
5 January 2011
ในปีที่ผ่านมาแนวโน้มทางด้านการบริหารอย่างหนึ่งที่น่าสนใจท้ังในประเทศและต่างประเทศคือเรื่องของ CSR (Corporate Social Responsibility) ที่เป็นการแสดงต่อความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรต่างๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้นะครับว่าในรอบปีที่ผ่านมาคำว่า CSR กลายเป็นกิจกรรมสำคัญที่องค์กรต่างๆ มุ่งเน้นกันตลอดปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งในระบบการศึกษาก็เริ่มมีแนวคิดที่จะให้ผู้เรียนในระดับต่างๆ มีจิตสาธารณะกันมากขึ้น โดยเริ่มมีการกำหนดให้กิจกรรมจิตสาธารณะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการจบการศึกษา
ทางนิตยสาร Fast Company ได้มีการย้อนกลับไปดูในปี 2553 ที่ผ่านมาถึงแนวโน้มที่สำคัญในด้านของ CSR ซึ่งผู้เขียนบทความดังกล่าว (Alice Korngold) ได้พยายามที่จะจับกระแสต่างๆ เกี่ยวกับ CSR ในรอบปีที่ผ่านมาและพบว่ามีสี่กระแสหลักๆ ที่ชัดเจนและน่าสนใจเกี่ยวกับ CSR ในปีที่แล้วครับ
กระแสแรกนั้นเป็นเรื่องของบทบาทของผู้นำ ที่ปัจจุบันเรื่องของ CSR ไม่ได้เป็นเรื่องของฝ่ายสื่อสารองค์กรหรือประชาสัมพันธ์เพื่อการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคมเท่านั้น แต่ในปีที่ผ่านมา CSR ได้กลายเป็นเรื่องของผู้นำหรือแม้กระทั่งกรรมการบริษัทที่ได้เข้ามาสนใจในสิ่งเหล่านี้มากข้ึน ผู้นำของบริษัทต่างๆ ได้ให้ความสำคัญและความทุ่มเทของเรื่องของ CSR มากขึ้น โดยถ้าเป็นบริษัทระดับโลกแล้วเขาจะไม่ได้มองเพียงแค่การปลูกป่าหรือสร้างห้องน้ำเท่านั้น แต่จะมองว่าบริษัทของเขาจะสามารถมีส่วนร่วมที่จะทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นได้อย่างไร เทคโนโลยี ความรู้ ความสามารถต่างๆ ที่บริษัทมีอยู่จะสามารถถูกนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาที่โลกเผชิญหรือทำให้โลกน่าอยู่ได้อย่างไร
อย่างเช่นกรณีของยักษ์ใหญ่อย่าง Pepsi นั้นเขาประกาศออกมาอย่างชัดเจนถึงเรื่องของ Performance with Purpose เลยครับ นั้นคือบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นทั้งในด้านของอนาคตของคนและของโลก นั้นคือทางบริษัทประกาศออกมาเป็นสัญญาไว้อย่างชัดเจนทั้งผลการดำเนินงานทางด้านการเงินที่ดีที่จะให้ตอบแทนแก่นักลงทุน ในขณะเดียวกันก็เน้นในเรื่องของ Human Sustainability ที่ทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น ด้วยอาหารและเครื่องดื่มที่ดี Environmental Sustainability ที่จะดูแลรักษาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมของโลก โดยอาศัยนวัตกรรมต่างๆ และการใช้ประโยชน์จากพื้นดิน พลังงาน น้ำ และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และสุดท้ายคือ Talent Sustainability ที่ให้ความสำคัญต่อบุคลากรของบริษัทในการพัฒนา ทักษะ ความรู้ ความสามารถ รวมทั้งการทำให้มีงานทำมากขึ้น สำหรับชุมชนที่เข้าไปดำเนินงาน
Walmart ก็เป็นอีกบริษัทชั้นนำระดับโลกอีกบริษัทที่ยกระดับเรื่องของ CSR เป็นประเด็นหรือกลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัท ซึ่งทาง Walmart ก็ได้เล่นเรื่องนี้มาต่อเนื่องหลายปี เขาจะมีการจัดทำ Walmart Global Sustainability Report ซึ่งรายงานถึงการดำเนินงานในด้าน CSR ต่างๆ ของบริษัท รวมทั้งมีการทำ 2010 Progress Update เพื่อที่ผู้ที่สนใจทั่วไปจะสามารถเปิดเข้ามาดูได้ถึงความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ของบริษัท โดยทาง Walmart นั้นมุ่งเน้นในสามด้านที่สำคัญครับคือด้านพลังงาน โดยมีเป้าหมายที่การดำเนินงานทั้งหมดของ Walmart จะต้องมีแหล่งพลังงานมาจาก Renewable Energy ด้านของเสียหรือ Waste ที่บริษัทประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าจะเป็น Zero Waste หรือการไม่มีของเสียเกิดขึ้นเลย หรือในแง่ของสินค้าที่ขาย โดยบริษัทจะผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นต่อการสร้างความยั่งยืนให้กับคนและสิ่งแวดล้อม
แนวโน้มด้าน CSR ประการที่สองคือการที่ผู้บริโภคเองเริ่มให้ความสนใจและใส่ใจต่อบริษัทที่คำนึงถึง CSR โดยเฉพาะผู้บริโภคในอเมริกันนั้นที่ปัจจุบันเวลาเขาจะเลือกซื้อหรือใช้สินค้าหรือบริการใดก็ตาม สิ่งที่เขาจะดูและให้ความสนใจด้วยก็คือบริษัทดังกล่าวได้ให้ความตื่นตัวและความสำคัญต่อการดูแลรักษาโลกหรือไม่
สำหรับแนวโน้มประการที่สามเป็นเรื่องของการวัดผลหรือ Measurement ครับ เนื่องจากกระแสความตื่นตัวในเรื่องของ CSR ก็ได้ทำให้เกิดคำถามว่าที่ทำ CSR กันโครมๆ นั้นได้ก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อสังคมและโลกใบนี้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่กิจกรรมประชาสัมพันธ์เพื่อถ่ายรูปลงหนังสือพิมพ์เท่านั้นเอง ดังนั้นหลายๆ บริษัทจึงเริ่มที่จะสร้างตัววัดบางอย่างขึ้นมา เพื่อสะท้อนภาพและประกาศให้ทุกคนได้ทราบกันอย่างชัดเจนเลยครับว่าการทำกิจกรรม CSR นั้นได้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงอย่างไรบ้าง
แนวโน้มประการสุดท้ายคือเรื่องของความน่าเชื่อถือของข้อมูล ข่าวสารต่าๆ เนื่องจากกระแสของสื่อและสังคมในปัจจุบัน ทำให้หลายๆ บริษัทที่ไม่ได้พูดหรือเขียนความจริงจะเริ่มมีปัญหาที่ไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ ดังนั้นเพียงแค่การทำ CSR เพียงอย่างเดียวจึงไม่พอนะครับ แต่การกระทำและการแสดงออกต่างๆ ของบริษัทจะต้องเปิดเผย โปร่งใส่ และเชื่อถือได้ครับ
ดูเหมือนว่าแนวโน้มทางด้าน CSR ในต่างประเทศนั้นจะไม่ได้หยุดเพียงแค่การได้ทำกิจกรรมเท่านั้นนะครับ แต่จะเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือและการวัดว่าประโยชน์ที่โลกได้รับเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งพอดูแนวโน้มต่างประเทศแล้วก็น่าจะทำให้พอเห็นแนวโน้มของไทยนะครับ ปัจจุบันเราอาจจะเน้นเรื่องของกิจกรรมกันมาก เชื่อว่าในไม่ใช้ไม่นานคงจะเปลี่ยนไปดูในเรื่องของคุณค่าหรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นของการทำ CSR อย่างแท้จริงครับ