
11 March 2011
สัปดาห์นี้เรากลับมาคุยกันเรื่องของภาวะผู้นำอีกครั้งหนึ่งนะครับ แต่จะไม่ได้เขียนถึงเรื่องของภาวะผู้นำที่ดีนะครับ แต่เป็นเรื่องของภาวะหรือคุณลักษณะของผู้นำที่ควรจะหลีกเลี่ยง เผื่อที่ท่านผู้อ่านจะได้พิจารณาดูว่าท่านเองในฐานะผู้นำ มีคุณลักษณะเหล่านี้หรือไม่ และควรจะหาทางหลีกเลี่ยงเสีย
คุณสมบัติของผู้นำประการแรกที่ควรจะหลีกเลี่ยงก็คือการให้ข้อมูลที่มากเกินไปหรือการรู้ข้อมูลที่มากเกินไป (จริงๆ คือการแสดงออกว่ารู้มากเกินไป) ถ้าท่านผู้อ่านเป็นผู้นำและแสดงออกว่าตนเองเป็นคนประเภทที่รู้ทุกเรื่อง (Know-it-all) คนรอบตัวท่านก็จะไม่กล้าที่จะแสงความคิดเห็น เนื่องจากถ้าเขาแสดงความคิดเห็นแล้ว ท่านก็จะแสดงความเห็นที่เหนือกว่าออกไป ซึ่งหลายครั้งที่เจ้านายแสดงความคิดเห็นที่ชาญฉลาดของตนเองออกไป นอกเหนือจากจะเป็นการหักหน้าลูกน้องแล้ว ยังทำให้คนอื่นไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเอง โดยทุกคนจะคอยแต่รอความเห็นจากเจ้านาย
ประการที่สองคือพยายามหลีกเลี่ยงจากคำว่า “แต่” หรือ “อย่างไรก็ตาม” เนื่องจากการใช้คำเหล่านี้ตลอดเวลาแสดงให้เห็นว่าท่านไม่เห็นด้วย เช่นคำว่า “ผมชอบความเห็นของคุณนะ แต่….” จริงๆ แล้วท่านอาจจะมีเจตนาที่จะไม่หักหน้าหรือพูดให้ดูอ่อนลงด้วยคำว่า “แต่” หรือ “อย่างไรก็ตาม” แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่นะครับ จะดูเหมือนกับลูบหลังแล้วตบหัวมากกว่า ยิ่งถ้าท่านใช้คำนี้บ่อยเท่าไรลูกน้องท่านก็จะยิ่งเดาทางท่านได้ ดังนั้นไม่ว่าจะคุยหรือชมอะไร ทุกคนก็จะคอยดักหรือคอยเดาว่าเมื่อไรคำพูด “แต่” หรือ “อย่างไรก็ตาม” จะออกมา
ประการที่สามคือการบอกเล่าถึงความสำเร็จหรือความเก่งของตนเอง ซึ่งจะพบเจอในผู้นำหลายท่านที่ประสบความสำเร็จ โดยจะชอบเล่าตำนานหรือเรื่องราวของความสำเร็จของตนเองในเรื่องต่างๆ ซึ่งหลายท่านอาจจะมองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะแบ่งปันเรื่องดีๆ ให้กับลูกน้องหรือบุคคลรอบข้าง แต่จริงๆ แล้วกลับเป็นการแสดงออกถึงปัญหาของตนเองที่จะต้องอาศัยเรื่องราวหรือคำบอกเล่าเพื่อเล่าถึงความเก่งหรือความสำเร็จของตนเอง ผู้นำที่เก่งหรือประสบความสำเร็จจริงๆ จะมีความมั่นใจในตนเองอยู่แล้ว และไม่ต้องอาศัยการโม้หรือพูดจาเพื่อแสดงออกถึงความเก่งของตนเอง
ประการที่สี่คือการสื่อสารหรือพูดคุยกับผู้อื่นในขณะที่ตนเองกำลังโกรธ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่คนจำนวนมากที่จะอารมณ์ขึ้นหรือมีอาการโกรธที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งการสื่อสารหรือพูดคุยกับผู้อื่นในขณะที่โกรธนั้น ถือเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดเลยครับ เนื่องจากส่ิงที่เราพูดออกไปในขณะที่กำลังโกรธนั้นอาจจะย้อนกลับมาทำร้ายเราได้ในภายหลัง ดังนั้นท่านผู้อ่านท่ีรู้ตัวว่าเป็นคนที่โกรธง่าย ก็ต้องอย่าไปพูดคุยหรือสื่อสารกับผู้อื่นในขณะที่กำลังโกรธนะครับ
ประการที่ห้าคือการไม่บอกข้อมูลที่เป็นประโยชน์่ต่อผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นไว้เป็นความลับหรือไม่เปิดเผยหรือบอกในสิ่งที่ควร ซึ่งจะทำให้บุคคลหรือลูกน้องผู้นั้น มีผลการดำเนินงานที่แย่ลง และยิ่งถ้าบุคคลผู้นั้นมาทราบข้อมูลภายหลังก็จะยิ่งทำให้ท่านในฐานะผู้นำสูญเสียความน่าเชื่อถือลงครับ ท่านผู้อ่านจะต้องคอยถามตนเองเสมอนะครับว่า ข้อมูลหรือความรู้อะไรบ้างที่ท่านมีและจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นได้อย่างไร
ประการที่หกคือการไม่ให้ความดีความชอบต่อความสำเร็จของงานต่อผู้อื่น หลายครั้งความสำเร็จของงานที่เกิดขึ้นได้นั้นไม่ได้มาจากผู้นำเพียงคนเดียว แต่มาจากคนจำนวนมาก และถ้าผู้นำลืมหรือไม่ได้ให้เกียรติหรือยกย่องผู้อื่นในความสำเร็จนั้น คนรอบข้างก็จะเห็นว่าท่านเป็นคนที่เอาแต่ความดีความชอบเข้าตัวและไม่เห็นในความสำคัญของบุคคลอื่น
ประการที่เจ็ดสืบเนื่องมาจากประการที่หกครับ นั้นคือ การเอาความดีความชอบในสิ่งที่ตนเองไม่ทำเข้าตัวครับ อ่านดูแล้วอาจจะแย่กว่าการไม่ยกย่องผู้อื่นด้วยซ้ำ เนื่องจากงานหรือความสำเร็จของงานบางประการ ไม่ได้เกิดขึ้นหรือมาจากตัวผู้นำ แต่ถ้าผู้นำพยายามเอาความดีนั้นเข้าตัวเอง ผู้นำนั้นก็เปรียบเหมือนเป็นขโมยด้วยซ้ำไปครับ เพียงแต่แทนที่จะขโมยของ จะเป็นการขโมยความดีความชอบแทนครับ
ประการที่แปดคือการแก้ตัว เหมือนกับสุภาษิตโบราณของไทยครับที่บอกว่า “คนดีชอบแก้ไข คน….ชอบแก้ตัว” ผู้นำที่ดีนั้นถ้าผิดก็ต้องยอมรับผิด และหาทางแก้ไขต่อข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่ถ้าผู้นำมัวแต่มาแก้ตัว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก้ตัวแบบพัลวัน) ก็จะทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถือครับ บางครั้งถ้ามีความเข้าใจผิดเกิดขึ้น ผู้นำก็สามารถที่จะอธิบายถึงเหตุผลและที่มาที่ไปได้ แต่ไม่ใช่การแก้ตัว ผมมองว่าการอธิบายถึงเหตุผลและหลักการนั้นแตกต่างจากการแก้ตัว จะสังเกตครับหลายคนยิ่งแก้ตัว ยิ่งชุลมุนวุ่นวายและทำให้ตนเองดูไม่ดีในสายตาผู้อื่น
ประการที่เก้าคือการไม่ฟังผู้อื่น ซึ่งดูเหมือนจะเป็นจุดอ่อนที่สำคัญสำหรับผู้นำหลายๆ ท่านที่เมื่อก้าวสู่ระดับสูงแล้ว จะไม่ฟังผู้อื่น (ไม่ว่าจะต้องสาเหตุใด) ซึ่งการไม่ฟังนั้นเป็นการส่งสัญญาณไปยังบุคคลรอบๆ ตัวเลยครับว่าท่านไม่ใส่ใจและไม่สนใจเขา ยึดแต่ความคิดตนเองเป็นหลัก ไม่สนใจท่ีจะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
ประการที่สิบ (สุดท้าย) คือการลงโทษผู้ส่งสาร ซึ่งผมเองก็พบเจอบ่อยครับ ลูกน้องบางคนอาจจะให้ข่าวร้ายหรือข่าวไม่ดีแก่ผู้บริหาร แต่แทนที่ผู้บริหารจะพยายามรับมือด้วยความสงบหรือใจเป็นกลาง กลับลงโทษหรือกล่าวโทษผู้ที่ให้ข้อมูลข่าวสารแทน ซึ่งนอกเหนือจากจะทำให้ผู้นำสูญเสียความน่าเชื่อถือแล้ว ยังทำให้คนในองค์กรไม่กล้าที่จะส่ื่อสารหรือส่งสัญญาณต่อไป เนื่องจากถ้าใครบอกข่าวไม่ดีออกมาตัวเองก็จะซวย
สิบประการข้างต้นคือพฤติกรรมหรือคุณลักษณะที่ควรจะต้องหลีกเลี่ยงสำหรับท่านผู้นำทุกท่านนะครับ