
2 March 2011
สำหรับท่านผู้อ่านหลายท่านแล้ว IKEA ก็เปรียบเสมือนเป็นเพื่อนเก่าที่กำลังจะกลับมาใหม่อีกครั้ง ในขณะที่สำหรับหลายๆ ท่านก็อาจจะมีความสงสัยว่าเจ้า IKEA นั้นคืออะไรกันแน่? IKEA เป็นบริษัทเฟอร์นิเจอร์ข้ามชาติสัญญาสวีเดนที่ปัจจุบันถือว่าเป็นร้านค้าปลีกที่เกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และกำลังจะมาเปิดที่เมืองไทยในช่วงปลายปีนี้ที่ถนนบางนา-ตราด ถ้า IKEA เป็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์ธรรมดาก็คงไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นนะครับ แต่ IKEA นั้นไม่ได้ขายเฟอร์นิเจอร์แบบธรรมดาๆ แต่เป็นลักษณะ DIY หรือ Do-It-Yourself เสียมากกว่า และนอกเหนือจากจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องซื้อไปประกอบเองแล้ว สินค้าของ IKEA (นอกจากเฟอร์นิเจอร์ก็ยังมีพวกของใช้ต่างๆ ภายในบ้านด้วยนะครับ) ยังเน้นเรื่องของการออกแบบที่ทั้งสวยและเก๋อีกด้วย
อย่างไรก็ดีบทความประจำสัปดาห์นี้คงไม่ได้เน้นโฆษณา IKEA นะครับ แต่พอดีไปอ่านเจอบทความหนึ่งใน The Economist เมื่อฉบับวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา ในชื่อ The secret of IKEA’s success ซึ่งเขียนถึงเบื้องหลังความสำเร็จของห้างค้าปลีกระดับโลกนี้เลยอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังถึงแนวคิดในารทำธุรกิจของ IKEA
เมื่อถามลูกค้าส่วนใหญ่ของ IKEA ว่าอะไรคือสาเหตุหลักของการมาซื้อสินค้าที่ IKEA คำตอบส่วนใหญ่นั้นน่าจะมาจากเรื่องของผลิตภัณฑ์ของ IKEA ที่ออกแบบมาได้อย่างสวยงามและราคาที่ถูกมากๆ ซึ่ง Mikael Ohisson ซึ่งเป็น CEO ของ IKEA Group ประกาศไว้เลยครับว่าที่ IKEA นั้นสิ่งที่พวกเขาเกลียดกันก็คือเรื่องของความสูญเสีย หรือ Waste พวกเขาพยายามออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในด้านของบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง การจัดวาง ให้เกิดความสูญเสียและสามารถประหยัดได้มากที่สุด เช่น การออกแบบแนวทางในการบรรจุโซฟารุ่นยอดนิยม ด้วยวิธีการที่ใหม่ทำให้สามารถประหยัดทั้งในเรื่องของที่จัดวางและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
พูดกันว่าเรื่องของความประหยัด มัธยัสถ์นั้นเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่สำคัญของ IKEA เลยครับ โดยต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยก่อนตั้งบริษัทในปี 1943 ที่ Smaland ทางตอนใต้ของสวีเดน ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณหนึ่งที่ค่อนข้างยากจนและคนที่อยู่อาศัยก็เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการประหยัดและดำรงชีวิตอยู่โดยที่มีรายได้ไม่มาก (IKEA ก่อตั้งโดย Ingvar Kamprad ซึ่งนำตัวอักษรสองตัวแรกจากชื่อเขาและอีกสองตัวหลังจากเมืองที่เขาเติบโตมาตั้งเป็น IKEA) โดยตอนเริ่มก่อตั้งนั้น Kamprad มีความคิดที่อยากจะให้คนที่มีเงินไม่เยอะ สามารถตกแต่งบ้านของตนเองให้ออกมาสวยงามได้เหมือนกับพวกคนรวยทั้งหลาย
ผลประกอบการของ IKEA นั้นถือว่าดีมากครับ เมื่อปีที่ผ่านมาทั้งเครือมียอดขายโตขึ้น 7.7% และมีกำไรเพิ่มขึ้น 6.1% โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ แล้ว ต้องเรียกว่าผลประกอบการของ IKEA ทิ้งห่างจากคู่แข่งขันในอุตสาหกรรมเดียวกันค่อนข้างมาก อาจจะกล่าวได้ว่าแบรนด์ที่แข็งแกร่งและราคาที่ค่อนข้างต่ำของ IKEA ทำให้สามารถยืนระยะได้ดีกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่หลายๆ ประเทศในยุโรปและอเมริกาประสบกับภาวะเศรษฐกิจขาลง แต่ IKEA ก็ยังสามารถขายและขยายการเติบโตได้อยู่ โดยเฉพาะในประเทศที่เน้นประสิทธิภาพอย่างเช่นเยอรมันที่ยอดขายกว่าร้อยละ 15 ของ IKEA มาจากเยอรมัน จนกระทั่งปัจจุบัน IKEA กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของเยอรมันไปเสียแล้ว
เบื้องหลังความสำเร็จของ IKEA นั้นส่วนหนึ่งมาจากรูปแบบการบริหารของเขาครับ ที่ยังคงความเป็นบริษัทส่วนตัว (ไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือกระจายหุ้นออกไปแต่อย่างใด) รูปแบบการบริหารของ IKEA นั้นจะค่อนข้างปิดทุกอย่างที่สามารถปิดได้ และกล่าวกันว่ายังเป็นองค์กรที่มีระบบและลำดับขั้นในการบริหารที่ค่อนข้างเป็นลำดับขั้นและมีขั้นตอนอยู่ โดยบอร์ดบริหารสูงสุดทั้งหกคนของ IKEA ยังคงเป็นชาวสวีเดน และมี Kamprad เป็นที่ปรึกษาอาวุโส
ที่น่าสนใจคือโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ IKEA ก็สะท้อนในหลายๆ สิ่งครับ โดยมี Ingka Holding (บริษัทจดทะเบียนในประเทศเดนมาร์ก) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ IKEA Group และในขณะเดียวกัน Ingka Holding ก็ถูกถือหุ้นโดย Stichting Ingka Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิที่จดทะเบียนในเดนมาร์ก (ไม่ต้องเสียภาษา) และมี Kamprad เป็นประธานมูลนิธิ นอกจากตัวร้านแล้ว ตัวตราสินค้าและแนวคิด (trademark and concept) ก็มี Inter IKEA Systems เป็นเจ้าของ (บริษัทจดทะเบียนในเดนมาร์กแเช่นเดียวกัน) และมี Inter IKEA Holding (บริษัทจดทะเบียนในลักแซมเบอร์ก เป็นเจ้าของ)
จริงๆ โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ IKEA ยังมีอะไรที่ซับซ้อนและวุ่นวายกว่านี้นะครับ แต่โดยสรุปก็คือ IKEA เป็นบริษัทที่ค่อนข้างจะเก็บตัวเรื่องของโครงสร้างการบริหารและการถือหุ้น โดยซีอีโอของเขาระบุว่าการที่เป็นบริษัทส่วนตัวนั้นมีข้อดีคือไม่ต้องทำยอดขายหรือทำเป้าให้ถึงจุดที่ต้องการตามความต้องการของผู้ถือหุ้น และสามารถให้ความสนใจกับการเติบโตในระยะยาวได้ แทนที่จะมานั่งทำเป้าตัวเลขให้ได้ตามความคาดหวังของผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ก็ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการบริหารและถือครองหุ้นในบริษัทที่น่าสนใจนะครับ