28 January 2011

ท่านผู้อ่านเคยสงสัยถึงรูปแบบและวิธีการคิดของบรรดาผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จบ้างไหมครับว่าคนเหล่านี้มีรูปแบบและวิธีการคิดที่แตกต่างจากบรรดาผู้บริหารมืออาชีพตามองค์กรชั้นนำต่างๆ หรือไม่ ในหลายกรณีที่บุคคลที่ประสบความสำเร็จในฐานะผู้บริหาร แต่เมื่อออกมาเป็นผู้ประกอบการเองกลับไม่ประสบความสำเร็จ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จเมื่อออกมาทำธุรกิจส่วนตัวแล้วกลับประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงน่าสนใจนะครับว่าวิธีการคิดของผู้ประกอบการกับผู้บริหารนั้นมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

มีงานศึกษาของ Saras Sarasvathy ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัย Virginia ได้ทำการวิจัยเชิงทดลองเพื่อสำรวจหาวิธีการคิดของผู้ประกอบการกับผู้บริหาร โดยเชิญทั้งผู้ประกอบการและผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จมาร่วมในการวิจัยครั้งนี้และพบถึงรูปแบบและวิธีการคิดที่แตกต่างของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จกับผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ โดยสรุปนั้นพบว่าผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จนั้นจะมีวิธีการคิดที่ค่อนข้างยืดหยุ่น มีการปรับสิ่งที่ทำให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ผู้ประกอบการนั้นจะไม่ได้เริ่มต้นที่การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน แต่จะประเมินจากศักยภาพและสิ่งที่ตนเองมี จากนั้นมีการตั้งเป้าหมายและปรับวิธีการทำงานเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในขณะที่ผู้บริหารนั้นจะเริ่มคิดจากการมีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน และพยายามหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดเพื่อช่วยนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบรรดาผู้ประกอบการต่างๆ จะทำงานโดยไม่ได้มีเป้าหมายนะครับ เพียงแต่เป้าหมายของผู้ประกอบการนั้นจะค่อนข้างกว้างและยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังพบอีกว่าผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ จะไม่ชอบการทำวิจัยตลาด การวางแผนที่ยืดยาว ผู้ประกอบการชอบที่จะลงมือทำหรือขายของทันทีมากกว่าการนั่งสำรวจและวางแผนที่ยืดยาวแบบที่องค์กรใหญ่ๆ ชอบทำกัน มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่สำรวจผู้ประกอบการกว่า 500 คนพบว่าร้อยละ 60 ของบรรดาผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีการวางแผนธุรกิจอย่างเป็นทางการก่อนที่จะเริ่มธุรกิจของตนเองขึ้นมา ในขณะที่มีเพียงแค่ร้อยละ 12 ที่มีการทำการสำรวจหรือวิจัยตลาด

สิ่งที่น่าสนใจก็คือมีผู้ประกอบการท่านหนึ่งในการวิจัยที่ถึงกับระบุเลยว่าเขาไม่เชื่อในการทำวิจัยตลาด แทนที่จะมัวแต่สอบถามถึงความต้องการหรือความรู้สึกของลูกค้า ผู้ประกอบการท่านนั้นมีความเชื่อว่าให้เริ่มขายของให้กับลูกค้าเลย ซึ่งถึงแม้จะมีความเสี่ยงในความสำเร็จ แต่ก็ดีกว่าการที่จะมัวแต่นั่งวิจัยและวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ

สำหรับผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จนั้นเขาจะมีมุมมองที่แตกต่างจากผู้ประกอบการครับ ผู้บริหารทั้งหลายจะคิดตามรูปแบบปกติที่เราคุ้นเคยกันครับ นั้นคือจะมีการตั้งเป้าหมายในเรื่องต่างๆ อย่างชัดเจน และมีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม จากนั้นก็จะมีการตัดสินใจด้วยหลักการและเหตุผลในแบบที่เราคุ้นเคย

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือผู้ประกอบการท่านหนึ่งได้เปรียบเทียบวิธีการคิดของผู้ประกอบการไว้อย่างชัดเจนเลยครับว่าจะเป็นประเภท “ระวัง ยิง เล็ง” เหมือนกับการยิงปืนที่แทนที่จะเล็งแล้วค่อยยิง กลับจะยิงก่อนแล้วค่อยเล็ง แสดงให้เห็นถึงวิธีการคิดของคนเหล่านี้ว่าเมื่อคิดและมองเห็นโอกาสแล้ว ก็จะทำเลย ไม่ใช่มัวแต่เล็งหรือเก็บข้อมูลต่างๆ อยู่ ในขณะที่ถ้ามัวแต่ “ระวัง เล็ง เล็ง เล็ง” ซึ่งเปรียบเสมือนกับเมื่อคิดในทางธุรกิจได้แล้ว ก็เปรียบเสมือกับการมัวแต่เก็บข้อมูลต่างๆ อยู่ แต่ไม่ยอมตัดสินใจเสียที ก็จะไม่มีทางได้รู้เลยว่าสิ่งที่คิดได้สามารถทำได้หรือไม่ ผู้ประกอบการเขามีความเชื่อว่า เมื่อคิดอะไรได้แล้ว และคิดว่าสิ่งที่คิดได้นั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จ ก็ควรจะลงมือทำไปเลย เพื่อที่จะได้รู้ว่าสิ่งที่คิดนั้นสามารถทำได้หรือไม่

อีกข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจก็คือรูปแบบและวิธีการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการจะอาศัยหรือพึ่งพาลูกค้าเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญในการตัดสินใจ เพียงแต่ผู้ประกอบการเหล่านี้จะไม่ได้เน้นการสำรวจหรือทำวิจัยตลาดเพื่อหาข้อมูลจากลูกค้า แต่ผู้ประกอบการจะชอบที่จะสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าในขณะที่กำลังทำงานหรือมีปฏิสัมพันธ์ และนำเอาสิ่งที่ได้จากลูกค้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการทำธุรกิจ ในขณะที่ผู้บริหารนั้นจะยังชอบรูปแบบการเก็บข้อมูลลูกค้าด้วยวิธีการปกติ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Focus-group หรือการสัมภาษณ์ ผู้บริหารท่านหนึ่งบอกเลยครับว่าตนเองชอบฟังลูกค้าพูดไปเรื่อยๆ และคอยพัฒนารูปแบบธุรกิจหรือความคิดจากสิ่งที่ได้รับฟัง แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารนั้นชอบที่จะเก็บข้อมูลลูกค้าโดยการทำวิจัยและการรับฟัง ในขณะที่ผู้ประกอบการกลับชอบที่จะสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าเป็นสำคัญ

ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องของคู่แข่งขันครับ ผู้บริหารนั้นจะให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งขันและมีการเฝ้าติดตามคู่แข่งขันอยู่เป็นประจำ ในขณะที่ผู้ประกอบการนั้นกลับมองต่างกัน ผู้ประกอบการมองว่าคู่แข่งนั้นเป็นเรื่องรองลงไป ผู้ประกอบการบางท่านบอกว่าอย่าไปคิดเรื่องของคู่แข่งขัน ให้ทำงานของตนเองให้ดีที่สุด มีอยู่กรณีหนึ่งที่ผู้ประกอบการได้มอบแผนการดำเนินงานขององค์กรให้กับพนักงานทุกคน ซึ่งก็มีข้อสงสัยเกิดขึ้นว่าการมอบแผนการดำเนินงานให้กับพนักงานทุกนั้น ไม่กลัวว่าคู่แข่งได้จะข้อมูลทางการค้าไปหรือ? สิ่งที่ผู้ประกอบการท่านนั้นตอบกลับมาน่าสนใจมากครับ นั้นคือ การที่พนักงานไม่รู้ว่าตนเองจะต้องทำอะไรบ้าง เป็นสิ่งที่น่าเสี่ยงและน่ากลัวมากกว่าการทำให้คู่แข่งรู้้ข้อมูล เพราะสุดท้ายแล้วคู่แข่งย่อมสามารถหาวิธีการที่จะหาข้อมูลจนได้ แต่ถ้าพนักงานไม่รู้ว่าบริษัทกำลังไปในทิศทางไหนและตนเองจะต้องทำอะไรแล้ว ถือว่าเป็นลางของความหายนะจริงๆ

ถือว่าน่าสนใจนะครับถึงวิธีการคิดที่แตกต่างระหว่างผู้บริหารมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จกับผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ประเด็นที่น่าสนใจต่อมาก็คือผู้ประกอบการชาวไทยนั้นจะมีรูปแบบและวิธีการคิดที่แตกต่างจากผู้ประกอบการของอเมริกาหรือไม่?