3 December 2010

บทความฉบับนี้เป็นฉบับที่ 418 ที่ผมเขียนให้กับกรุงเทพธุรกิจ แต่ 417 ฉบับที่ผ่านมาผมยังไม่เคยได้เขียนถึง “มองมุมใหม่” ซึ่งเป็นชื่อหัวคอลัมภ์นี้เลย เข้าใจว่าหัวคอลัมภ์นี้จะมีมานานกว่าแปดปีที่ผมเริ่มเขียนให้กับกรุงเทพธุรกิจ แต่ก็ต้องยอมรับนะครับว่าผู้ที่คิดชื่อ “มองมุมใหม่” นั้นคิดได้ยาวไกลมาก เนื่องจากปัจจุบันในยุคของนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการมองมุมใหม่กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เราได้มาซึ่งแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ ปัญหาสำคัญที่ทำให้องค์กรที่ประกาศตัวว่าให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม แต่กลับไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมาภายในองค์กรได้นั้น สืบเนื่องจากทั้งผู้บริหารและพนักงานยัง “มองมุมเดิม” กันอยู่ครับ การมองมุมใหม่นั้นเปรียบเสมือนการมองสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเราผ่านเลนส์ใหม่ ที่ทำให้เห็นข้อมูลหรือสิ่งเดิมๆ แต่เห็นด้วยมุมมองหรือแนวคิดใหม่ๆ

การจะมองมุมใหม่ได้นั้นสามารถทำได้ด้วยหลายวิธีการครับ วิธีการหนึ่งที่อยากจะนำมาแนะนำท่านผู้อ่านในสัปดาห์นี้คือการท้าทายต่อสิ่งเดิมๆ ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากการทำงานในทุกองค์กรทุกระดับปัจจุบัน จะมีแนวคิด รูปแบบ และวิธีการต่างๆ ที่เราทำการมานานจนกลายเป็นธรรมเนียมปฎิบัติหรือสิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การที่เรามัวแต่ไปยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งที่เราเคยประพฤติปฎิบัติกันมานาน กลับกลายเป็นสิ่งที่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ผมเองก็เคยพบเจอประสบการณ์หลายครั้งที่พอเสนอสิ่งใหม่ๆ ก็มักจะมีข้อท้วงติงว่าไม่ควรหรือไม่เหมาะที่จะทำ เนื่องจากผิดหลักการและแนวทางปฎิบัติที่ทำกันมานาน ซึ่งก็ทำให้เกิดข้อสรุปได้นะครับว่า ถ้าเราไม่อยากจะทำอะไรผิดพลาด หรือแตกต่างจากแนวทางปฏิบัติเดิมๆ นั้น เราก็คงไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำอะไรใหม่เลยจะดีกว่า

แนวคิดและวิธีการปฏิบัติเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นในระดับอุตสาหกรรมหรือองค์กรกลับกลายเป็นสิ่งที่ปิดกั้นไม่ให้ผู้บริหารและบุคลากรในองค์กรสามารถมีมุมมองใหม่ๆ ได้ สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือผิดนะครับ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นกรอบให้เกิดความเข้าใจที่ร่วมกันในการปฏิบัติงานภายในองค์กร แต่ปัญหาก็มักจะเกิดขึ้นเมื่อแนวปฏิบัติเดิมๆ นั้นเริ่มก่อให้เกิดปัญหาและกลายเป็นสิ่งปิดกั้นมุมมองใหม่ๆ

มีข้อเสนอแนะหลายประการครับสำหรับการมองมุมใหม่ด้วยการไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติเดิมๆ และทำให้เราสามารถมองเห็นมุมใหม่ๆ ครับ ประการแรกคือการไม่ต้องปฏิบัติตามผู้นำครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขันในทางธุรกิจ ถ้าองค์กรมัวแต่ทำตามสิ่งที่ผู้นำอุตสาหกรรมทำนั้น องค์กรก็จะไม่สามารถที่จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้ การจะมองมุมใหม่ได้นั้นเริ่มต้นจากการไม่ปฏิบัติตามผู้นำครับ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีของกูเกิ้ล ซึ่งความสำเร็จของกูเกิ้ลนั้นเกิดขึ้นได้จากการไม่ตามแนวทางการพัฒนา การหารายได้ และการจัดจำหน่ายซอฟแวร์ของผู้นำตลาดในขณะนั้นอย่าง Microsoft แต่กลับสามารถสร้างสรรค์แนวทางของตนเองขึ้นมาได้ นอกเหนือจากจะไม่ทำตามผู้นำตลาดแล้ว อีกแนวทางหนึ่งคือทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่คนอื่นเขาทำอยู่เลยครับ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของแต่ละอุตสหกรรมมักจะยึดติดกับรูปแบบและปัจจัยแห่งความสำเร็จแบบเดิมๆ คำถามก็คือ ทำไมองค์กรจะต้องดำเนินรอยตามปัจจัยแห่งความสำเร็จเหล่านั้นด้วย? เช่นในธุรกิจค้าปลีกนั้นส่วนใหญ่ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญคือความสะดวกและความคุ้มค่า แต่ร้าน Whole Foods ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ประสบความสำเร็จในอเมริกากลับใช้กลยุทธ์ที่ตรงข้ามกันเลยครับ นั้นคือ เน้นสุขภาพและมาจากแหล่งกำเนิดจริง โดยราคาของสินค้าใน Whole Foods นั้นจะค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับที่อื่น แต่มั่นใจได้ว่าของนั้นสดและมาจากแหล่งผลิตโดยตรง

การจะมองมุมใหม่ด้วยการท้าทายต่อแนวคิดเดิมๆ นั้นต้องเริ่มต้นจากการตั้งคำถามครับ และคำถามบางคำถามนั้นก็ดูเหมือนจะเป็นคำถามโง่ๆ แต่ก็ต้องถามครับ เช่น ผมอาจจะถามแบบโง่ๆ ว่าทำไมโรงหนังต้องมีการกำหนดที่นั่ง? ทำไมตั๋วต้องตั้งราคาตามที่นั่ง? หรือ ทำไมเวลาอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ ข่าวนั้นถึงไม่สามารถจบในหน้าเดียว ต้องพลิกไปอ่านต่อในหน้าอื่น? การถามคำถามโง่ๆ นั้น ถ้าผู้ฟังเปิดใจให้กว้างและยอมรับในมุมมองใหม่ๆ ได้ จะทำให้เป็นโอกาสในการพัฒนาและคิดค้นต่อสิ่งใหม่ๆ ได้พอสมควรเลยครับ แต่ที่สำคัญคือต้องเปิดใจรับนะครับ ไม่อย่างงั้นแทนที่คำถามโง่ๆ เหล่านั้นจะกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมุมมองใหม่ กลับกลายเป็นการสร้างเกราะกำบังต่อการเปลี่ยนแปลงแทน

นอกจากการถามคำถามโง่ๆ แล้ว อีกแนวทางหนึ่งในการมองมุมใหม่ก็คือพยายามหาสิ่งที่ทำให้ลูกค้ารำคาญ ไม่ชอบ ไม่สะดวกสบาย ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันกลับแลกมาซึ่งความสะดวกสบายขององค์กรเอง ในหลายสถานการณ์ที่เราต้องไปรอเพื่อรับการบริการจากบริษัทต่างๆ แล้วพอถามว่าทำไมบริษัทต้องให้ลูกค้ารอ ทั้งๆ ที่มีช่องให้บริการอยู่หลายช่อง แต่เปิดให้บริการเพียงไม่กี่ช่อง ก็มักจะได้รับคำตอบในลักษณะของประโยชน์ของพนักงานและบริษัท ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของลูกค้า ทำให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าจะเป็นโอกาสในการคิดด้วยวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้ชีวิตลูกค้าสะดวกขึ้นได้ครับ

แนวทางสุดท้ายคือมองหาสถานการณ์ที่ลูกค้าต้องเลือกครับ เคยสงสัยบ้างไหมครับว่าทำไมลูกค้าต้องเลือก เช่น ต้องเลือกระหว่างคุณภาพกับราคา หรือ ต้องเลือกระหว่างความอร่อยกับสุขภาพ ทำไมลูกค้าไม่สามารถได้ทั้งสองอย่างที่ต้องการ?? การคิดในมุมมองของ “และ” แทนที่จะเป็นมุมมองของ “หรือ” ทำให้เรามองเห็นโอกาสใหม่ๆ ในการคิดได้นะครับ ผลิตภัณฑ์หลายตัวในปัจจุบันก็ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้าครับ เช่น น้ำอัดลมที่ไม่มีน้ำตาล หรือ กาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน หรือ เบียร์ที่ไม่มีอัลกอฮอล เป็นต้น

ท่านผู้อ่านลองนำแนวคิดต่างๆ เหล่านี้มาปรับใช้ดูนะครับ เผื่อจะทำให้เราได้เกิดมุมมองใหม่ๆ สมชื่อคอลัมภ์มองมุมใหม่บ้าง