
10 February 2011
คำถามหนึ่งที่ผมมีอยู่ในใจมานานแล้วก็คือหลักสูตรและเนื้อหาวิชาการต่างๆ ที่เราสอนกันทางด้านบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตร MBA นั้น ส่วนใหญ่เราจะนำมาจากตำราต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศตะวันตก ดังนั้นสิ่งที่ผู้เรียนได้ศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ของไทยนั้น จะมีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยเพียงใด? จริงอยู่นะครับที่นอกเหนือจากทำธุรกิจในประเทศแล้ว เรายังต้องพัฒนาผู้เรียนของเราให้เป็น Global Citizen ที่สามารถอาศัยอยู่และทำงานได้อย่างภาคภูมิใจในสังคมนานาชาติ แต่ก็ควรหรือไม่ ที่จะมีเนื้อหาทางด้านบริหารที่อยู่ภายในบริบทของสังคมไทยผสมผสานหรือเป็นส่วนหนึ่งด้วยหรือไม่? ในฐานะของคนสอนทางด้านบริหารธุรกิจคนหนึ่ง ผมก็มีคำถามดังกล่าวอยู่ในใจมานานพอสมควรและเมื่อสี่ปีที่แล้วก็ได้ทดลองนำรูปแบบการเรียนการสอน MBA ในอีกมิติหนึ่งมาทดลองใช้ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ซึ่งจากการลองถูกลองผิดมาตลอดสี่ปี ก็ทำให้ได้ประสบการณ์และอีกมิติหนึ่งของการสอนทางด้านบริหารธุรกิจ เลยอยากจะขอนำมาเสนอในสัปดาห์นี้ครับ
ปกติเวลานิสิตทำรายงานต่างๆ ก็มักจะหนีไม่พ้นการออกไปสัมภาษณ์บริษัทต่างๆ หรือการหาข้อมูลผ่านทางเน็ต แต่สี่ปีที่ผ่านมาผมได้ขอความร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดน่าน หรือ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ในการให้โอกาสนิสิต MBA ได้ลงพื้นที่โดยการไปอาศัยอยู่กับชาวบ้านและชุมชนต่างๆ และช่วยเหลือชาวบ้านและชุมชนในการพัฒนาธุรกิจที่เป็นธุรกิจชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือพัฒนาผลิตภัณฑ์จากชุมชน การออกแบบบรรจุภัณฑ์และตรายี่ห้อ การแสวงหาช่องทางการจำหน่าย การจัดทำแผนการตลาด ตลอดจนการจัดทำแผนธุรกิจสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน และเมื่อจัดทำแผนธุรกิจเหล่านี้เสร็จสิ้นก็ต้องมีการนำเสนอต่อทั้งนักวิชาการ ผู้บริหารของส่วนราชการ และตัวชาวบ้านและชุมชนที่ได้เข้าไปช่วยพัฒนา
กิจกรรมในลักษณะดังกล่าวบางคนอาจจะเรียกว่าเป็น CSR ของผู้ที่เรียนทางด้านบริหารธุรกิจ แต่ผมมองว่าเป็น Win-Win-Win ของทั้งสามฝ่ายที่เกี่ยวข้องเลยครับ ส่วนราชการที่ให้การสนับสนุนก็มีผู้รู้ทางด้านการบริหารเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านและชุมชนที่ตนเองดูแล ในขณะเดียวกันทางชุมชนและชาวบ้านก็ได้รับมุมมองและวิธีการคิดแบบใหม่ๆ ที่เป็นไปตามหลักวิชาการและเป็นระบบมากขึ้น ได้มีโอกาสสอบถามหลายๆ ชุมชนที่นิสิตได้ลงไปช่วย ทุกชุมชนต่างก็พอใจกับผลที่ได้รับในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป และที่สำคัญที่สุดก็คือตัวนิสิตเองก็ได้รับประโยชน์และประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้จากการสอนหรือตำราในห้องเรียนครับ
เริ่มจากการได้นำหลักการ ทฤษฎี และความรู้ต่างๆ ที่เรียนในห้องเรียน ไปใช้ในทางปฎิบัติจริงๆ ซึ่งทำให้นิสิตเหล่านี้พบว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เรียนในห้องเรียนแล้วพอจะนำไปใช้จริงๆ ต้องมีการปรับให้เข้ากับบริบทของชุมและสภาพแวดล้อมอยู่พอสมควร อีกทั้งนิสิตเองก็มีความรู้สึกว่าชาวบ้านและชุมชนได้ตั้งความหวังไว้ที่ตัวนิสิต ดังนั้นนิสิตย่อมพยายามอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือชุมชนต่างๆ และไม่ทำให้ชาวบ้านผิดหวัง
สำหรับบทเรียนที่สำคัญที่สุดที่นิสิตได้รับจากกิจกรรมในครั้งนี้ คือเรื่องของการนำแนวคิด ทฤษฎี และหลักวิชาการจากโลกตะวันตก มาปรับใช้ในบริบทของชนบทไทยครับ หลายๆ กลุ่มก่อนเข้าชุมชนก็ได้มีการทำการบ้าน หาข้อมูล สัมภาษณ์ผู้ประกอบการกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว (ตามแบบฉบับผู้เรียน MBA ที่ดี) แต่เมื่อลงพื้นที่ไปเจอชาวบ้าน นิสิตเหล่านั้นถึงกับตะลึงและอึ้งไปเหมือนกันครับ เนื่องจากสิ่งที่คิดไว้อย่างเต็มที่ตามการบ้านที่ทำมานั้น (เช่นบางกลุ่มจะนำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาวางขายตามห้างใหญ่ในเมือง หรือ ขายผ่าน e-Bay) กลับตรงกันข้ามกับความต้องการของชุมชนครับ หลายชุมชนที่นิสิตเข้าไปนั้นจะมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ทำนั้นก็ทำขึ้นมาเป็นงานอดิเรก ไม่ต้องการที่จะขายให้ได้จำนวนมาก หรือ ที่ทำอยู่นั้นก็เพียงพอต่อการดำรงชีวิต อีกทั้งผลิตภัณฑ์ชุมชนหลายประการที่ทำอยู่ก็แทบจะไม่พอขายในจังหวัดหรือชุมชนของตนเองอยู่แล้ว เรียกได้ว่าหลายกลุ่มที่คิดแบบ MBA พอไปเจอกับความเป็นอยู่และความต้องการที่พอเพียงของชาวบ้านและชุมชน ก็ชะงักและปรับกระบวนท่าใหม่กันไปพอควร
การเรียนรู้ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของนิสิตก็คือการที่จะต้องทำงานร่วมกับชาวบ้านและชุมชน ซึ่งผมมองว่าถือว่าเกิดการเรียนรู้ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ทางชุมชนก็ได้เรียนรู้หลักทางวิชาการต่างๆ (ปีที่แล้วมีนิสิตอยู่กลุ่มหนึ่งที่สอนชาวบ้านในการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาผสมเพื่อทำเป็นยาหม่องสูตรต่างๆ) จากนิสิต และในขณะเดียวกันนิสิตก็ได้เรียนรู้ในภูมิปัญญาท้องถิ่น และการดำรงชีวิตแบบพอเพียงของชาวบ้าน ทำให้เกิดความผูกพันระหว่างนิสิตที่ลงไปในพื้นที่และชุมชนต่างๆ หลายกลุ่มที่เมื่อจบโครงการแล้วก็ยังเข้าไปช่วย เข้าไปเยี่ยมในชุมชนที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ เกิดเป็นความผูกพันระหว่างกันที่ดี
ผมมองว่าการจัดกิจกรรมในลักษณะที่ได้นำเสนอมานั้นให้กับผู้ที่เรียนทางด้านบริหารธุรกิจ จะช่วยให้ผู้เรียนได้มีโลกทัศน์ที่กว้างและมีความเป็นไทยมากขึ้น แทนที่จะเรียนแต่กรณีศึกษาของ Google, Nokia, Steve Jobs, Wal-Mart ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตและแนวทางการทำธุรกิจของชุมชนต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย และที่สำคัญก็คือชุมชนเหล่านี้คือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ อีกทั้งยังได้ช่วยทำให้นิสิตรับรู้และรู้สึกถึงการได้นำสิ่งที่ตนเองมีความรู้ ความชำนาญ ไปช่วยเหลือต่อชุมชนที่อาจจะมีผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักวิชาการที่จะเข้าไปเกื้อหนุน