18 January 2011

ในช่วงหลังที่กระแสเน็ตและสังคมออนไลน์มีมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ก็คือเราจะได้เห็นและเรียนรู้จากคำพูดเด็ดๆ หรือคำพูดคมๆ ของนักคิดหรือผู้มีชื่อเสียงต่างๆ มากขึ้น มีการนำคำพูดหรือประโยคเด็ดๆ เหล่านั้นมาโพสต์บนเน็ตหรือบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆมากขึ้น และถ้าสังเกตต่อดีๆ เราจะพบว่าถึงแม้คำพูดหรือประโยคเหล่านั้นจะสั้น ไม่ได้มีคำอธิบายที่ยาวเหยียด แต่เราก็สามารถที่จะเรียนรู้จากคำพูดเด็ดๆ เหล่านั้นได้ ซึ่งนั้นก็คือสิ่งที่ผมจะขอนำเสนอในสัปดาห์นี้ครับ

         เริ่มต้นที่ประโยคเด็ดๆ ที่เกี่ยวกับความเรียบง่าย หรือ Simple ครับ เนื่องในปัจจุบันที่สิ่งต่างๆรอบตัวเรามีความวุ่นวายและซับซ้อนมากขึ้น หลายคนชอบที่จะทำให้เรื่องง่ายๆ กลายเป็นเรื่องยาก ดังนั้นเราจะเห็นคำพูดเด็ดๆ จากนักคิดจำนวนมากที่เกี่ยวกับความเรียบง่ายโผล่ออกมามากขึ้น เริ่มจากปราชญ์โบราณอย่าง da Vinci ที่ระบุไว้อย่างน่าสนใจครับว่า ‘Simplicity is the ultimate sophistication’ หรือพอจะแปลเป็นไทยได้ว่าสุดยอดของความซับซ้อนคือความเรียบง่าย ซึ่งก็ดูเหมือนกับนิยายกำลังภายในจีนนะครับที่ว่า ‘สุดสูงคืนสู่สามัญ’ หรือ ‘ไร้กระบวนท่าคือกระบวนท่า ทุกสิ่งตามใจปราถนา’ คำพูดของ da Vinci ถือว่าน่าสนใจโดยเฉพาะสำหรับพวกที่ชอบทำอะไรให้ยุ่งยากและชอบความซับซ้อน คนเหล่านี้พอเห็นหรือฟังในสิ่งที่ดูง่ายๆ ก็มักจะคิดว่าสิ่งดังกล่าวไม่มีค่า บุคคลเหล่าจะมีความคิดอยู่ตลอดครับว่ายิ่งยุ่งยากซับซ้อนเท่าไรยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นเท่านั้น ขอยกเอาคำพูดอีกประโยคของไอน์สไตน์มาสนับสนุนครับ นั้นคือ ‘If you can’t explain it simply, you don’t understand it well enough’ บุคคลและบริษัทที่นำคำพูดของ da Vinci มาใช้จนเป็นสรณะก็คือ Steve Jobs และ Apple นั้นเองครับ

         คราวนี้ลองมาดูประโยคเด็ดจากไอน์สไตน์ที่เราสามารถนำไปปรับใช้ในเรื่องของการบริหารการเปลี่ยนแปลงบ้างครับ ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ครับว่า ‘The only sure way to avoid making mistakes is to have no new ideas’ ประโยคนี้ถือเป็นประโยคที่ไอน์สไตน์ประชดได้อย่างแสบดีครับ นั้นคือถ้าไม่อยากจะทำอะไรผิดพลาดก็ไม่ต้องคิดอะไรใหม่ เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆท่านก็น่าจะเคยเจอปัญหาของการที่เวลาคิดหรือนำเสนอสิ่งใดใหม่ก็มักจะได้รับคำถามหรือการต่อต้านจากหลายๆ คนว่าสิ่งใหม่ๆ ที่คิดหรือนำเสนอนั้นไม่ดีหรอไม่เหมาะสมเนื่องจากอาจจะผิดต่อ กฎ ระเบียบ ค่านิยม หรือ แนวทางปฎิบัติต่างๆ ที่เคยมีมา ดังนั้นไอนสไตน์จึงได้เสนอแกมประชดเลยครับว่าถ้าไม่อยากจะทำอะไรผิดก็ไม่ต้องคิดอะไรใหม่

         คราวนี้มาดูคำคมๆ จากทางฝั่งเอเซียบ้างนะครับ โดย Kensho Furuya ระบุไว้น่าสนใจครับว่า ‘There is no end to learning. When we feel that we have learned everything, it means that we have learned nothing.’ หรือพอจะแปลเป็นไทยได้ว่า การเรียนนั้นไม่มีวันสิ้นสุด เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกว่าได้เรียนรู้ในทุกสิ่ง แสดงว่าเราไม่ได้เรียนรู้สิ่งใดเลย ซึ่งเรื่องของการเรียนรู้นั้นก็เป็นสิ่งที่ทั้งผู้บริหารและองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญในปัจจุบัน สังเกตได้จากความตื่นตัวในเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้และการบริหารความรู้ ประโยคของ Furuya แสดงให้้เห็นไว้อย่างชัดเจนว่าคนเราจะต้องมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และเราไม่มีวันที่จะเรียนรู้ในทุกสิ่งทุกอย่างได้ครบถ้วน

         ประโยคเด็ดหนึ่งที่ผมชอบแต่ยังหาบุคคลแรกที่กล่าวประโยคนี้ไม่พบคือ ประโยคที่ว่า ‘Your lack of planning is not my emergency.’ หรือถ้าแปลเป็นไทยก็พอจะหมายความว่า การที่คุณขาดการวางแผนไม่ใช่เหตุที่ทำให้ผมจะต้องเร่ง สาเหตุที่ส่วนตัวแล้วชอบประโยคนี้มากเนื่องจากเวลาที่เราต้องทำงานร่ามกับผู้อื่น และการที่ผู้อื่นขาดการวางแผนการทำงานจนกระทั่งส่งผลทำให้งานล่าช้าหรือมีปัญหา ซึ่งสุดท้ายผู้อื่นก็จะมาขอให้เราเร่งหรือหาทางแก้ปัญหาให้ ซึ่งจริงๆ แล้วการที่ผู้อื่นขาดการวางแผนการทำงานที่ดี ย่อมไม่ควรจะเป็นสาเหตุให้เราต้องเร่งหรือมีปัญหาในการทำงานครับ

         ท่านผู้อ่านคงเห็นนะครับว่าประโยคสั้นๆ เพียงไม่กี่คำพูด แต่เมื่อเราวิเคราะห์และพิจารณาให้ดีแล้วจะเป็นข้อคิดในการทำงานและการบริหารที่ดีเลยครับ ก่อนจบขอฝากประชาสัมพันธ์หลักสูตรอบรมทางด้านการบริหารกลยุทธ์ที่ผมดูแลนะครับ ชื่อหลักสูตร Strategy Management Program ของจุฬาฯ โดยเป็นการอบรมเกี่ยวกับการบริหารกลยุทธ์อย่างครบวงจรจำนวน 60 ชั่วโมง ตั้งแต่การคิด การปฏิบัติ จนกระทั่งถึงเรื่องของความเสี่ยงทางกลยุทธ์ โดยจะจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไปครับ ท่านผู้อ่านที่สนใจก็สามารถสอบถามได้ที่ 02-218-5764 นะครับ