
21 January 2011
แนวโน้มที่สำคัญประการหนึ่งที่สังเกตเห็นในปัจจุบันก็คือการนำเอาเรื่องของอารมณ์หรือ Emotional ที่เราจะพบคำว่าอารมณ์หรือ Emotional แฝงอยู่กับสิ่งต่างๆ มากขึ้น ท่านผู้อ่านอาจจะเห็นคำว่า Emotional แฝงประกบอยู่กับคำต่างๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Emotional Marketing, Intelligence, Leadership, Eating, และ Shopping เป็นต้น ดังนั้นในสัปดาห์นี้ขอมาคุยกันดูนะครับว่า แนวโน้มในเรื่องของอารมณ์หรือ Emotional กับเรื่องต่างๆ นั้นเป็นอย่างไรบ้าง โดยขอนำเสนออารมณ์ในเรื่องต่างๆ เผื่อเป็นแนวคิดใหม่ๆ สำหรับท่านผู้อ่านนะครับ
เริ่มต้นด้วยสิ่งที่เราเห็นอย่างชัดเจนก่อนนะครับนั้นคือเรื่องของ Emotional Marketing ที่ในปัจจุบันองค์กรธุรกิจต่างๆ ได้ให้ความสนใจกับเรื่องของอารมณ์กันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการ ในอดีตนั้นสินค้าและบริการต่างๆ อาจจะแข่งกันที่เหตุผล การใช้งาน หรือ Function ต่างๆ กันมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของคุณภาพหรือราคา แต่ในช่วงหลังดูเหมือนว่าการแข่งขันในเรื่องของราคาหรือคุณภาพนั้นจะไม่แตกต่างกันมาก ทำให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มที่จะผสมผสานเรื่องของอารมณ์เข้าไปในตัวสินค้าหรือบริการมากขึ้น และเน้นขายที่ตัว Emotion กันมากขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็หนีไม่พ้นเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งแบบตั้งโต๊ะและแบบกระเป๋าหิ้ว ที่ในอดีตอาจจะเน้นแข่งขันกันที่สมรรถนะและราคา แต่พอปัจจุบันจะเห็นว่าเรื่องของการออกแบบและความสวยงามเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
จาก Emotional Marketing เข้าวกเข้าสู่ Emotional Eating หรือการกินตามอารมณ์ครับ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่คนในปัจจุบันเป็นกันเยอะมาก ผมเองก็รู้จักหลายคนที่มีลักษณะของ Emotional Eating นั้นคือแทนที่จะกินอาหารเพราะหิว แต่เป็นการกินเนื่องจากอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น ดีใจก็กิน เสียใจก็กิน เครียดก็กิน ว่างก็กิน ประชุมก็กิน ฯลฯ และเราจะพบนะครับว่าการกินตามอารมณ์นั้นเป็นบ่อเกิดสำคัญของความอ้วนหรือน้ำหนักที่เกิน เนื่องจากเราไม่ได้กินเพราะร่างกายเราต้องการ แต่เป็นการกินตามอารมณ์เสียมากกว่า แต่ก็มีบางคนบอกเหมือนกันนะครับว่าการกินตามอารมณ์นั้น ถือเป็นการบำบัดความทุกข์หรือความเครียด โดยอาศัยการกิน หรืออาจจะเรียกว่าเป็นโภชนาบำบัดก็ได้นะครับ
ต่อจาก Emotional Eating ก็ต้องตามมาด้วย Emotional Shopping หรือ บางครั้งอาจจะเรียกว่า Emotional Buying หรือ Emotional Spending ก็ได้ครับ เรื่องของการซื้อของตามอารมณ์นั้นก็เป็นกันเยอะพอสมควร โดยเฉพาะคนใกล้ตัว โดยแทนที่เราจะซื้อของตามความจำเป็น เรากลับจะซื้อของเพราะอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น หลายคนจะอยากซื้อของหรือใช้จ่ายเงินมากกว่าปกติในช่วงที่อารมณ์แปรปรวน ไม่ว่าจะเป็นดีใจ เสียใจ เครียด เป็นทุกข์ ฯลฯ เช่นเดียวกับการกินตามอารมณ์ครับ อาจจะมีบางท่านบอกว่าการซื้อของตามอารมณ์นั้นก็ถือเป็นการบำบัดทางอารมณ์ชนิดหนึ่งเหมือนกันครับ แต่ดูเหมือนไม่ว่าจะบำบัดโดยการกินหรือการซื้อของ ต่างก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อร่างกายและกระเป๋าเงินเราทั้งสิ้น
คราวนี้มาดูอารมณ์ (Emotional) ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกันบ้างนะครับ เริ่มจากเรื่องของความฉลาดทางอารมณ์หรือ Emotional Intelligence ที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการศึกษาและกล่าวถึงเรื่องนี้กันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ความสามารถในการประเมิน ทำความเข้าใจ และควบคุมอารมณ์ของตนเองได้กลายเป็นทักษะและความสามารถที่จำเป็นในการทำงานมากขึ้น นอกจากความฉลาดทางอารมณ์แล้วเราอาจจะเคยได้ยินคำว่า Emotional Leader หรือผู้นำตามอารมณ์เช่นเดียวกันครับ แต่ผู้นำทางอารมณ์นั้น ไม่ได้หมายถึงผู้นำที่มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ นะครับ แต่เป็นผู้นำที่มีความสามารถในการสร้างอารมณ์ร่วมในกลุ่มของทีมหรือผู้ใต้บังคับบัญชาได้ การสร้างอารมณ์ร่วมนั้นอาจจะอยู่ในรูปของการจูงใจ หรือ การทำให้ทุกคนเกิดความรู้สึกฮึกเฮิมอยากจะชนะก็ได้ ผมเองจะพบเห็นพวก Emotional Leader นั้นเยอะกีฬาประเภททีมต่างๆ ครับ
ได้มีโอกาสสอบถามเพื่อนๆ ทาง Facebook ถึงคำต่างๆ ที่ต่อจาก Emotional หรืออารมณ์ก็ได้ผลตอบรับกลับมาที่หลากหลายพอสมควรครับ และหลายๆ คำก็เป็นคำใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เริ่มตั้งแต่ Emotional Decision หรือ การตัดสินใจตามอารมณ์ โดยแทนที่จะตัดสินใจตามหลักเหตุผลกลับนำอารมณ์เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ หรือ Emotional Fighting ซึ่งคงจะแปลได้ว่าการต่อสู้ทางอารมณ์ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นการต่อสู้ทางอารมณ์กับตนเอง หรือ ต่อสู้ทางอารมณ์กับผู้อื่นเช่นเจ้านายตนเอง หรือ Emotional Incentive ซึ่งน่าจะหมายถึงการจูงใจที่ทำให้ผู้รับได้เห็นถึงคุณค่าที่อาจจะจับต้องไม่ได้มากกว่า
ท่านผู้อ่านคงพอจะเห็นได้นะครับว่าปัจจุบันเราได้ใช้คำว่าอารมณ์หรือ Emotional กันอย่างค่อนข้างฟุ่มเฟือยกันพอสมควร แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็อาจจะกล่าวได้ว่าเรากำลังอยู่ในยุคของอารมณ์หรือ Emotion เป็นหลัก การกระทำใดๆ หรือสิ่งใดๆ ก็ตามควรจะเน้นไปจับที่อารมณ์มากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากราคาและคุณภาพที่เราเคยพึ่งพาในอดีตนั้น แทบจะไม่สามารถสร้างความแตกต่างขึ้นมาได้ ดังนั้นตอนนี้จึงต้องพึ่งเรื่องของอารมณ์เป็นหลักนะครับ คำสุดท้ายที่อยากจะฝากทิ้งไว้คือ Emotional Management นั้นก็คือจากการที่เราเข้าสู่ยุคของอารมณ์กันมากขึ้น คงจะต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการอารมณ์กันมากขึ้น ทั้งการบริหารอารมณ์ตนเอง และอารมณ์ของผู้อื่น ไม่แน่นะครับว่าในไม่ช้าอาจจะมีศาสตร์ใหม่ที่เป็น Emotional Management เกิดขึ้นจริงๆ ก็ได้