9 February 2011

แนวโน้มหนึ่งที่สำคัญสำหรับการเรียนการสอนทางด้านธุรกิจในปัจจุบันคือการปรับเปลี่ยนในบริบทและรูปแบบการเรียนการสอน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา (โดยเฉพาะที่อเมริกา) บรรดาผู้ที่จบมาทางดา้นบริหารธุรกิจ (โดยเฉพาะ MBA) ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากถึงความเป็นต้นเหตุของวิกฤตทางด้านการเงินครั้งล่าสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่สถาบันทางด้านการศึกษาบริหารธุรกิจทั้งหลายต่างมุ่งเน้นในการสอนให้ทำธุรกิจเพื่อหวังผลกำไรหรือผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น ดังนั้นในช่วงหลังเราจะพบครับว่าเริ่มมีการปรับเปลี่ยนในทั้งหลักสูตรและรูปแบบวิธีการเรียนการสอนของโรงเรียน MBA ชื่อดังของอเมริกาที่หันมาให้ความสนใจกับเรื่องของสังคม จริยธรรมมากข้ึน อย่างเช่นที่ Harvard Business School เองก็มีข่าวล่าสุดว่าจะลดการใช้กรณีศึกษาในการเรียนการสอน และพยายามเพิ่มเรื่องของจริยธรรมและภาวะผู้นำเข้าไปในหลักสูตรมากขึ้น

            สำหรับหลักสูตร MBA ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ นั้น ผมเองก็ได้ให้นิสิตได้มีโครงการในลักษณะของการคิดและการทำเพื่อสังคมและชุมชนมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 ปีแล้ว โดยในสองปีแรกได้ร่วมกับจังหวัดน่านในการพานิสิตเข้าไปช่วยคิดและพัฒนาธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ชุมชนของจังหวัด รวมถึงแผนการท่องเที่ยวของจังหวัด ส่วนสองปีล่าสุดนั้นได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) ในการเข้าไปช่วยชุมชนต่างๆ ทั่วไปประเทศในการพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่มาจากฐานชีวภาพในชุมชนท้องถิ่น

            ในปีที่ผ่านมากิจกรรมที่เพิ่งร่วมกับทางสพภ.ก็เพิ่งดำเนินการเสร็จสิ้น โดยในปีนี้นิสิต MBA จำนวนเก้ากลุ่มได้ลงสู่พื้นที่ของชุมชนต่างๆ ทั่วไปประเทศ ทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ สกลนคร อำนาจเจริญ ตราด สมุทรปราการ ฯลฯ โดยร่วมกับทางสพภ. และทางชุมชนในการช่วยชุมชนพัฒนาแผนธุรกิจชุมชนในด้านต่างๆ โดยการคัดเลือกชุมชนต่างๆ นั้นก็มาจากทางสพภ. ได้ร่วมคัดเลือกชุมชนที่ทางสำนักงานฯ ได้เข้าไปช่วยส่งเสริม อีกทั้งเป็นชุมชนที่มีศักยภาพและต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งโจทย์ความต้องการของชุมชนแต่ละแห่งก็แตกต่างกันออกไปครับ

            บางชุมชนนั้นต้องการให้ช่วยให้พัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ บางชุมชนต้องการความช่วยเหลือทางด้านการตลาดและตราสินค้า บางชุมชนต้องการความช่วยเหลือในเรื่องของช่องทางการจัดจำหน่าย เป็นต้น โดยนิสิตแต่ละกลุ่มก็จะมีโจทย์ที่แตกต่างกันออกไป และก่อนที่จะลงพื้นที่นั้นก็จะต้องหาข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและผลิตภัณฑ์ที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต และการไปสัมภาษณ์ต่อผู้เกี่ยวข้องต่างๆ

            ประสบการณ์ที่สำคัญประการหนึ่งที่นิสิตได้รับจากโครงการในปีนี้ก็คือหลายกลุ่มก่อนที่จะลงพื้นที่จริงนั้น ในช่วงของการหาข้อมูลก็จะคิดแผนธุรกิจ หรือ แผนการตลาดออกมาในลักษณะที่บรรเจิด เลิศ อลังการณ์ ตามลักษณะของผู้ที่เรียน MBA ทั่วไป แต่เมื่อลงสู่พื้นที่ชุมชนและได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนต่างๆ แล้ว ความคิดที่หรูเริด อลังการณ์ในตอนแรกนั้นได้หดลดลงเหลือแต่การต่อยอดผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่มีอยู่เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการของชุมชนนั้นมักจะเป็นไปในลักษณะของความพอเพียง โดยผลิตภัณฑ์หลายๆ ตัวก็ทำเป็นงานอดิเรกหรือเป็นอาชีพเสริมจากอาชีพปกติ (ปลูกข้าว ทำไร่) อีกทั้งผลิตภัณฑ์ชุมชนหลายๆ ตัวก็ทำมาในจำนวนที่ไม่มาก (เนื่องจากความเป็นงานอดิเรกหรืออาชีพเสริม) ทำให้ของที่ผลิตออกมาในปัจจุบันไม่พอขาย อีกทั้งชุมชนต่างๆ ก็ไม่ได้มีความต้องการที่มากมายประการใด ต้องการเพียงให้ของที่ผลิตออกมานั้นสามารถขายได้เป็นพอ

            พอเจอความต้องการของชุมชนที่เน้นความพอเพียงนั้นก็ทำให้นิสิตหลายๆ กลุ่มที่ลงพื้นที่ไปต้องปรับกลยุทธ์แทบไม่ทันเลยครับ แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่งก็คือถือเป็นประสบการณ์ที่สำคัญที่ทำให้นิสิตเห็นว่าการคิดในเชิงธุรกิจจากห้องเรียน MBA นั้นอาจจะเหมาะสมกับสภาพขององค์กรและธุรกิจในลักษณะหนึ่ง แต่เมื่อนำความรู้จากห้องเรียนไปสัมผัสถึงความต้องการของชุมชนและชาวบ้านท้องถิ่นของไทยแล้ว วิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ต่างๆ ที่ได้เรียนมาจากห้องเรียนนั้นก็คงต้องปรับให้เข้ากับความต้องการที่พอเพียงของชุมชน แต่ในขณะเดียวกันถ้ามองในอีกมุมหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านและชุมชนส่วนใหญ่ของไทยนั้นมีลักษณะที่ไม่ได้มีความต้องการที่มากมาย เพียงแค่มีกิน มีใช้ ของขายได้ก็พอเพียงแล้ว ซึ่งก็อาจจะทำให้เกิดความคิดต่อไปได้นะครับว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยนั้นคงจะต้องอยู่บนฐานของความพอเพียงเป็นหลัก

            อย่างไรก็ดีนิสิตเองก็สามารถปรับสิ่งที่คิดเข้ากับความต้องการของแต่ละชุมชนกันได้ดีครับ เนื่องจากเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นิสิตแต่ละกลุ่มก็ได้มีการนำเสนอแผนธุรกิจผลิตภัณฑ์ชุมชนต่อทั้งผู้บริหารของสพภ. ผู้แทนชุมชน สื่อมวลชน ซึ่งผลตอบรับที่ได้ออกมาดีครับ บางชุมชนก็ขอแผนดังกล่าวเพื่อกลับไปจัดทำต่อ และเมื่อสอบถามผลตอบรับจากผู้แทนชุมชนแล้ว ส่วนใหญ่ก็มีความเห็นว่าสิ่งที่นิสิตได้เข้าไปช่วยนั้น ทำให้ทางชุมชนได้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ที่จะสามารถกลับไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองต่อไปได้

            สุดท้ายนี้ผมมองว่าทั้งนิสิตก็ได้ประสบการณ์และการนำสิ่งที่เรียนไปปรับใช้ในสังคมบ้านเรา ในขณะที่ทางชุมชนเองก็ได้รับประโยชน์ทั้งในด้านวิชาการและแนวคิดใหม่ๆ น่าจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเรียนการสอนที่เหมาะต่อบริบทของปัจจุบันนะครับ