17 November 2010

สัปดาห์นี้คงจะเป็นตอนสุดท้ายของเนื้อหาเกี่ยวกับกลยุทธ์ที่ผมนำมาจากบทความชื่อ Stress-Test Your Strategy ที่เขียนโดย Robert Simon นะครับ โดยบทความดังกล่าวตีพิมพ์ลงในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้ Robert Simon ยังเขียนหนังสือขึ้นมาหนึ่งเล่ม (ซึ่งเขาย่อหนังสือดังกล่าวมาเป็นบทความนี้) ในชื่อ Seven Strategy Questions ซึ่งผมเห็นวางจำหน่ายที่เอเชียบุคส์แล้วนะครับ โดยเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมนำเสนอสี่คำถามแรกที่ผู้บริหารทุกคนควรที่จะถามตนเองเพื่อเป็นการทดสอบว่าทั้งกลยุทธ์และแนวทางในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติที่ใช้กันอยู่ในองค์กรในปัจจุบันนั้นเหมาะสมหรือไม่ สัปดาห์นี้เรามาต่อกันในอีกสามคำถามที่เหลือนะครับ

            คำถามที่ห้าคือ How are you generating creative tension?? หรือผู้บริหารได้สร้างความกดดันหรือแรงกดดันให้เกิดขึ้นภายในองค์กรมากน้อยเพียงใด โดยแรงกดดันดังกล่าวจะเป็นเพื่อประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าประโยชน์เชิงทำลายนะครับ ทั้งนี้เพื่อให้บุคลากรเกิดความกระตือรือร้นในการคิดที่จะพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น การออกจาก Comfort Zone ที่ทุกคนอยู่กันด้วยความสะดวกสบาย ผู้บริหารจะต้องสามารถนำแรงกดดันจากภายนอกให้เข้ามาสู่องค์กร หรือ อาจจะต้องสร้างให้บุคลากรภายในเองเกิดความรู้สึกกดดันเพื่อท่ีจะพัฒนาให้มากขึ้น แนวทางในการสร้างแรงกดดันนั้นสามารถทำได้หลายวิธีครับ ตั้งแต่การตั้งเป้าที่ท้าทาย การประเมินผลในลักษณะของ Forced-Rank หรือการจัดลำดับพนักงานตามผลการดำเนินงาน การมอบหมายงานที่นอกเหนือจากงานที่รับผิดชอบ และ การให้ทำงานในลักษณะ Cross-Functional มากขึ้น

            เมื่ออ่านดูรายละเอียดในคำถามที่ห้าแล้วจะพบว่าแนวทางของ Robert Simon ในการกระตุ้นให้เกิดความกดดันเพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ นั้น อาจจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมต่อองค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบตะวันตก แต่ถ้านำมาใช้ในองค์กรแบบไทยๆ ก็สงสัยบุคลากรจะเกิดความเครียด จะเกิดการเมืองภายใน มีการขัดแข้งขัดขากันเกิดขึ้น รวมทั้งเกิดข้อสงสัยว่าข้อดีของการสร้างแรงกดดันจะสามารถชดเชยต่อข้อเสียที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่

            คำถามที่หกคือ How committed are your employees to helping each other? หรือบุคลากรในองค์กรของท่านมีความเต็มใจที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานแค่ไหน โดยเป็นคำถามที่มุ่งเน้นที่จะให้ผู้บริหารได้ถามตนเองตลอดว่าพนักงานส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันและพร้อมที่จะช่วยเหลือกันเพื่อพาองค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าหรือไม่ การที่มีพนักงานจะมีความยินดีและเต็มใจที่จะช่วยเหลือกันนั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญสี่ประการที่เกื้อหนุนครับ

            ปัจจัยประการแรกคือความรู้สึกภาคภูมิใจในภารกิจและเป้าหมายขององค์กร เพราะเมื่อมีความภูมิใจเกิดขึ้น ทุกคนก็อยากจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จที่ได้ตั้งไว้ ประการที่สองคือความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือขององค์กร ประการที่สามคือความไว้วางใจที่มีต่อผู้บริหารและเพื่อนร่วมงาน เนื่องจากความไว้วางใจนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้อย่างดี และปัจจัยประการสุดท้ายคือความยุติธรรมครับ การที่พนักงานเห็นว่าผู้บริหารมีความยุติธรรม รวมทั้งให้ความสำคัญต่อเรื่องของความยุติธรรมต่อส่วนรวมเหนือกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว ก็ย่อมทำให้ทุกคนมีความพร้อมและมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือและทำงานเพื่อจุดมุ่งหมายขององค์กร

            คำถามสุดท้ายซึ่งผมเองมองว่าน่าสนใจสุดก็คือ What strategic uncertainties keep you awake at night? ซึ่งคงไม่ต้องแปลกันนะครับ เนื่องจากสิ่งที่แน่นอนในโลกธุรกิจประการหนึ่งก็คือกลยุทธ์ที่ใช้และประสบความสำเร็จในวันนี้จะไม่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในอนาคต เนื่องจากว่าเมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง ผลิตภัณฑ์ขององค์กรย่อมจะล้าสมัย ความต้องการของลูกค้าก็จะเปลี่ยน เทคโนโลยีก็จะพัฒนาขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นความสำเร็จในปัจจุบัน จะกลายเป็นเรื่องเก่าที่ไม่่มีอะไรแปลกใหม่ในอนาคตแล้วครับ การเปลี่ยนแปลงนั้นถือว่าแน่นอนครับ เพียงแต่เมื่อไรเท่านั้นเอง

            สิ่งที่ผู้บริหารจะต้องทำก็คือการเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของกลยุทธ์องค์กรอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และจริงๆ ไม่ใช่ว่าเป็นหน้าที่หรือสิ่งที่ผู้บริหารต้องทำอยู่คนเดียวแต่เป็นหน้าที่ของคนทั้งองค์กรนะครับ แต่ต้องอย่าลืมว่าผู้บริหารจะต้องเป็นผู้เริ่มต้นก่อนเพราะทุกคนในองค์กรจะดูหรือเฝ้าติดตามในสิ่งที่ผู้บริหารเฝ้าติดตาม แต่ละองค์กรจะมีระบบและวิธีการในการเฝ้าติดตามความเสี่ยงทางกลยุทธ์นี้ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป บางแห่งอาจจะเฝ้าติดตามระบบการประเมินผลการดำเนินงาน บางแห่งอาจจะมีระบบในการเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของตลาด ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะเป็นระบบหรือวิธีการใดก็ตาม ผู้บริหารจะต้องมั่นใจในตัวเองเหมือนกันนะครับว่าพร้อมที่จะรับฟังต่อข่าวร้าย รวมทั้งอาจจะต้องมีการจูงใจหรือให้รางวัลสำหรับผู้ที่แจ้งข่าวร้ายให้ทราบอีกด้วย

            ท่านผู้อ่านที่สนใจในเรื่องกลยุทธ์และอยากจะศึกษากลยุทธ์อย่างครบวงจร ก็ขอฝากประชาสัมพันธ์หลักสูตรอบรมของคณะที่ผมเองดูแลหน่อยนะครับ เป็นหลักสูตรชื่อ Strategy Management Program โดยเป็นหลักสูตรทางด้านการบริหารกลยุทธ์อย่างครบวงจร รวมทั้งแนวคิดใหม่ๆ ทางด้านกลยุทธ์ในปัจจุบัน จะจัดทั้งหมด 60 ชั่วโมงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมปีหน้า ถ้าท่านผู้อ่านสนใจสามารถสอบถามได้ที่ 02-218-5764 ครับ