
7 April 2011
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่ Google ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา นั้นก็คือการเปลี่นตัวผู้บริหารสูงสุดจากมืออาชีพอย่าง Eric Schmidt มาสู่ผู้ก่อตั้งกิจการอย่าง Larry Page ซึ่งก็คงจะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ยักษ์ใหญ่อย่าง Google กันพอสมควรครับ สัปดาห์นี้เรามาวิเคราะห์กันต่อนะครับว่าการเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดของ Page นั้น จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อ Google อย่างไรบ้าง
Page เองมีงานท้าทายที่สำคัญอยู่และเป็นความท้าทายที่แตกต่างจากบรรดาเจ้าของกิจการที่กลับเข้ามาเป็น CEO อย่าง Jobs, Dell, Schultz นะครับ เนื่องจากบรรดา CEO ท่านอื่นๆ นั้น พวกเขาเข้ามาเพื่อพลิกฟื้นกิจการที่เคยรุ่งเรือง และตกต่ำให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง (ซึ่งถ้าพิจารณาจากผลการทำงานแล้วต้องถือว่าสามารถทำได้สำเร็จทุกราย) แต่กรณีของ Page นั้น เขาเข้ามาสืบทอดกิจการที่ประสบความสำเร็จเป็นอันดับหนึ่งของโลก ที่ถึงแม้จะมีความท้าทายต่างๆ เข้ามามากขึ้น (ดังที่ได้วิเคราะห์ไปในตอนที่แล้ว) แต่ยังไงก็ตาม Google ก็ยังคงเป็นอันดับหนึ่งของโลกในเรื่องของ Search Engines อยู่ดี ดังนั้นถ้าเปรียบเสมือนกับกีฬาแล้ว ความท้าทายของ Page ก็คือ การรักษาแชมป์ไว้ย่อมยากกว่าการที่จะได้แชมป์
Page เองจะเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัวและไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเท่าไรนะครับ แต่บรรดาผู้ที่เคยใกล้ชิดหรือผู้ที่ติดตาม Google มานานก็พอจะเดาถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นที่ Google ได้หลังจากที่ Page เข้ารับตำแหน่ง โดยเริ่มจากลักษณะและรูปแบบของการตัดสินใจ ซึ่งในอดีตนั้น Google นิยมรูปแบบของ Bottom-Up นั้นคือเขาจะจ้างบรรดาคนเก่งต่างๆ มาทำงาน และปล่อยให้คนเก่งเหล่านั้นได้มีเวลาในการคิด ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนของการปล่อยให้คนเก่งคิดจากเบื้องล่างก็คือ Gmail ที่เกิดขึ้นจากความคิดของวิศวกรคนหนึ่งของ Google โดยอดีตพนักงานคนหนึ่งของ Google มองว่าระบบในการคิดจากเบื้องล่างขึ้นมาข้างบนนั้น เหมาะสมในสถานการณ์ที่บริษัทยังไม่ใหญ่มากนัก แต่เมื่อบริษัทเริ่มมีพนักงานมากขึ้นและเกิน 10,000 คน (ปัจุบัน Google มีพนักงาน 24,000 และมีแผนจะจ้างอีก 6,000 คนในปีนี้) ระบบการคิดในเชิง Bottom-up ก็อาจจะไม่เหมาะสมอีกต่อไป
เท่าที่ดูจากพฤติกรรมที่ผ่านมาของ Page แล้ว การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของเขาจะเป็นลักษณะของ Top-down มากกว่า โดยแทนที่จะรอให้พนักงานพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือแนวคิดใหม่ๆ แล้วมานำเสนอเพียงอย่างเดียว เขากลับไปเสาะแสวงหาผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพและโอกาสในการประสบความสำเร็จ และไปซื้อบริษัทดังกล่าวเข้ามาให้อยู่ในร่มเงาของ Google เสียมากกว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Android ที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปเจรจาซื้อของ Page และ Brin สองผู้ก่อตั้ง Google ซึ่ง CEO ในขณะนั้นอย่าง Schmidt ยังพูดทีเล่นทีจริงด้วยซ้ำไปว่าเขาเองรู้ว่า Google เข้าไปซื้อ Android ภายหลังจากที่มีการซื้อขายเกิดข้ึนแล้ว
Google เข้าไปซื้อบริษัทที่คิดค้นระบบปฏิบัติการ Android ตั้งแต่ปี 2005 ในช่วงที่ Android เพิ่งถือกำเนิดและมีพนักงานอยู่เพียงแค่แปดคน และจากตัว Page เองที่เห็นความสำคัญของการเติบโตในระบบปฏิบัติการสำหรับ Mobile Computing ที่หลังจากซื้อ Android มาแล้ว ก็ให้อิสระแก่อดีตเจ้าของ Android ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริหารหน่วยธุรกิจของตนเอง จนทำให้ Android เป็นระบบปฏิบัติการที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลกในปัจจุบัน และท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่า Android นั้นเป็นระบบปฏิบัติการที่แจกฟรี ซึ่ง Google เองก็ไม่ได้หวังที่จะได้เงินจากการใช้ Android แต่สิ่งที่ Google ต้องการก็คือ ต้องการให้โทรศัพท์และ Tablet ต่างๆ ใช้โปรแกรมและเครื่องมือของ Google เพื่อที่ Google จะสามารถขายโฆษณาได้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าในปีหน้าจะมีผู้ใช้ Android อยู่ 130 ล้านคนทั่วโลก และทำรายได้จากการขายโฆษณาให้กับ Google ได้ถึงหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ
ท่านผู้อ่านอาจจะจำได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ผมก็เขียนเรื่องกลยุทธ์ของ Apple และกลยุทธ์หนึ่งที่ Apple ใช้คือการสร้างระบบนิเวศน์หรือ Ecosystem ที่ออกผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงและผสมผสานกันในลักษณะของระบบนิเวศน์ที่มีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ในกรณีของ Google นั้นเขาก็เป็นระบบนิเวศน์เช่นเดียวกันครับ Page เองพยายามที่จะสร้าง Ecosystem ของ Google ขึ้นมา ตั้งแต่ระบบปฏิบัติการบนมือถือ Web Browser Youtube ฯลฯ เพียงแต่ความแตกต่างระหว่างระบบนิเวศน์ของ Apple กับ Google นั้นก็คือ ของ Apple นั้นส่วนใหญ่จะต้องเสียเงิน แต่ของ Google นั้นผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะไม่เสียเงิน แต่ Google จะมีรายได้มาจากค่าโฆษณาแทน (สำหรับ Apple นั้นมีรายได้มาจากการขายสินค้าและโปรแกรมเป็นหลัก) ก็ต้องคอยดูต่อไปนะครับว่าในระยะยาวแล้วระบบนิเวศน์ของ Apple หรือ Google ที่จะประสบความสำเร็จมากกว่ากัน