17 December 2010

ถึงแม้ในปัจจุบันคำว่านวัตกรรมจะเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย (และสำหรับบางท่านอาจจะพร่ำเพรื่อ) แต่ผมยังพบอยู่ว่าเรายังมีความเข้าใจที่ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับนวัตกรรมกันพอสมควรครับ ดังนั้นในสัปดาห์นี้ผมเลยอยากจะมาลองปรับมุมมองใหม่เกี่ยวกับนวัตกรรมกันครับ

เริ่มต้นท่ีเวลาเรานึกถึงนวัตกรรมเรามักจะนึกเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี เชื่อมโยงกับการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ และนวัตกรรมมักจะออกมาอยู่ในรูปแบบของสินค้าและบริการใหม่ๆ ถ้าท่านผู้อ่านไปเปิดดูความหมายของนวัตกรรมจะพบว่านวัตกรรมหรือ Innovation นั้นถ้าแปลความหมายออกมาแล้วก็คือ “สิ่งใหม่” ดังนั้นนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องไปผูกติดกับเทคโนโลยี สินค้า หรือ บริการใหม่ๆ นวัตกรรมนั้นอาจจะเป็นรูปแบบ หรือ วิธีการทำงานใหม่ๆ ก็ได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวลำ้ขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสายการบินต้นทุนต่ำทั้งหลาย ซึ่งในเชิงวิชาการแล้วเราถือเป็น Business Model Innovation หรือเป็นนวัตกรรมในรูปแบบทางธุรกิจ จะเห็นได้ว่าตัวผลิตภัณ์ (เครื่องบิน) หรือ บริการของสายการบินต้นทุนต่ำนั้น ไม่ได้มีเทคโนโลยีหรือความใหม่ที่ก้าวล้ำกว่าสายการบินปกติธรรมดา แต่สิ่งที่ใหม่สำหรับสายการบินต้นทุนต่ำนั้นคือรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ที่แตกต่างหรือใหม่จากสายการบินปกติทั่วไป นอกเหนือจะแปลนวัตกรรมว่าเป็น สิ่งใหม่ แล้วผมขอฝากเพิ่มไปอีกข้อความหนึ่งด้วยนะครับ นั้นคือ “สิ่งใหม่ ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้”

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนประการที่สอง ซึ่งเชื่อมโยงกับประการแรก ก็คือ เรามักจะเข้าใจว่าเรื่องของนวัตกรรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและพัฒนาหรือ Research & Development ดังนั้นเมื่อนึกถึงคำว่านวัตกรรมทีไรก็มักจะเชื่อมโยงกับพวกวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ บุคคลในห้องปฏิบัติการ ฯลฯ และเมื่อถามว่าองค์กรให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมากน้อยเพียงใด ผู้บริหารก็มักจะอ้างอิงตัวเลขทางด้านวิจัยและพัฒนาขึ้นมา แต่จริงๆ แล้วมีงานวิจัย โดย Booz Allen ที่ออกมา และพบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาของบริษัทในสหรัฐกับความสำเร็จทางด้านธุรกิจต่างๆ และที่สำคัญท่านผู้อ่านลองเดาดูซิครับว่าในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาบริษัทไหนในสหรัฐที่มีการลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนามากที่สุด?? (เฉลยท้ายบทความนะครับ)

ความเข้าใจผิดประการที่สามคือในยุคของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเช่นในปัจจุบัน ทุกคนก็มักจะพยายามพัฒนาความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของตนเองขึ้นมาอย่างเต็มที่ และหวังว่าการที่เรามีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์และพัฒนาสิ่งใหม่ๆ มาได้นั้น จะช่วยนำไปสู่ความสำเร็จในวิชาชีพ แต่ผมเพิ่งไปค้นพบเจองานวิจัยชิ้นหนึ่งครับที่ผลการสำรวจนั้นออกมาขัดกับความเชื่อพื้นฐานข้างต้นเลย

มีงานวิจัยสามชิ้นจากสามสถาบันชั้นนำได้แก่ Cornell, Pennsylvania และ India School of Business ที่พบว่าถ้าใครก็ตามที่อยากจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูง คนผู้นั้นก็ไม่ควรจะแสดงออกถึงความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ให้มากนัก เนื่องจากพวกที่ชอบคิดสร้างสรรค์นั้นมักจะถูกมองว่าไม่มีหรือไม่พร้อมสำหรับการเป็นผู้นำ ทั้งนี้เนื่องจากความเชื่อและทัศนคติของเราครับ ที่มักจะคิดว่าพวกที่สร้างสรรค์หรือสามารถคิดอะไรใหม่ๆ ได้ นั้นเป็นพวกที่ไม่แน่นอน ไม่สามารถคาดเดาหรือ ไม่สามารถพยากรณ์ได้ หรือถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือเป็นพวกที่มีความเป็นศิลปินสูง ในขณะที่คนที่จะเป็นผู้นำได้นั้นควรจะมีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจพอสมควร และยิ่งในช่วงที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน หรือ ช่วงที่องค์กรอยู่ในช่วงภาวะวิกฤต คนส่วนใหญ่ชอบผู้นำที่สามารถทำให้พนักงานเกิดความมั่นคง และไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเท่าใด งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้มีการสำรวจพนักงาน 346 คนที่ทำงานในด้านที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และพบว่าในกลุ่ม 346 คนดังกล่าว มีเพียงไม่กี่คนที่ได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นผู้บริหาร

ผลจากรายงานวิจัยชิ้นดังกล่าวถือว่าน่าสนใจและน่าแปลกใจนะครับ ทั้งๆ ที่ในยุคปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม แต่พอมาถึงความก้าวหน้าในอาชีพและสายงานนั้น ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์มากๆ กลับไม่ได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูง ผมเองได้ลองนำเอาผลจากงานวิจัยดังกล่าวไปโพสต์บน Facebook แล้ว ปรากฎว่ามีเพื่อนฝูงหลายคนแสดงความคิดเห็นว่าองค์กรของเขาก็เป็นเหมือนกันครับ แสดงว่าในบางองค์กรในเมืองไทยก็เป็นเหมือนกัน นั้นคือผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์กลับไม่ได้รับการเลื่อนให้เป็นผู้บริหารระดับสูง

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอีกประการก็คือเรามักจะเข้าใจว่าเรื่องของนวัตกรรมนั้นจะต้องเกิดขึ้นจากภายในองค์กร ซึ่งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเรามักจะเชื่อมโยงเรื่องของนวัตกรรมกับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจริงๆ แล้วนวัตกรรมนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากภายในองค์กรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในปัจจุบันองค์กรที่ประสบความสำเร็จของนวัตกรรมเขาจะมองออกไปภายนอกองค์กรมากขึ้น โดยนวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากภายในองค์กร แต่อาจจะเกิดขึ้นจากความร่วมมือกับลูกค้า กับคู่ค้า กับ Suppliers หรือแม้กระทั่งกับคู่แข่ง ก็เป็นได้

สุดท้ายครับเรามักจะเข้าใจว่าเรื่องของนวัตกรรมคือเรื่องของการคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งใหม่ๆ แต่ผมมองว่านั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของสมการเท่านั้น ถ้าจะให้ครบถ้วนตามสมการที่ควรจะเป็นจริงๆ นั้นคือ Innovation = Ideas + Implementation โดยนอกเหนือจากการมีแนวคิดใหม่ๆ แล้ว จะต้องมีความสามารถในการนำแนวคิดนั้นไปปฏิบัติด้วย มิฉะนั้นปัญหาสำคัญสำหรับหลายๆ องค์กรก็คือนวัตกรรมนั้นคิดได้ แต่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้

ขอเฉลยก่อนจบนะครับ บริษัทที่มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนามากที่สุดของสหรัฐในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาคือ General Motors ครับ ส่วนผลประกอบการของ GM เป็นอย่างไร ท่านผู้อ่านคงทราบกันดีครับ