17 July 2011

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้เขียนถึงรูปแบบของผู้นำชนิดใหม่ที่เรียกว่า Collaborative Leader ไป ดูเหมือนจะเป็นที่สนใจของท่านผู้อ่านพอสมควรครับ ดังนั้นในสัปดาห์นี้เลยอยากจะมาต่อในเรื่องของผู้นำที่เน้นความร่วมมือ หรือ Collaborative Leader กันต่อนะครับ เผื่อจะได้เป็นแนวทางสำหรับท่านผู้อ่านในการประยุกต์เข้ากับภาวะผู้นำของแต่ละท่าน ท่านผู้อ่านที่ติดตามตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วคงพอจำเนื้อหาได้นะครับว่าจากการเปลี่ยนแปลงในกระแสธุรกิจ เทคโนโลยี โครงสร้างสังคม และสังคมออนไลน์รูปแบบใหม่ ทำให้ผู้นำยุคใหม่จะต้องมีความสามารถในการประสาน เชื่อมโยง ร่วมมือ ฯลฯ กับหน่วยงานและบุคคลต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กรมากขึ้น ผู้นำที่อยู่แต่ในองค์กรตนเองหรือเติบโตมาแบบ Silo ย่อมยากที่จะประสบความสำเร็จในโลกยุคใหม่ได้

คุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งของ Collaborative Leader คือจะต้องสามารถที่จะเชื่อมโยงหรือประสานหรือร่วมมือ กับบุคคลหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือไม่ขอบเขตธุรกิจของตนเองครับ จะสังเกตว่าโดยส่วนใหญ่แล้วผู้บริหารมักจะมองแต่ขอบเขตธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ตนเองอยู่ เมื่อต้องการสร้างความสัมพันธ์หรือความร่วมมือ เช่น ถ้าอยู่ในแวดวงการศึกษา การสร้างความร่วมมือนั้นก็มักจะเกิดขึ้นกับองค์กรอื่นในแวดวงการศึกษาด้วยกัน หรือ ถ้าอยู่ในแวดวงการธนาคารและการเงิน ก็มักจะนึกถึงแต่ธุรกิจเดียวกันหรือธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกัน

ซึ่งการ Collaborative ระหว่างองค์กรหรือหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดีครับ แต่จะทำให้ไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่จากความร่วมมือที่เกิดขึ้น เราต้องอย่าลืมนะครับว่านวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์จะเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องอาศัยความหลากหลายเป็นสำคัญครับ ความร่วมมือหรือการประสานที่ข้ามเกี่ยวไปยังธุรกิจหรือองค์กรอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนนั้น จะนำมาซึ่งความหลากหลายทั้งในด้านของความคิดและความร่วมมือครับ แต่ความยากก็คือผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะมองไม่เห็นจุดนี้และชอบคิดว่าธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ตนเองดำรงอยู่นั้นมีความแปลกและแตกต่างจากคนอื่น จนไม่สามารถร่วมมือหรือประสานกับภายนอกอุตสาหกรรมได้ ซึ่งต้องถือว่าเป็นความคิดที่สั้นครับ

นอกจากความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรมแล้ว ตัวผู้นำที่เป็น Collaborative Leader เอง ยังต้องสามารถที่จะทำงาน ร่วมมือ และประสานกับบุคลากรที่มีพื้นฐานที่แตกต่างและหลากหลายด้วยครับ ไม่ว่าความแตกต่างนั้นจะมาจากพื้นฐานทางบ้าน การศึกษา ศาสนา เชื้อชาติ วัฒนธรรม วิธีคิด หรือ แม้กระทั่งช่วงอายุ โดย Collaborative Leader จะต้องมีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายนี้ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่องค์กร

อย่างไรก็ดีปัญหาสำคัญคือผู้นำจำนวนมากไม่ค่อยชอบความแตกต่างครับ เพราะยิ่งมีความแตกต่างมาก ก็ยิ่งทำให้ไม่สามารถควบคุมความคิดและการกระทำให้เป็นไปตามที่ผู้นำต้องการได้ ลองสังเกตดูนะครับว่าในส่วนไหนขององค์กรที่มีความหลากหลายมากที่สุด เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะนึกถึงกลุ่มผู้บริหารระดับสูงเป็นหลัก และพอขาดซึ่งความหลากหลายแล้ว วิธีการในการคิดและการกระทำต่างๆ ก็มักจะออกมาเหมือนกันและไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น Collaborative Leader ที่ดีจะต้องสามารถบริหารท่ามกลางความแตกต่างและหลากหลายได้ อีกทั้งจะต้องสามารถใช้ประโยชน์จากความแตกต่างและความหลากหลายดังกล่าวมาก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรเหมือนกับที่ฝรั่งเขาชอบพูดว่า Unity in Diversity นั้นแหละครับ

ฝากถึงผู้นำบางท่านที่กำลังเลือกทีมอยู่ในปัจจุบันนะครับ ถ้าอยากจะสร้างสรรค์และก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแล้ว ต้องกล้าที่จะเลือกผู้ที่มีความคิดและมุมมองที่แตกต่าง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีทักษะและความสามารถในการบริหารความหลากหลายและความแตกต่างดังกล่าวครับ

ก่อนจบขอฝากสำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเงินและการธนาคาร ถ้าอยากจะมีมุมมองที่หลากหลายและแตกต่าง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าของคณะ จะจัด Dinner Talk โดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “มองเศรษฐกิจครึ่งปีหลังผ่านสายตาผู้ว่าแบงก์ชาติ” นะครับ สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ 022558614 นะครับ