
29 October 2010
เวลาท่านผู้อ่านนึกถึง Facebook ท่านผู้อ่านนึกถึงอะไรบ้างครับ? เชื่อว่าคงหนีไม่พ้นเรื่องของ Social Media เกมส์ การติดต่อเพื่อนเก่าๆ ช่องทางในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ การดูดวง การบอกผู้อื่นถึงสถานะ อารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงที่อยู่ของตน การรู้เร่ื่องชาวบ้าน การโชว์รูป ฯลฯ ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านจะนึกถึง Facebook ในฐานะแหล่งหรือสถานที่ที่เราสามารถใช้หาความรู้ได้บ้างไหม? ผมเองในฐานะคนสอนหนังสือก็พยายามทำให้ Facebook ของตนเองเป็นแหล่งๆ หนึ่งที่ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาแสวงหาความรู้ในด้านต่างๆ ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เรื่องที่โพสต์นั้นก็รวบรวมมาจากแหล่งต่างๆ และเป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นสิ่งที่ผมสนใจเองด้วย ดังนั้นสัปดาห์นี้เลยขอนำเรื่องต่างๆ ที่ผมโพสต์บน Facebook และน่าจะเป็นประโยชน์มานำเสนอต่อท่านผู้อ่านนะครับ
เริ่มจากเรื่องล่าสุดครับนั้นคือในต่างประเทศนั้นเขามีการสอบถามบรรดานักวิชาการด้านภาวะผู้นำชื่อดังทั้งหลายในอเมริกาเพื่อให้เกรดหรือให้คะแนนแก่ประธานาธิบดีโอบามา ของสหรัฐในเรื่องของภาวะผู้นำ โดยจากมุมมองของนักวิชาการด้านภาวะผู้นำน้ัน ในเรื่องของ Vision, Execution, Result นั้น โอบามาจะได้เกรดอย่างไรบ้าง เท่าที่ดูนั้นมีเพียง Warren Bennis นักวิชาการชื่อดังจาก USC คนเดียวเท่านั้นที่ให้โอบามา A รวด ที่เหลือก็ให้เกรดกระจัดกระจายกันออกไป ส่วนใหญ่นั้นจะได้ B กับ C เยอะครับ แสดงว่านักวิชาการส่วนใหญ่เขาก็ยังไม่ได้ชื่นชมหรือยกย่องโอบามาในฐานะผู้นำมากนัก ก็น่าที่นักวิชาการด้านผู้นำของไทยจะลองให้เกรดผู้นำประเทศเราบ้างนะครับ (สนใจอ่านเพิ่มเติมเข้าไปดูได้ที่ http://poetsandquants.com )
เรื่องต่อไปเป็นเรื่องจาก MIT Sloan Review ครับ โดยเขาตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่มีการสำรวจหาความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติในการมองโลก กับระดับความเร็วในการได้งานของนักศึกษาระดับ MBA ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอเมริกา สิ่งที่พบคือพวกที่มีทัศนคติที่ดีหรือพวกที่มองโลกในแง่ดี จะสามารถหางานได้เร็วกว่าพวกที่ไม่มองโลกในแง่ดีเท่า และเป็นงานในลักษณะเดียวกันที่ไม่ด้อยกว่ากันด้วย นอกจากนี้ยังพบอีกนะครับว่าพวกที่มองโลกในแง่ดีกว่านั้น หลังจากเริ่มงานผ่านพ้นไปสองปี ก็จะมีโอกาสที่จะก้าวหน้าหรือเติบโตในอาชีพการงานได้รวดเร็วกว่ากลุ่มคนที่มองโลกไม่ดีเท่า (สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://sloanreview.mit.edu/improvisations/2010/10/20/optimists-get-jobs-more-easily-and-get-promoted-more-researchers-find/)
ข่าวที่น่าสนใจไม่นานมานี้ก็คือเรื่องที่บริษัท Tata Group ยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมของอินเดียที่บริจาคเงินให้กับ Harvard Business School ถึง $50 ล้านเหรียญ ซึ่งจำนวนเงิน $50 ล้านเหรียญนั้นเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดมูลค่าหนึ่งที่ HBS ได้รับ และที่น่าสนใจก็คือ Tata เองไม่ได้มีผู้บริหารที่จบจาก Harvard เลยครับ ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจนะครับ ว่าในต่างประเทศนั้นเวลาองค์กรเอกชนเขาจะบริจาคเงินนั้น เขาให้ความสำคัญกับการบริจาคให้กับสถาบันการศึกษาเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาบุคลากรของเขาต่อไปในอนาคต ในขณะที่ในประเทศไทยนั้นเวลาเอกชนคิดจะบริจาคเงินนั้น สถาบันการศึกษามักจะไม่ค่อยอยู่ในหัวของผู้บริหาร เนื่องจากอาจจะมองว่าสถาบันการศึกษามีเงินมากอยู่แล้ว แต่ถ้ามองในกรณีของ Tata ที่บริจาคให้ Harvard นั้น Harvard Business School ถือเป็นสถาบันการศึกษาที่รวยอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีคนบริจาคให้เขาอยู่ (สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://poetsandquants.com/2010/10/15/tata-gives-hbs-50-million-for-its-34th-building/)
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมแปะไว้บน Facebook คือบทความจากเว็บของ Harvard Business Review โดยเป็นบทความสัมภาษณ์ผู้บริหารท่านหนึ่งภายใต้ชื่อ “What not to spend your time on” ซึ่งปัญหาหนึ่งของผู้ที่เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรหลายแห่งก็คือ แทนที่จะทำงานที่ CEO ควรจะทำ กลับใช้เวลาไปทำงานในสิ่งที่คนที่เป็นลูกน้องควรจะทำ ผมเองก็พบเห็นมาหลายท่านแล้วครับ ที่ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งได้เนื่องจากมีความสามารถในการทำงานระดับปฏิบัติการได้ดี แต่เมื่อก้าวมาเป็นผู้บริหารสูงสุดแล้ว กลับไม่ละทิ้งหรือไม่ปล่อยวางต่องานที่ตัวเองเคยทำได้ดี เบอร์หนึ่งหลายๆ คนอาจจะ To-Do List ยาวเหยียด แต่สิ่งที่อยู่ใน List ดังกล่าวอาจจะไม่ใช่งานที่เบอร์หนึ่งควรจะทำแต่อย่างใด ดังนั้นจะเห็นเบอร์หนึ่งหลายๆ องค์กรใช้เวลาไปทำงานที่เบอร์สองหรือเบอร์สามสามารถทำได้ สิ่งที่เบอร์หนึ่งของทุกบริษัทควรจะถามตัวเองก็คือ อะไรคืองานหรือสิ่งที่เฉพาะเบอร์หนึ่งเท่านั้นสามารถทำได้ และควรจะมุ่งเน้นไปที่งานเหล่านั้นมากกว่าครับ เบอร์หนึ่งอาจจะต้องอดใจที่จะไม่ทำงานหลายอย่างที่สามารถมอบให้ลูกน้องทำได้ ถึงแม้ตัวเองจะทำงานนั้นได้ดีก็ตามครับ เพื่อให้ผู้ที่เป็นเบอร์หนึ่งสามารถใช้เวลาได้อย่างมีคุณค่าที่สุด (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://blogs.hbr.org/cs/2010/10/what_not_to_spend_your_time_on.html)
สัปดาห์นี้อยากจะจำลองให้ดูนะครับว่า Facebook สามารถให้ความรู้กับเราได้อย่างไรบ้าง ความรู้ที่ปรากฎใน Facebook นั้นจะไม่ใช่บทความยาวๆ แต่จะประกอบด้วยความรู้สั้นๆ ที่กระชับ แต่ถ้าต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถเชื่อมไปอ่านยังต้นฉบับได้ ดังนั้น ท่านผู้อ่านลองมอง Facebook ในอีกมุมมองหนึ่งนะครับว่า Facebook นั้น แทนที่จะใช้เพื่อความบันเทิง เราก็สามารถใช้เพื่อความรู้ได้ครับ