
22 December 2010
ผมเริ่มเขียนบทความให้กับทางนสพ.ผู้จัดการรายสัปดาห์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2544 หรือเมื่อเเก้าปีที่แล้วพอดิบพอดีครับ ถ้านับจำนวนฉบับก็ครบ 460 ฉบับหรือบทความแล้ว ตลอดเก้าปีที่ผ่านมาคำถามหนึ่งที่ผมได้รับมาตลอดก็คือ “เอาเรื่องราวที่ไหนมาเขียน” หรือไม่ก็ “หาข้อมูลมาจากไหน” เนื่องจากนอกเหนือจากเขียนให้กับทางผู้จัดการรายสัปดาห์แล้ว ผมเองก็ยังเขียนให้กับหนังสือพิมพ์อีกฉบับในเรื่องของทางด้านการบริหารจัดการเช่นเดียวกัน สรุปแล้วก็คือสัปดาห์หนึ่งจะต้องหาเนื้อหา ความรู้ ข้อมูล ทางด้านการจัดการมาสำหรับการเขียนบทความให้ได้สองฉบับ และที่สำคัญคือเนื้อหาจะต้องไม่เหมือนกันด้วย
เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงของฤดูกาลรื่นเริงและพักผ่อนดังนั้นในสัปดาห์นี้ผมเลยขอเขียนแบบเล่าให้ฟังถึงที่มาของแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่ผมใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนบทความนะครับ ทั้งนี้เผื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน และท่านผู้อ่านก็สามารถที่สนใจก็ลองเข้าไปดูยังแหล่งข้อมูลเหล่านั้นเพื่อเสาะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมครับ มีประเด็นที่น่าสนใจเหมือนกันนะครับ จากช่วงที่เรียบเรียงความคิดเพื่อเขียนบทความในสัปดาห์นี้ก็พบว่าแหล่งข้อมูล ความรู้ต่างๆ ที่ผมใช้นั้นบางแหล่งก็ยังคงใช้มาอยู่ตลอดเก้าปีที่ผ่านมา แต่บางแหล่งก็มีพัฒนาการตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
แหล่งความรู้แหล่งแรกอาจจะเป็นสิ่งเฉพาะตัวหน่อยนะครับ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะนำเสนอครับ นั้นคือจากประสบการณ์ครับ จากความที่มีอาชีพประจำเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ประกอบกับการที่มีโอกาสไปสัมผัสองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนภายนอกจำนวนมาก ทำให้ได้พบเจอสถานการณ์ต่างๆ อยู่มากพอสมควรและสะสมประสบการณ์สำหรับการนำมาเขียนเป็นบทความสำหรับท่านผู้อ่าน หลายๆ บทความที่ผ่านมาก็นั่งเขียนและเรียบเรียงขึ้นมาจากประสบการณ์ที่พบเจอเลยครับ ไม่ได้มีการอ้างอิงทางวิชาการแต่อย่างใด
แหล่งความรู้ต่อมาคือหนังสือครับ โดยเฉพาะหนังสือของต่างประเทศที่เราเรียกเป็นพวก Trade Book ทั้งจากร้าน Asia Books หรือ Kinokuniya หรือ สั่งซื้อจาก Amazon โดยตรง อย่างไรก็ดีการอ่านหนังสือพวกนี้ก็มีเคล็ดนะครับ เนื่องจากหลายท่านชอบถามผมว่าอ่านหมดทั้งเล่มเลยหรือ? คำถามก็คือไม่ครับ ถ้าไม่ใช่หนังสือที่เขียนได้ดี น่าสนใจ หรือ มีอะไรใหม่ๆ ผมก็ไม่ได้อ่านจนจบเล่มหรอกครับ ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นบทแรกๆ และบทสุดท้าย เนื่องจากหนังสือพวกนี้หลายครั้งเราจะพบว่าเพียงแค่การอ่านบทแรกและบทสุดท้ายก็จะได้เนื้อหาสาระหลักมาได้แล้ว ส่วนบทอื่นๆ ที่เป็นเนื้อในนั้นก็อาจจะเลือกอ่านได้ตามที่สนใจ
แหล่งความรู้ต่อมาคือพวกนิตยสาร วารสารทางการจัดการต่างๆ ครับ ที่ผมใช้เป็นแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่นั้นก็หนีไม่พ้น Harvard Business Review, Fortune, BusinessWeek, Strategy+Business เป็นหลัก ส่วนพวกนิตยสารอื่นนั้นก็อาจจะมีประปรายตามแต่โอกาสจะอำนวยครับ เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือครับ ผมเองก็ไม่ได้อ่านวารสารเหล่านี้จนจบเล่ม แต่เลือกอ่าน หรือนำเอาเฉพาะบางเรื่องที่น่าสนใจมาเรียบเรียงนำเสนอเป็นบทความ แหล่งความรู้ต่อมาคือพวกบทความวิจัย วิชาการ รวมทั้งผลงานของบรรดานิสิตในที่ปรึกษา ซึ่งส่วนนี้จะแสวงหาได้มาในฐานะของความเป็นอาจารย์ที่ต้องอ่านงานเหล่านี้เป็นประจำ
ทีนี้เมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าไปมากขึ้น มีการกำเนิดของ Blog และ Social Media ประเภทต่างๆ อินเตอร์เน็ตก็เลยกลายเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ที่สำคัญครับ แหล่งต่างๆ ที่ในอดีตเคยหาเคยอ่านในลักษณะของรูปเล่มก็เปลี่ยนเป็นทางเน็ตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือวารสารต่างๆ ในส่วนของหนังสือนั้น Amazon กลายเป็นจุดตั้งต้นของการค้นคว้าเลยครับ หนังสือบางเล่มที่หาซื้อไม่ได้ หรือ ถ้ารอให้ส่งมาแล้วจะช้าไป ก็อาศัยอ่านจาก Amazon เลยครับ เนื่องจากบางเล่มนั้นเราสามารถโหลดบทที่หนึ่งมาอ่านได้ฟรี หรือ พอไปอ่านพวกที่เขามาวิจารณ์และสรุปหนังสือไว้ในเว็บ Amazon บางครั้งก็ทำให้ได้แก่นสาระได้ครบถ้วนเลยครับ นอกจากนี้หนังสือที่พิมพ์ออกใหม่ในปัจจุบันจะมีเว็บของตนเอง มีพวกบทความ หรือ บทสัมภาษณ์ต่างๆ อยู่บนเน็ตเต็มไปหมดครับ บางครั้งสนใจในหนังสือบางเล่มก็ไม่ต้องซื้อเลยก็ได้ครับ ไปหาอ่านจากในเน็ตก็ได้สาระสำคัญครบถ้วนเลยครับ
นอกจากพฤติกรรมในการหาความรู้จากหนังสือที่เปลี่ยนไป พวกวารสารหรือบทความวิชาการต่างๆ ก็สามารถหาอ่านได้จากเน็ตมากขึ้น ยิ่งพอ Twitter เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น ผมก็เข้าไป Follow วารสารต่างๆ ที่อ่าน ไม่ว่าจะเป็น HBR, Fast Company, Fortune, BusinessWeek จากนั้นพอเขามีบทความหรือเนื้อหาอะไรใหม่ก็จะ Tweet มาแจ้งให้เราทราบ ถ้าบทความไหนน่าสนใจก็สามารถเข้าไปเลือกอ่านได้ตามสบายเลยครับ
จะเห็นได้นะครับว่าพัฒนาการของเทคโนโลยีก็ทำให้วิธีการและพฤติกรรมในการหาความรู้ หาวัตถุดิบเพื่อมาเขียนบทความนั้นเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะหาข้อมูล ความรู้ด้วยวิธีการใดก็ตาม ที่สำคัญคือ ไม่ใช่แค่เราไปอ่านแล้วลอกหรือแปลมาเท่านั้นนะครับ จะต้องสามารถนำความรู้หรือข้อมูลต่างๆ เชื่อมโยงกันให้ได้ รวมทั้งควรจะต้องสามารถปรับให้เป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ง่ายและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยด้วย