4 July 2011

เนื่องจากสัปดาห์นี้เป็นช่วงหลังการเลือกตั้งผมจึงขอนำเสนอมุมมองในด้านมหภาคบ้างนะครับ โดยเป็นมุมมองของนักวิชาการทางด้านบริหารธุรกิจจากประเทศต่างๆ ในแถบเอเซียแปซิฟิกต่อสถานการณ์ของประเทศตนเอง เนื้อหาของสัปดาห์นี้ผมได้ในฐานะที่เข้าร่วมสัมมนา PACIBER ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสถาบันการศึกษาทางด้านธุรกิจชั้นนำจากประเทศต่างๆ ในแถบเอเซียแปซิฟิก ซึ่งกลุ่มสมาชิกนั้นจะประกอบด้วยสถาบันการศึกษาชั้นนำทั้งจากอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย เอเซีย (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวของไทยที่เป็นสมาชิก) โดยในงานสัมมนานี้จะมีช่วงหนึ่งที่ให้ประเทศสมาชิกได้มาเล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ล่าสุดของแต่ละประเทศ ในมุมมองของนักวิชาการทางด้านบริหารธุรกิจ ซึ่งเมื่อได้ฟังสถานการณ์ของประเทศต่างๆ แล้วก็มีความรู้สึกนะครับว่าสถานการณ์ในประเทศไทยยังดีกว่าอีกหลายๆ ประเทศ

เริ่มจากยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาก่อนเลยครับ ปีหน้าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและแนวโน้มที่ประธานาธิบดีโอบามาจะได้รับการเลือกกลับมาอีกครั้งก็ค่อนข้างน้อย เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่คาด การเติบโตของ GDP สหรัฐก็ถือว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำ (ไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 1.9%) ในขณะที่อัตราการว่างงานก็ยังสูงอยู่ สถานการณ์ที่ถือว่าน่ากลัวที่สุดของสหรัฐคือหนี้สาธารณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ $14 trillion และเพดานเงินกู้ที่ทางสภาของสหรัฐได้เคยอนุมัติไว้อยู่ที่ $14.3 trillion ซึ่งถ้าภายในวันที่ 2 สิงหาคมนี้ะไม่มีการขยับเพดานวงเงิน ทางรัฐบาลก็ต้องประกาศล้มละลาย ซึ่งย่อมจะนำไปสู่วิกฤตทางการเงินอีกรอบ ผลจากการเป็นหนี้จำนวนมากนั้น ทำให้ทางรัฐบาลสหรัฐต้องทำการรัดเข็มขัดและตัดงบประมาณกันเป็นแถวครับ บรรดาคณาจารย์ที่มาจากมหาวิทยาลัยของรัฐนั้นบ่นกันเป็นแถวครับว่าถูกตัดงบประมาณถึง 55% ทำให้กิจกรรมทางวิชาการต่างๆ ที่วางแผนไว้ต้องถูกระงับ

มาดูยักษ์ในเอเซียอย่างเช่นเกาหลีใต้บ้างครับ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีก็ไม่ดีเท่าไร แถมในอุตสาหกรรมการผลิตนั้นก็เจอคู่แข่งสำคัญอย่างจีนที่เทคโนโลยีเริ่มใกล้เคียงกันมากขึ้น และจากที่บริษัทในเกาหลีใต้เริ่มต้นจากการลอกเลียนแบบ ทำให้ไม่ได้มีการลงทุนในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพื้นฐานไว้เท่าที่ควร ทำให้การปรับตัวจากผู้ลอกเลียนสู่ผู้คิดค้นไม่ง่ายเท่าที่ควร และถ้าเกหล้ายังพึ่งพาแต่กาาค้าและการส่งออกเป็นหลักเหมือนในอดีต อนาคตการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีก็จะไม่สดใสเท่าที่ควรครับ

สำหรับออสเตรเลียนั้นก็น่าห่วงพอควรครับ จากค่าเงินของเขาที่แข็งมากในช่วงที่ผ่านมาส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของออสเตรเลีย นอกจากนี้ธุรกิจการศึกษาซึ่งเคยทำเงินให้กับออสเตรเลียอย่างมากมาย ก็เริ่มเผชิญปัญหาจากค่าเงินที่แข็งและปัจจัยอื่นๆ ทำให้นักศึกษาต่างชาติมาเรียนที่ออสเตรเลียน้อยลง ที่สำคัญคือเศรษฐกิจของออสเตรเลียพึ่งพาจีนค่อนข้างมาก โดยจีนเป็นผู้ซื้อสินค้ารายใหญ่จากออสเตรเลีย (ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ) ดังนั้นถ้าจีนประสบปัญหาการตกต่ำทางเศรษฐกิจ ก็จะส่งผลกระทบต่อออสเตรเลียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับเพื่อนบ้านออสเตรเลียอย่างเช่นนิวซีแลนด์นั้นยิ่งน่าเป็นห่วงใหญ่ครับ ในรอบปีที่ผ่านมามีหายนะที่สำคัญเกิดขึ้นสองครั้งหลักๆ นั้นคือการระเบิดของเหมืองถ่านหินที่นอกจากจะทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 29 คนแล้ว ยังส่งผลต่อปริมาณสำรองถ่านหินของประเทศ และล่าสุดคือเหตุการณ์แผ่นดินไหวใน    Christchurch ที่นอกจากจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากแล้ว การสร้างเมืองขึ้นมาใหม่อีกครั้งก็ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก (แถมยังมีแนวโน้มของการเกิดแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่อง) นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจของนิวซีแลนด์ก็มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงที่จะเข้าสู่ภาวะ Double Dip เมื่อดูอัตราหนี้เทียบกับจีดีพีของนิวซีแลนด์แล้วจะพบว่าอยู่ในระดับเดียวกับประเทศที่กำลังประสบปัญหาในยุโรปอย่างกรีก ไอร์แลนด์  สเปน และโปรตูเกส

สำหรับประเทศไทยนั้นคำถามที่ได้รับกันมากที่สุดก็หนีไม่พ้นเรื่องของการเมืองและการเลือกตั้ง ชาวต่างประเทศที่รู้จักคนไทยดี ไม่มีใครเชื่อเลยว่าจะเคยเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นถ้าไม่นับความไม่แน่นอนทางการเมืองแล้ว สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วยังถือว่าดีอยู่มาก ก็หวังว่าในการประชุม PACIBER ในปีหน้าจะไม่มีชาวต่างประเทศมาถามถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองและความไม่สงบในประเทศไทยอีกนะครับ