถมากขึ้น หรือ ฉลาดขึ้น (Wise Leadership) ซึ่งทั้งคู่พบว่าปัญหาเกิดขึ้นจากสาเหตุสองประการครับ คือการที่ไม่ได้ใช้ความรู้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และ ไม่ได้สร้างหรือสะสมความรู้ที่ถูกต้องครับ

Nonaka ได้ให้นิยามเกี่ยวกับความรู้ไว้สองประเภทเมื่อนานมาแล้ว นั้นคือความรู้ที่จับต้องได้ สามารถบันทึกได้ หรือที่คุ้นกันในชื่อของ Explicit Knowledge กับความรู้ภายในที่จับต้องและถ่ายทอดลำบาก ซึ่งเรียกว่า Tacit Knowledge ปัญหาของการใช้ความรู้ที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารก็คือผู้บริหารส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นหรือให้ความสำคัญกับเจ้า Explicit Knowledge การให้ความสำคัญกับตัวเลขทางการเงิน ตัวชี้วัดต่างๆ ระบบจูงใจ การตัดสินใจที่เป็นระบบ ล้วนแล้วแต่เป็น Explicit Knowledge ทั้งสิ้น โดยเจ้า Explicit Knowledge นั้นจะมุ่งเน้นในเรื่องของข้อมูลและระบบในการพยากรณ์และตัดสินใจต่างๆ แต่การนำระบบและข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจนั้นจะไม่เหมาะสมถ้าผู้บริหารไม่สามารถนำปัจจัยในเรื่องของบุคคลเข้ามาเชื่อมโยงด้วย

อย่างไรก็ดีภาวะผู้นำในปัจจุบันจะต้องบริหารภายใต้สภาวะที่เปลี่ยนแปลงอยู่คลอดเวลา ซึ่งจะต้องสามารถเชื่อมโยงระหว่างการบริหารกับการมองภาพไปในอนาคต ในช่วงหลัง Nonaka และ Takeuchi จึงได้พยายามเสาะหาความรู้ชนิดใหม่ที่จะเหมาะสมกับการบริหารงานในปัจจุบัน และพบว่าการใช้ Explicit และ Tacit Knowledge เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอแล้วนะครับ ผู้บริหารที่ดีจะต้องใช้ความรู้ประเภทที่สามเข้ามาช่วยครับนั้นคือสิ่งที่ทั้งคู่เรียกว่า Practical Wisdom ซึ่งเจ้า Practical Wisdom นั้น ถือเป็น Tacit Knowledge ชนิดหนึ่งที่ผู้บริหารได้มาจากประสบการณ์ ซึ่งทำให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจและเลือกปฏิบัติได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นไปตามค่านิยมที่ยึดถือ

เมื่อดูไปในรายละเอียดของ Practical Wisdom จะพบว่าเป็นความรู้จากประสบการณ์ที่ทำให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรม ดูเหมือนว่าผู้เขียนทั้งสองคนจะพยายามโยงเรื่องของจริยธรรม เข้ากับเรื่องของ Knowledge Management ให้มากขึ้น และได้ให้ชื่อสำหรับผู้บริหารที่สามารถนำองค์กรด้วย Practical Wisdom ว่าเป็น Phronetic Leaders ครับ และระบุว่าผู้ที่จะเป็น Phronetic Leaders นั้นควรจะประกอบด้วยทักษะหรือความสามารถหกประการด้วยกัน แต่โดยหลักๆ แล้วดูเหมือนว่าเรื่องของ Phronetic Leaders นั้นจะเน้นไปในเรื่องของสังคม เรื่องคุณธรรม เรื่องจริยธรรมมากขึ้นครับ

คุณสมบัติประการแรกก็คือผู้นำที่ดีจะต้องสามารถมองหรือเห็นในสิ่งที่ดี (Wise Leaders can judge goodness) โดยผู้บริหารจะต้องตัดสินใจโดยอยู่ที่ความดีหรือความถูกต้อง ไม่ใช่เพื่อกำไรหรือความได้เปรียบทางการแข่งขัน ผู้นำที่ดีจะต้องสามารถตัดสินใจโดยพิจารณาจากสิ่งที่ถูกต้องหรือดีทั้งสำหรับองค์กรและสังคม

คุณสมบัติประการที่สองคือผู้นำจะต้องสามารถเข้าใจถึงแก่นของเรื่องราวต่างๆ ได้ (Wise Leaders can Grasp the Essence) โดยผู้นำจะต้องสามารถเข้าใจถึงแก่นหรือสาระสำคัญของสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น รวมทั้งต้องสามารถค้นหาความหมายหรือนัยยะของคน สิ่งของ หรือ กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะนั้น

คุณสมบัติประการที่สามคือ Wise Leaders Create Shared Contexts นั้นคือนอกเหนือจากตนเองจะเข้าใจแล้วผู้นำที่ดีจะต้องสามารถสร้างกลไกทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการสำหรับผู้บริหารคนอื่นในการสร้างความหมายและความเข้าใจใหม่ๆ จากสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้น

คุณสมบัติประการที่สี่คือ Wise Leaders Communicate the Essence โดยผู้บริหารที่ดีจะต้องรู้จักในการเปรียบเทียบ เปรียบเปรย การสร้างเรื่องราว เพื่อแปลงสาระของประสบการณ์ที่ตนเองมีสู่ Tacit Knowledge สำหรับบุคคลหรือกลุ่มอื่น

คุณสมบัติประการที่ห้าคือ Wise Leaders Exercise Political Power ซึ่งก็แปลตรงตัวนะครับ โดยผู้นำเหล่านี้จะใช้อำนาจหรือความสามารถในการจัดการเพื่อนำเอาคนหลากหลายกลุ่ม หลากหลายวัตถุประสงค์ (ที่อาจจะขัดแย้งกัน) ให้มาทำงานร่วมกัน

คุณสมบัติประการสุดท้ายคือ Wise Leaders Foster Practical Wisdom in Others โดยผู้นำเหล่านี้จะคอยพัฒนา Practical Wisdom ในบุคคลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรที่ต้องสัมผัสลูกค้าโดยตรง โดยผ่านการสั่งสอนและแนะนำ

ท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องของ KM ก็ลองหาบทความนี้ดูนะครับ อาจจะงงๆ บ้าง แต่สาระสำคัญก็คือเรื่องของการนำสังคม ศีลธรรม จริยธรรม การคิดในสิ่งที่ดีและถูกต้อง เข้ามาผสมผสานกับการบริหารความรู้ครับ