29 April 2011

ผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องกลยุทธ์มาหลายครั้ง ทั้งในเชิงของแนวคิด วิธีการ และประโยชน์ สัปดาห์นี้เราลองมาดูกันในอีกมุมมองหนึ่งกันครับว่าอะไรคือปัญหาของกลยุทธ์บ้าง? เนื่องจากทุกๆ สิ่งย่อมมีมากกว่าหนึ่งด้าน กลยุทธ์เมื่อมีข้อดีหรือประโยชน์ก็ย่อมจะมีปัญหาเหมือนกัน และเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ย่อมจะเคยพบเจอปัญหาเกี่ยวกับกลยุทธ์บ้างไม่มากก็น้อย ประกอบกับไปพบเจอผลการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษา Booz&Co. ซึ่งเขาได้มีการสำรวจผู้บริหารกว่า 1,800 คนจากหลากหลายอุตสาหกรรมและภูมิภาค ถึงปัญหาที่พบเจอเกี่ยวกับเรื่องของกลยุทธ์

ตามหลักการแล้วองค์กรต่างๆ มีการกำหนดกลยุทธ์เพื่อนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ แต่ต้องลองสำรวจจากประสบการณ์ของแต่ละท่านดูนะครับว่ากลยุทธ์ขององค์กรท่าน สามารถนำพาองค์กรท่านสู่ความสำเร็จตามที่ตั้งไว้หรือไม่? ถ้าใช่ก็ต้องถือว่าท่านโชคดีครับ ถ้าไม่ก็ต้องกลับมาทบทวนครับว่าอะไรคือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ที่ท่านพบเจอ และปัญหานั้นส่งผลต่อความสำเร็จเชิงกลยุทธ์ขององค์กรท่านหรือไม่?

จากการสำรวจผู้บริหารกว่า 1,800 คน ของ Booz&Co. พบว่า 64% ระบุว่าปัญหาที่หนักหนาสาหัสที่สุดเกี่ยวกับกลยุทธ์ก็คือการมีสิ่งที่ต้องทำมากเกินไป และสิ่งที่ต้องทำนั้นขัดแย้งกัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พบเจอในหลายๆ องค์กรของไทยเหมือนกันครับ ท่านผู้อ่านลองนึกถึงกลยุทธ์ของท่านดูก็ได้นะครับ เรามักจะมีการเขียนกลยุทธ์เป็นข้อๆ หรือ เป็นประเด็นๆ องค์กรจำนวนมากจะมีกลยุทธ์หลายข้อ และปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือการจัดลำดับความสำคัญของกลยุทธ์ในแต่ละข้อที่องค์กรจะมุ่งเน้น เนื่องจากกลยุทธ์ในหลายข้ออาจจะมีความขัดแย้งกัน เช่น บางองค์กรจะมุ่งเน้นทั้งเรื่องของการลดต้นทุน แต่ในขณะเดียวกันก็เน้นการให้บริการลูกค้าอย่างเต็มที่ หรือ การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ตลอดเวลา และผู้บริหารก็ไม่ได้ระบุอีกด้วยว่าจะให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ข้อไหนเป็นพิเศษ ทำให้ผู้บริหารระดับรองและผู้ปฎิบัติเกิดความสับสนและความขัดแย้งในการปฎิบัติงานตามกลยุทธ์ เราจะพบเห็นตัวอย่างความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่บางฝ่ายเน้นลดต้นทุน กับ บางฝ่ายที่เน้นการคิดใหม่ หรือ การให้ความสำคัญกับลูกค้า ที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการที่ไม่ได้มีการจัดลำดับความสำคัญของกลยุทธ์ขององค์กร

นอกจากปัญหาการจัดลำดับความสำคัญของกลยุทธ์แล้ว ผู้บริหารยังพบด้วยว่าความท้าทายที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้การตัดสินใจประจำวันของผู้บริหารสอดคล้องกับกลยุทธ์ (56% ของผู้บริหารที่ตอบ) ซึ่งก็สอดคล้องกับปัญหาที่ผู้บริหารในไทยพบเจอกันอยู่นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดความเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์กับสิ่งที่ต้องทำในประจำวัน จนทำให้ปัจจุบันสิ่งที่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติกระทำในแต่ละวันไม่เชื่อมโยงกับกลยุทธ์ และทำให้กลยุทธ์กลายเป็นกิจกรรมประจำปีที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญหรือคิดแค่ปีละครั้ง แต่ไม่ได้ผูกกับงานและการตัดสินใจประจำวันของผู้บริหาร

ความท้าทายประการต่อมาคือเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ (56% ของผู้บริหารท่ีระบุว่าเป็นความท้าทาย) ซึ่งการจัดสรรทรัพยากรในที่นี้ครอบคลุมทั้งเรื่องของงบประมาณ บุคลากร รวมทั้งทรัพยากรอื่นๆ โดยที่หลายๆ บริษัทก็ใช้วิธีการจัดสรรทรัพยากรตามงานประจำที่ทำอยู่มากกว่าการจัดสรรให้เชื่อมโยงกับกลยุทธ์

ความท้าทายต่อมาคือการกำหนดกลยุทธ์ที่ทั้งก่อให้เกิดความแตกต่างและความชัดเจน (50% ของผู้ตอบ) ซึ่งก็เป็นความท้าทายที่สำคัญจริงๆ ครับ เนื่องจากกลยุทธ์ที่ดีนั้นนอกเหนือจากจะต้องมีความชัดเจนแล้ว ยังต้องสามารถทำให้เกิดความแตกต่างจากคู่แข่งขันได้ แต่ความท้าทายที่สำคัญก็คือทำอย่างไรถึงจะสามารถคิดและกำหนดกลยุทธ์ที่ทั้งชัดเจนและแตกต่างขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สภาวะการแข่งขันในปัจจุบันที่ทุกองค์กรมุ่งเน้นการสร้างความแตกต่าง ดังนั้นการที่จะคิดและหาความแตกต่างในกลยุทธ์ของตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายครับ

จากความท้าทายหรือปัญหาต่างๆ ที่ผู้บริหารประสบนำไปสู่ตัวเลขอีกตัวเลขหน่ึงที่น่าสนใจครับ  นั้นคือกว่าครึ่งหนึ่ง (52%) ของผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถาม ไม่คิดว่ากลยุทธ์ของตนเองจะนำพาองค์กรของตนเองสู่ความสำเร็จ ซึ่งเมื่อดูจากตัวเลขแล้วถือว่าน่ากลัวนะครับ ที่กว่าครึ่งผู้บริหารไม่คิดว่ากลยุทธ์ที่วางไว้จะนำพาองค์กรสู่เป้าหมายท่ีวางไว้ จริงๆ คำถามนี้ก็น่าจะกลับมาถามผู้บริหารไทยกันบ้างนะครับว่าทุกท่านเองคิดว่ากลยุทธ์ที่วางไว้จะช่วยนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จมากน้อยเพียงใด แถม 81% ของผู้บริหารยังมีความเห็นอีกด้วยนะครับว่ากลยุทธ์หรือแผนงานในการเติบโตที่วางไว้เป็นสิ่งที่สูญเปล่า ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อองค์กร ซึ่งจากข้อมูลทั้งสองประการนั้นเหมือนกับเป็นการแสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์ที่คิดและวางไว้นั้น ไม่ค่อยได้ก่อให้เกิดประโยชน์ตามเจตนารมย์ของกลยุทธ์อย่างแท้จริง

ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งในเรื่องของกลยุทธ์ที่ไม่ชัดเจนและไม่ก่อให้เกิดความแตกต่าง หรือ การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เห็นผล รวมทั้งการที่ผู้บริหารระดับสูงได้ให้ความสนใจหรือความสำคัญต่อการบริหารเชิงกลยุทธ์มากน้อยเพียงใด ซึ่งสาเหตุต่างๆ ข้างต้น ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่สาเหตุใหม่นะครับ เป็นเรื่องที่พูด ที่เขียนกันมานานหลายปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าปัญหานั้นก็ยังคงอยู่ แสดงว่าแม้ศาสตร์วิชาการทางด้านกลยุทธ์จะพัฒนาไปเพียงใด แต่ในทางปฏิบัตินั้น การนำกลยุทธ์มาใช้ในการบริหารองค์กรจริงๆ กลับยังประสบกับปัญหาเดิมๆ อยู่ (ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเกิดขึ้นจากศาสตร์ทางด้านกลยุทธ์ที่เป็นวิชาการเกินไปจนไม่สามารถปฏิบัติได้ หรือ เกิดขึ้นจากการปฏิบัติขององค์กรต่างๆ)

เรามาดูตัวเลขต่างๆ กันต่อนะครับ ร้อยละ 43 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความเห็นว่ากลยุทธ์ขององค์กรจะไม่ก่อให้เกิดความแตกต่างในอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันร้อยละ 49 มีความเห็นว่าองค์กรไม่มีการกำหนดลำดับความสำคัญของกลยุทธ์ และร้อยละ 53 ระบุว่าถึงแม้องค์กรจะมีแนวทางในการสร้างคุณค่าที่ชัดเจน แต่แนวทางดังกล่าวไม่ได้เป็นที่รับรู้และเข้าใจของทั้งบุคลากรและลูกค้า

จากตัวเลขและสถิติที่มาจากการสำรวจข้างต้น ท่านผู้อ่านคงพอจะเห็นได้นะครับว่าผู้บริหารองค์กรต่างๆ ยังมองว่ากลยุทธ์ที่แต่ละองค์กรมี ยังไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เกือบหรือกว่าครึ่งของผู้บริหารมองว่ากลยุทธ์ไม่ได้ก่อให้เกิดความสำเร็จต่อองค์กรตามที่มุ่งหวัง แสดงให้เห็นว่าศาสตร์ในการบริหารกลยุทธ์น้ันยังมีช่องทางในการพัฒนาอยู่อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการปฏิบัติในองค์กรต่างๆ ดังนั้นแทนที่เราจะนำองค์ความรู้จากทางด้านวิชาการไปถ่ายทอดต่อภาคปฏิบัติ ถ้าเรามองกลับกันคือนำเอากรณีศึกษาหรือความสำเร็จขององค์กรที่สามารถบริหารกลยุทธ์จนประสบความสำเร็จ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนะครับ