
8 December 2010
เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กแล้วนะครับว่าให้เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต ทั้งในเรื่องส่วนตัวและการบริหารจัดการ ในยุคสมัยที่เรื่องของนวัตกรรมกำลังเฟื่องฟูเช่นในปัจจุบันเราก็สามารถที่จะเรียนรู้ประสบการณ์และแนวทางในการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมได้จากอดีตเช่นเดียวกัน เพียงแต่่ว่าจะเป็นอดีตยุคไหน? ท่านผู้อ่านลองย้อนทบทวนกลับไปในประวัติศาสตร์แล้วช่วยกันคิดดูนะครับว่าในยุคสมัยไหนที่เรื่องของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเฟื่องฟูมากๆ หลายท่านอาจจะคิดถึงช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ หรือ บางท่านอาจจะไปไม่ไกลแล้วย้อนนึกถึงช่วง dot.com บูมเมื่อไม่นานมานี้ แต่มีบทความที่เขียนลงใน McKinsey Quarterly โดย Ferrari และ Goethals ในชื่อ Using Rivalry to Spur Innovation ที่ผู้เขียนแนะนำให้เราย้อนไปศึกษาเรื่องของนวัตกรรมจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา หรือ ที่เรารู้จักกันดีเป็นภาษาอังกฤษว่ายุค Renaissance
ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยานั้นมีการสร้างสรรค์ผลงานในเชิงศิลปะและวิทยาศาสตร์ไว้อย่างมากมายครับ ถือเป็นอีกหนึ่งยุคทองของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องของศิลปะเพียงอย่างเดียวแต่ยังครอบคลุมทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพิมพ์ เวลาพูดถึง Renaissance ท่านผู้อ่านคงมักจะนึกถึงแต่ศิลปินชื่อดังอย่าง Leonardo da Vinci หรือ Michelangelo หรือ Raphael หรือ Donatello และศิลปินของอิตาลีอื่นๆ อีกมากมาย ถึงแม้ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาจะมีจุดเริ่มต้นจากอิตาลี แต่ดูเหมือนว่ากระแสและความตื่นตัวในเรื่องของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จะกระจายไปทั่วยุโรปและกระจายสู่วงการอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ศิลปะอย่างเดียว ตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์สำคัญสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ได้แก่ Nicolaus Copernicus หรือ Galileo (คนนี้ค่อนมาทางปลายยุคแล้วครับ) หรือ Sir Issac Newton เป็นต้น
เนื้อหาในสัปดาห์นี้คงไม่ได้มาเล่าให้ฟังถึงยุคสมัยของการฟื้นฟูศิลปวิทยานะครับ แต่อยากจะลองศึกษาเปรียบเทียบดูว่าในยุคดังกล่าวสภาพแวดล้อมและลักษณะการทำงานเป็นอย่างไร ถึงได้มีผลงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย
ปัจจัยหนึ่งก็คือการที่บรรดานักคิด นักสร้างสรรค์ต่างๆ เหล่านั้นได้มาอยู่ร่วมกันในสถานที่หนึ่ง มีโอกาสพบปะ พูดคุย เจอกัน ทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนความรู้กัน หรือแม้กระทั่งแข่งขันกัน โดยในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยานั้น แหล่งรวมศิลปินใหม่ๆ ในอิตาลีก็หนีไม่พ้น โรม ฟลอเรนซ์ และเวนีซ ซึ่งบรรดาศิลปินชื่อดังในแขนงต่างๆ จะไปรวมตัวกันเพื่อประมูลงานจากทั้งศาสนจักรและเจ้าขุนมูลนายต่างๆ ทำให้เกิดโอกาสที่จะมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกันและใช้ประโยชน์จากความแตกต่างและความหลากหลายระหว่างกันได้
ปัจจัยสำคัญประการที่สองคือการให้อิสระแก่ศิลปินเหล่านั้นในการสร้างสรรค์งาน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการวาดภาพบนผนังด้านในของวิหาร Sistine ในวาติกันที่เมื่อ Pope Julius II ได้มอบหมายให้ Michelangelo รับงานนี้ไป ในตอนแรกนั้นทางโป๊ปอยากจะให้วาดรูปอัครสาวก แต่ตอนหลัง Michelangelo ได้ต่อรอง และขออิสระในการวาด ซึ่งผลงานที่ออกมาก็ยิ่งใหญ่กว่าที่โป๊ปคิดไว้ตอนแรก แสดงให้เห็นว่าการให้สิทธิ์และอิสระต่อศิลปินในการสร้างสรรค์งานในลักษณะที่ต้องการย่อมนำไปสู่การสร้างสรรค์ที่สำคัญได้
ปัจจัยประการที่สามและถือว่าสำคัญสุดที่ทำให้ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยามีงานสร้างสรรค์ต่างๆ อย่างมากมายนั้นก็คือการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันระหว่างศิลปินครับ ในยุคดังกล่าวศิลปินก็ต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเอง ในขณะเดียวกันผู้ที่ีมีเงินและมีอิทธิพลทั้งหลายก็ต้องการที่จะมีผลงานใหม่ๆ ไว้ประดับ ดังนั้นผู้มีเงินก็จะมีการว่าจ้างให้ศิลปินสร้างสรรค์งานต่างๆ ทั้งภาพวาด รูปปั้น รูปสลัก รูปหล่อ ฯลฯ แต่การว่าจ้างในสมัยก่อนนั้นไม่ได้มีการเจาะจงว่าจะจ้างใคร แต่จะเปิดโอกาสให้ศิลปินได้มีการแข่งขันกันครับ อย่างไรก็ดีการแข่งขันในสมัยก่อนนั้นมีลักษณะที่น่าสนใจ แทนที่จะแข่งประมูลหรือแข่งในลักษณะที่คนหนึ่งแพ้คนหนึ่งชนะ แต่จะเป็นการให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานในชิ้นเดียวกัน จากนั้นนำผลงานดังกล่าวมาวางคู่กันหรือเปรียบเทียบกัน แล้วเลือกผลงานที่ต้องการ ดังนั้นการแข่งขันในลักษณะนี้จึงก่อให้เกิดผลงานต่างๆ ออกมาอย่างมากมาย
นอกจากนี้การแข่งขันในยุคนี้ยังเปิดโอกาสให้มีการเปรียบเทียบกันอย่างชัดเจนครับ และเมื่อมีการเปรียบเทียบกันแล้ว ศิลปินแต่ละคนก็ต่างๆ พยายามที่จะสร้างสรรค์งานของตนเองให้ออกมาดีที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่แพ้ศิลปินคนอื่น ตัวอย่างเช่นเมื่อ Raphael ได้รับมอบหมายจาก Pope Leo X ที่จะวาดภาพ เพื่อประดับบนผนังในโบสถ์ Sistine ซึ่งอยู่ด้านหลังภาพของ Michelangelo ทำให้ Raphael ซึ่งในขณะนั้นยังหนุ่มอยู่ต้องคิดและพยายามอย่างสุดฝีมือ และผลที่เกิดขึ้นคืองานสร้างสรรค์ชิ้นเยี่ยมอีกชิ้นหนึ่ง
ท่านผู้อ่านที่สนใจทั้งเรื่องของนวัตกรรม ประวัติศาสตร์ และศิลปะ ลองศึกษาประวัติศาสตร์ยุค Renaissance ดูนะครับ ผมว่าเราสามารถที่จะเรียนรู้อะไรได้หลายๆ อย่างจากยุคดังกล่าว แล้วเราคงต้องนำกลับมาปรับใช้ในยุคเรานะครับ เนื่องจากไม่ใช่ว่าจะสามารถยกประวัติศาสตร์มาได้ทั้งหมด