
7 January 2011
คงยังไม่สายนะครับที่จะเขียนถึงสิ่งที่ท่านตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะทำสำหรับปีใหม่นี้ เนื่องจากพอถึงช่วงสิ้นปีและย่างเข้าปีใหม่แต่ละปี นอกเหนือจากคำอำนวยพรต่างๆ ที่มีให้ต่อกันแล้ว เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะมีความตั้งใจหรือมุ่งมั่นที่จะทำอะไรใหม่สำหรับปีใหม่ ท่านผู้อ่านคงจะเคยตั้งใจที่จะริเริ่มหรือทำสิ่งใดใหม่สำหรับปีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำตัวเป็นคนดี การลดน้ำหนัก การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การตั้งใจเรียน ตั้งใจอ่านหนังสือ ฯลฯ และเชื่อว่าโดยส่วนใหญ่แล้วความตั้งใจและมุ่งมั่นดังกล่าวจะคงอยู่หลังปีใหม่ฝรั่ง ไปได้จนถึงปีใหม่จีน และปีใหม่ไทย แต่หลังจากนั้นแล้วความตั้งใจและมุ่งมั่นดังกล่าวก็จะค่อยๆ จางหายไป ก็เลยน่าสนใจนะครับว่าเกิดอะไรขึ้นกับบรรดาความมุ่งมั่นและตั้งใจที่เราตั้งไว้
ก่อนอื่นเรามาดูกันหน่อยนะครับว่าโดยส่วนใหญ่แล้วอะไรคือความตั้งใจหรือมุ่งมั่นยอดนิยมในปีที่ผ่านมา ผมเองก็ลองรวบรวมมาจากหลายๆ แหล่ง ท่านผู้อ่านลองดูนะครับว่าตรงกับของท่านบ้างไหม อันดับแรกๆ ก็หนีไม่พ้นเรื่องของการลดน้ำหนัก การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การประหยัดอดออม ลดหรือหยุดการสูบบุหรี่ สุรา การอ่านหนังสือมากขึ้น การเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ การช่วยเหลือผู้อื่นหรือทำบุญมากขึ้น การทำตัวเป็นคนดีขึ้น ฯลฯ
อย่างไรก็ดีโดยส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่เรามุ่งมั่นหรือตั้งใจนั้น เมื่อเลยช่วงปีใหม่ไปแล้ว สิ่งที่เราตั้งใจก็มักจะค่อยๆ จางหายไปกับกาลเวลา เมื่อนึกเปรียบเทียบกับการบริหารองค์กรแล้วก็เหมือนกับพฤติกรรมที่องค์กรจำนวนมากเป็นกันนะครับ นั้นคือเมื่อองค์กรมีการกำหนดวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายต่างๆ แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การบรรลุในสิ่งที่ตั้งใจไว้ เหมือนกับเราตั้งความมุ่งหวังในช่วงปีใหม่แต่พอเลยปีใหม่มาแล้วเราก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นไปตามความตั้งใจที่ตั้งไว้ในช่วงปีใหม่
การไม่ทำตามสิ่งที่เราควรจะทำหรือตั้งใจไว้นั้น มักจะเชื่อมโยงกับเรื่องของการผลัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งเป็นโรคร้ายที่สำคัญที่เราเป็นกันโดยไม่รู้ตัว การผลัดวันประกันพรุ่งทำให้เราไม่สามารถทำงานต่างๆ ที่เราควรจะทำหรือตั้งใจไว้ให้สำเร็จลงได้ มีความพยายามทั้งจากนักเศรษฐศาสตร์ นักปรัชญา นักสังคมศาสตร์ ฯลฯ ในการศึกษาเกี่ยวกับปรากฎการณ์นี้ มีนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งบอกว่าเรื่องของการผลัดวันประกันพรุ่งนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ ในขณะเดียวกันศาสตรจารย์ทางด้านบริหารธุรกิจศึกษาและพบว่าจำนวนคนที่ยอมรับว่าตนเองมีปัญหากับเรื่องของการผลัดวันประกันพรุ่งเพิ่มมากขึ้นถึงสี่เท่านับจากปี 1978 – 2002 นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะศึกษาผลกระทบของการผลัดวันประกันพรุ่งในหลายๆ ด้านและมีการค้นพบที่น่าสนใจนะครับ ตั้งแต่การค้นพบว่าร้อยละ 70 ของผู้ที่ป่วยเป็นต้อหินและมีความเสี่ยงที่จะตาบอดนั้นเกิดขึ้นจากการ มาจากการที่ผู้ป่วยมัวแต่ผลัดวันประกันพรุ่งและไม่มีการหยอดตาอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ปัญหาที่บริษัท General Motors ประสบและทำให้บริษัทถึงขั้นของการล้มละลายนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากการที่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไม่ยอมตัดสินใจในปัญหาที่เกิดขึ้น มีการผลัดวันประกันพรุ่งการตัดสินใจที่สำคัญทางธุรกิจที่ส่งผลต่อความอยู่รอดหรือล้มเหลวของบริษัท
สำหรับพวกนักปรัชญานั้นก็มองว่าการผลัดวันประกันพรุ่งเป็นเรื่องของจิตใจและการเลือกของมนุษย์เรา โดยสาเหตุที่เราผลัดวันประกันพรุ่งนั้นก็เกิดขึ้นเนื่องจากเราต้องการหลีกเลี่ยงในสิ่งที่เราไม่อยากหรือไม่ชอบทำ และทำแต่เฉพาะในส่ิงที่เราชอบหรือเราอยาก ซึ่งมุมมองของนักปรัชญาก็น่าสนใจนะครับ เพราะเมื่อมาเทียบกับสิ่งที่เรามุ่งมั่นหรือตั้งใจไว้ในช่วงปีใหม่ แต่พอถึงเวลาปฏิบัติจริงเรามักจะมีการผลัดวันที่จะทำไปก่อน เช่น บางท่านอาจจะตั้งใจไว้ว่าปี 2554 นี้จะเริ่มลดน้ำหนักและออกกำลังกาย แต่พอเริ่มเข้าปีใหม่ และมีการกินเลี้ยงสังสรรค์มากขึ้น เราก็มักจะอ้างกับตัวเองว่า “เอาไว้พรุ่งนี้ค่อยลด” สุดท้ายพรุ่งนี้ก็จะไม่เคยมาถึง ซึ่งเมื่ออิงกับแนวคิดของนักปรัชญาแล้ว แสดงว่าสิ่งที่เราผลัดวันประกันพรุ่ง นั้นคือ การลดน้ำหนัก กินให้้น้อย การออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่เราไม่อยากทำ ดังนั้นเราจึงผลัดวันไปเรื่อยๆ ซึ่งก็นำไปสู่คำถามที่น่าสนใจนะครับว่า ถ้าเราไม่อยากทำและคอยแต่ผลัดวันประกันพรุ่งแล้ว เราจะตั้งความมุ่งมั่นในช่วงปีใหม่ไว้ทำไม??
นักปรัชญาบางท่านยังเสริมต่อนะครับว่าการที่เรามีการผลัดวันประกันพรุ่งอยู่เป็นประจำนั้น นอกเหนือจากจะแสดงให้เห็นถึงการขาดวินัยในตนเองแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งภายในแต่ละคนระหว่างความอยากกับความอ่อนแอภายในของแต่ละคน เช่น เมื่อขึ้นปีใหม่นั้น ผมอยากจะลดน้ำหนักและออกกำลังกายให้มากขึ้น ซึ่งก็เป็นเสมือนกับความอยากภายในตัวเรา แต่ความอ่อนแอภายในนั้นคือการแพ้ต่ออาหารที่อร่อยและความขี้เกียจในการออกกำลังกาย ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในตัวเอง และเมื่อเราขาดวินัยแล้ว ราก็มักจะพ่ายแพ้ต่อสิ่งที่เราชอบและนำไปสู่การผลัดวันประกันพรุ่ง
ถ้าเรามองในอีกมุมมองหนึ่งให้เปรียบเทียบกับการบริหารองค์กร ความขัดแย้งที่นำไปสู่การผลัดวันประกันพรุ่งนั้นก็เสมือนกับความขัดแย้งที่มักจะพบระหว่างการมุ่งสู่เป้าหมายระยะสั้นกับเป้าหมายระยะยาว โดยเมื่อคิดเปรียบเทียบอ้างอิงแล้ว จะพบว่าความต้ังใจอยากจะผอม อยากจะออกกำลังกายก็เปรียบเสมือนเป็นเป้าหมายระยะยาว ในขณะที่ความอยากกินอาหารและอยากนอน (ไม่ออกกำลังกาย) นั้นเป็นเป้าหมายระยะสั้น และเหมือนกับผู้บริหารองค์กรทั่วไปที่เราจะมุ่งเน้นต่อเป้าหมายระยะสั้นมากกว่าเป้าหมายระยะยาว ซึ่งก็ทำให้เกิดการผลัดวันประกันพรุ่งหรือการยืดหรือขยายเป้าหมายระยะยาว ให้ยาวออกไปเรื่อยๆ
หวังว่าในปีใหม่ท่านผู้อ่านคงสามารถทำตามความตั้งใจหรือความมุ่งมั่นที่ตั้งใจไว้ในช่วงปีใหม่นะครับ สำหรับท่านที่มุ่งมั่นในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ผมมีหลักสูตรอบรม Strategy Management Program ของจุฬาฯ ที่ตนเองเป็นคนดูแลมานำเสนอนะครับ โดยเป็นการอบรมเกี่ยวกับการบริหารกลยุทธ์อย่างครบวงจรจำนวน 60 ชั่วโมง ตั้งแต่การคิด การปฏิบัติ จนกระทั่งถึงเรื่องของความเสี่ยงทางกลยุทธ์ โดยจะจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไปครับ ท่านผู้อ่านที่สนใจก็สามารถสอบถามได้ที่ 02-218-5764 นะครับ