24 December 2010

สวัสดีปีใหม่ครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ก็เป็นธรรมเนียมปกตินะครับที่บทความต่างๆ ช่วงสิ้นปีมักจะเขียนทบทวนหรือจัดอันดับของสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา พอเป็นบทความฉบับต้อนรับศักราชใหม่ก็มักจะเป็นบทความที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มหรือสิ่งที่จะเกิดในปีใหม่นี้ ดังนั้นเปิดปีใหม่ขึ้นมาผมเลยขอนำเสนอถึงแนวโน้มทางด้านนวัตกรรมที่น่าสนใจสำหรับปี 2554 กันครับ โดยเนื้อหาในสัปดาห์นี้ผมก็นำมาจากหลายๆ แหล่งครับ ทั้งวารสาร Harvard Business Review และจาก Blog ของนักคิดนักเขียนต่างๆ

ดูเหมือนว่าในปี 2554 นี้แนวคิดเรื่องของนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ก็ยังเป็นหัวใจสำคัญในด้านบริหารธุรกิจอยู่นะครับ เพียงแต่รูปแบบและวิธีการของการได้มาซึ่งนวัตกรรมอาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต แนวโน้มประการแรกที่น่าจะมาแรงในปี 2554 นี้น่าจะเป็นเรื่องของการประกวดหรือการแข่งขันครับ เนื่องจากพัฒนาการของเทคโนโลยีและการเปิดโอกาสในทุกๆ คนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หรือ มีส่วนร่วมในการคิด จึงทำให้องค์กรต่างๆ สามารถเปิดโอกาสให้ลูกค้าหรือประชาชนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินหรือแข่งขันกันครับ จริงๆ ท่านผู้อ่านนึกถึงบรรดา Reality Show ทั้งหลายในประเทศก็ได้ครับ ก็จะมีลักษณะคล้ายๆ กันนั้นคือ ใช้การแข่งขันและการลงคะแนนเสียงจากทางบ้านเพื่อหาศิลปินหรือนักร้องสำหรับแต่ละค่ายเพลง

ถ้าท่านผู้อ่านนึกภาพไม่ออก แนะนำให้เข้าไปหา Google Demo Slam ดูครับ เป็นเว็บของ Google ที่เปิดโอกาสให้ทุกๆ คนสามารถนำเสนอหรือสาธิตการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในรูปแบบของวิดีโอสั้นๆ จากนั้นให้คนที่เปิดเข้าไปดูสามารถที่จะเลือกให้คะแนนกับการสาธิตที่ตนเองถูกใจได้ รูปแบบของ Google Demo Slam นั้นถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจในการสร้างหรือหานวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ผ่านทางการแข่งขันกันนะครับ หรือ แม้กระทั่งบริษัทรถยนตร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota ที่จัดกิจกรรม Ideas for Good ขึ้นมา โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเลือกจากเทคโนโลยีของโตโยต้าห้าประการ แล้วนำมาผสมผสานแนวคิดของตนเองขึ้นมา เพื่อเอาเทคโนโลยีดังกล่าวไปก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานระหว่าง Innovation + CSR เลยครับ นั้นคือแทนที่จะคิดเอง ซึ่งอาจจะคิดอยู่ในกรอบเดิมๆ ก็เปิดโอกาสให้คนทั่วโลกที่สนใจได้ลองเสนอแนวคิดว่าจะนำเทคโนโลยีของตนเองไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างไร เพื่อที่จะได้ไอเดียใหม่ๆ มากมาย แล้วก็เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้ลงคะแนนเสียง เพื่อคัดเลือกแนวคิดที่ดีที่สุดไปปรับใช้จริง

เราคงจะพบตัวอย่างของบริษัทอื่นๆ นะครับที่หันมาใช้การประกวด การแข่งขันเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งก็ถือเป็นวิธีการที่น่าสนใจนะครับ เนื่องจากแทนที่องค์กรจะต้องคิดเอง ก็ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการคิดมากขึ้น และอาจจะทำให้ได้แนวคิดใหม่ๆ มามากขึ้น

แนวโน้มที่สำคัญประการที่สองคือเรื่องของ Touch Screen ครับ ซึ่งแนวโน้มของจอสัมผัสนั้นเราเริ่มเห็นกันอย่างมากและชัดเจนตั้งแต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทั้งจาก iPad, iPhone และบรรดา Tablet ต่างๆ ที่ออกมา อย่างไรก็ดีสิ่งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เขามองกันก็คือในปีหน้าเราจะมีการนำเทคโนโลยีระบบจอสัมผัสนั้นมาใช้กันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการจัดทำเอกสารต่างๆ ดังนั้นในอนาคตอันใกล้การจัดทำเอกสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวารสาร หนังสือพิมพ์ หนังสือ หรือ บทความต่างๆ นอกเหนือจากจะทำออกมาในลักษณะของรูปเล่มปกติแล้ว ผู้ผลิตและผู้เขียนคงจะต้องคิดเผื่อสำหรับการอ่านในรูปแบบของจอสัมผัสมากขึ้นด้วยนะครับ

แนวโน้มที่สำคัญประการที่สามคือการนำเกมเข้ามาผสมผสานกับการทำงานมากขึ้น ท่านผู้อ่านคงพอทราบนะครับว่าการเล่นเกมนั้นส่งผลต่อความสามารถในการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมของคนในระดับหนึ่ง และปัจจุบันก็เริ่มมีงานวิจัยต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าการเล่นเกมนั้นส่งผลในด้านดีต่อพนักงานในองค์กรอย่างไร สิ่งที่เป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้ก็คือเราก็อาจจะมีเกมต่างๆ ที่นอกเหนือจากจะใช้สำหรับเล่นเพื่อผ่อนคลายแล้วยังเป็นกลไกในการฝึกหัดบุคลากรในลักษณะของ Simulation แนวคิดการเล่มเกมในองค์กรนั้นเขามีชื่อเรียกเหมือนกันครับว่าเป็น Enterprise Gaming และเป็นไปได้นะครับว่าในปีหน้าเราอาจจะมี Farmville สำหรับให้เล่นเพื่อพัฒนาบุคลากรในองค์กรก็ได้

แนวโน้มประการสุดท้ายท่ีน่าสนใจก็คือ ในยุคที่เราตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องของนวัตกรรมกันเป็นจำนวนมาก แทนที่องค์กรจะมุ่งเน้นในเรื่องของนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว ผู้บริหารควรจะมองอีกมุมหนึ่งนั้นคือในเรื่องของคุ้มค่าและประโยชน์ของนวัตกรรมที่เกิดขึ้น ผลของความตื่นตัวในเรื่องนวัตกรรมทำให้เรามีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาเต็มไปหมด แต่คำถามที่สำคัญก็คือเจ้านวัตกรรมที่เกิดขึ้นนั้นมีความคุ้มค่าและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรอย่างแท้จริงหรือไม่ ในปีหน้าเชื่อว่าความตื่นตัวในเรื่องของการวัดหรือประเมินผลในนวัตกรรมจะเพิ่มมากขึ้น องค์กรจะต้องพยายามหาทางในการวัดและประเมินนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่ของความคุ้มค่าและประโยชน์ที่ได้จากนวัตกรรม