30 November 2010

คำถามหนึ่งที่ผมได้รับค่อนข้างบ่อยในปัจจุบันก็คือจะทำอย่างไรถึงสามารถคิดในสิ่งใหม่ๆ ให้ออกมาได้ หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือในปัจจุบันมีการพูดและเขียนถึงเรื่องของนวัตกรรมกันเยอะมาก แต่ปัญหาสำคัญคือมักจะไม่ได้มีการบอกทำอย่างไรถึงจะสามารถคิดออกมาเพื่อให้ได้นวัตกรรมใหม่ๆ ปัจจุบันเริ่มมีหนังสืออกมามากมายถึงแนวทางหรือวิธีการในการคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ผมมองว่าก่อนที่จะไปถึงวิธีการหรือรูปแบบในการคิดเหล่านั้นจะต้องเข้าใจในหลักการพื้นฐานที่สำคัญสองประการก่อนนะครับ

            หลักประการแรกเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เป็นสิ่งที่เรามักจะมองข้ามนั้นคือ การที่จะคิดให้ได้มาซึ่งสิ่งใหม่ๆ นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสินค้าหรือบริการใหม่เสมอไปนะครับ เพียงแค่วิธีการในการคิด การทำงานในรูปแบบใหม่ๆ ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ แล้ว นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของเทคโนโลยีหรือสินค้า บริการเท่านั้น แค่การแก้ไขปัญหาเดิมๆ ด้วยวิธีการใหม่ๆ ก็ถือเป็นนวัตกรรมแล้วเช่นเดียวกันครับ ผมพบเจอหลายองค์กรที่มักจะไปยึดติดว่านวัตกรรมจะต้องเป็นสินค้า บริการ หรือ เทคโนโลยี ทำให้คนในองค์กรละเลยต่อการยกระดับ การพัฒนาหรือปรับปรุงในด้านต่างๆ ที่ยังสามารถทำได้อีกมากมาย

            หลักประการที่สองซึ่งสำคัญมากก็คือการที่จะเราจะคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งใหม่ๆ นั้น ถ้าจะให้ดีที่สุดก็คือจะต้องลืมกรอบหรือรูปแบบในการคิดแบบเดิมๆ ที่ติดตัวเรามา เหมือนกับที่บรรดาหนังสือนวนิยายกำลังภายในชอบเขียนไว้ครับว่าพลังฝีมือขั้นสูงสุดคือจะต้องลืมกระบวนท่าต่างๆ ที่เรียนมาให้หมดเสียก่อน หรือ ไร้กระบวนท่าคือกระบวนท่า ทุกสิ่งตามใจปราถนา

            ปัญหาสำคัญที่หลายคนหลายองค์กรไม่สามารถที่จะคิดหรือมีอะไรใหม่ขึ้นมาได้นั้นก็เนื่องจากเรามักจะไปยึดติดกับกรอบ แนวทาง และรูปแบบในการทำงานแบบเดิมๆ และจากความยึดติดนั้น ทำให้เรามักจะปฏิเสธต่อแนวทางหรือรูปแบบใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่วิธีการคิดแบบใหม่ๆ ผมพบเจอผู้บริหารจำนวนมาก ที่พอไปสอนเรื่องของนวัตกรรมทางกลยุทธ์ ซึ่งพอสอนและยกตัวอย่างต่างๆ นานาจบ ก็มักจะมีคำพูดในทำนองที่ว่า “ตัวอย่างที่อาจารย์ยกมาน่าสนใจแต่ธุรกิจผมแตกต่างจากคนอื่น ไม่สามารถเอาตัวอย่างดังกล่าวมาใช้ได้” เมื่อผมฟังประโยคนี้ทีไร ก็มักจะไม่อธิบายต่อครับ นึกในใจว่า “ก็ขอให้ท่านแตกต่างต่อไปเรื่อยๆ แล้วกันนะครับ จะได้อยู่แบบที่อยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องพัฒนาอะไร”

            ผมมีโอกาสเข้าไปพบเจอผู้บริหารจากอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวนมาก ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ การศึกษา และเอกชน และสิ่งที่ผู้บริหารเกือบทุกแห่งคิดเหมือนกันก็คือ ชอบคิดว่าธุรกิจหรือองค์กรตนเองแตกต่างจากผู้อื่น ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันนะครับว่าทำไมถึงคิดแบบนี้ อย่างไรก็ดีการคิดว่าตนเองแตกต่างจากผู้อื่นนั้นยังไม่เท่าไรครับ ปัญหามักจะเกิดขึ้นก็คือ เมื่อคิดว่าตนเองแตกต่างจากผู้อื่นแล้ว ก็มักจะคิดเอาเองว่าสิ่งที่องค์กรอื่นๆ คิดหรือทำนั้นไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้กับองค์กรตนเอง (เนื่องจากตนเองแตกต่าง) ซึ่งถ้าท่านผู้บริหารท่านใดคิดแบบนี้ก็ขอแนะนำให้เปลี่ยนความคิดได้นะครับ เนื่องจากถ้าเริ่มคิดแบบนี้เมื่อไร ก็จะเริ่ิมปิดกั้นต่อการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้ในรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ ครับ

            ผมมีคนรู้จักอยู่คนหนึ่งที่ชอบทำอาหารแล้วก็ทำได้อร่อย รวมทั้งเป็นคนที่ชอบเสาะแสวงหาของกินอร่อยๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้อื่นทำอาหารหรือเสาะแสวงหาอาหารที่ตนเองไม่ได้เป็นคนแนะนำ ก็จะปฏิเสธและบอกว่าอาหารที่ผู้อื่นทำหรือที่ผู้อื่นเสาะแสวงหามานั้นไม่อร่อย เคยพาคนๆ นี้ไปทานก๋วยเตี๋ยวมีชื่อเจ้าหนึ่ง ปรากฎว่าแค่คีบเส้นขึ้นมาแล้วยังไม่ทันเอาเส้นเข้าปาก ก็บอกออกมาแล้วว่าก๋วยเตี๋ยวเจ้านี้ไม่อร่อย ฝรั่งเขาเรียกคนที่มีอาการแบบนี้ว่าเป็นโรค NIH Syndrome หรือ Not-Invented-Here Syndrome นั้นคือถ้าอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ได้เกิดจากหรือถือกำเนิดจากบุคคลหรือองค์กรนั้นแล้ว สิ่งๆ นั้นก็จะใช้ไม่ได้ ถ้าองค์กรไหนเป็น NIH Syndrome ก็ต้องระวังนะครับ เพราะจะเป็นบ่อเกิดสำคัญสำหรับความพร้อมที่จะเปิิดใจที่จะเรียนรู้ในวิธีการคิดแบบใหม่ๆ

            ผมมองว่าคุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งสำหรับผู้บริหารและคนทำงานในปัจจุบันจะต้องอยู่ที่ความพร้อมและความสามารถในการที่จะเรียนรู้แนวทาง รูปแบบ และวิธีการในการคิดแบบใหม่ๆ ครับ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นมากและเร็วเหลือเกิน แค่การที่จะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นก็เหนื่อยพอแล้ว แต่เพียงแค่การก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่พอเพียงสำหรับความสำเร็จในปัจจุบันนะครับ เพราะเพียงแค่การก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ถ้าตามหลักฟิสิก์แล้วก็เหมือนกับว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด (ความเร็วตัวเองเท่ากับความเร็วของการเปลี่ยนแปลงภายนอก) ดังนั้น ถ้าจะเปลี่ยนแปลงจริงๆ ก็ต้องเปลี่ยนให้เร็วกว่าหรือมากกว่าการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกนะครับ ดังนั้นความพร้อมที่จะเปิดรับและเรียนรู้ต่อแนวทาง และวิธีการใหม่ๆ เพื่อที่จะสามารถก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญครับ