
15 October 2010
หัวเรื่องสัปดาห์นี้อาจจะดูโหดร้ายไปหน่อยนะครับ แต่ไม่ได้มีเจตนาใดๆ ท้ังสิ้นนะครับ เพียงแต่อยากจะนำเสนอมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับช่วงอายุของเรา ทั้งช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับการสร้างสรรค์งานใหม่ และช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับการเกษียณอายุ
ท่านผู้อ่านเคยสงสัยบ้างไหมครับว่าในช่วงอายุไหนของเราที่เหมาะที่จะสร้างสรรค์หรือคิดค้นผลงานใหม่ๆ หรือ ช่วงไหนที่จะเหมาะที่จะเกษียณตนเองจากการทำงาน? วันนี้ผมจะมาลองนำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ว่าเขาได้มีการศึกษาและค้นคว้าเพื่อหาว่าในช่วงอายุไหนของคนเราที่เหมาะสมที่จะทำงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม อีกทั้งช่วงอายุไหนที่จะเหมาะสำหรับการเกษียณตัวเองจากการทำงาน ซึ่งในประเด็นหลังก็มีข้อถกเถียงกันพอสมควรนะครับว่าเราควรจะเกษียณเร็วหรือเกษียณช้าดี และการเกษียณเร็วหรือเกษียณช้าจะส่งผลต่ออัตราการตายของเราหรือไม่
ในยุคปัจจุบันองค์กรต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ นักวิชาการต่างๆ ก็พยายามศึกษาหาแนวทางและวิธีการต่างๆ ในการกระตุ้นและส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กรเกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือในช่วงอายุไหนของคนเราที่สามารถสร้างสรรค์และคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ได้ดีที่สุด? มีการศึกษาชิ้นหนึ่งโดย Leo Esaki นักวิจัยรางวัลโนเบล ที่พยายามศึกษาว่าสำหรับนักคิดค้นต่างๆ ที่ได้รับรางวัลโนเบลนั้น สิ่งต่างๆ ที่คิดค้นขึ้นมาที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลนั้น จะเกิดขึ้นในช่วงอายุไหน สิ่งที่ Esaki ค้นพบก็คือสำหรับนักคิด นักวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่ได้รับรางวัลโนเบลนั้น การค้นพบของนักคิดเหล่านี้นั้นมักจะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยแล้วในช่วงอายุ 32 ปี ถึงแม้ว่าบุคคลคนนั้นจะได้รับรางวัลโนเบลหลังจากการค้นพบสิบถึงยี่สิบปี
จากข้อมูลดังกล่าวทำให้เราเห็นว่าช่วงอายุประมาณสามสิบปีบวกลบ จะเป็นช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกครับว่า เมื่อแต่ละคนผ่านพ้นช่วงที่เหมาะสมที่สุดไปแล้ว อายุมากขึ้น แต่ละคนจะมีประสบการณ์มากขึ้น แต่เมื่อประสบการณ์มากขึ้นแล้วระดับความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ก็จะลดลงด้วย ข้อมูลเหล่านี้น่าสนใจนะครับ โดยเฉพาะกับองค์กรต่างๆ ที่เน้นในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม กลุ่มบุคคลที่มีอายุประมาณสามสิบจะกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าสำหรับการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในองค์กร แต่ก็ต้องระวังไว้นิดหนึ่งนะครับว่าข้อสรุปเหล่านี้เป็นการศึกษามาจากผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลเป็นหลัก ไม่แน่ใจว่าสามารถนำไปใช้ในวิชาชีพอื่นๆ นอกเหนือจากงานวิชาการได้หรือไม่
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคืออายุเกษียณของเราครับว่าเราควรจะเกษียณเมื่อไรดี ผมเองไปเจองานสองชิ้นที่มีความเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอายุเกษียณกับความอายุยืนของเรา ลองมาดูกันนะครับ เผื่อเป็นแนวทางสำหรับการตัดสินใจ งานแรกเป็นของ Sing Lin ที่เขียนงานเรื่อง Optimum Strategies for Creativity and Longitivity โดยเขาได้ศึกษาจากเงินบำนาญหรือ Pension Fund ของบริษัทหลายๆ แห่งและพบว่าสำหรับผู้ที่ทำงานและเกษียณอายุที่อายุ 65 จะเสียชีวิตภายในสองปีนับจากเกษียณอายุ มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างอายุที่เกษียณกับอายุเฉลี่ยของการเสียชีวิต และพบข้อมูลที่น่าสนใจและตกใจครับ นั้นคือยิ่งเกษียณหรือเลิกทำงานได้เร็วเท่าไรอายุจะยิ่งยืนขึ้นเท่านั้น ผู้ที่เกษียณที่อายุ 49 จะมีอายุเฉลี่ยถึง 86 หลังจากนั้นยิ่งเกษียณช้าลงเท่าไร อายุเฉลี่ยก็จะสั้นลงยิ่งขึ้น ผู้ที่เกษียณที่อายุ 55 จะมีอายุเฉลี่ย 83.2 ผู้ที่เกษียณที่อายุ 60 จะมีอายุเฉลี่ยที่ 76.8 และถ้าเกษียณอายุที่ 65 จะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 66.8 เท่านั้นเองครับ เมื่อดูจากตัวเลขแล้วพอจะสรุปได้ว่าหลังจากอายุ 55 ไปแล้วยิ่งทำงานยาวออกไปอีกเท่าใด แต่ละปีของการทำงานจะทำให้อายุสั้นลงถึงสองปี
สำหรับสาเหตุที่การเกษียณช้าจะทำให้ตายเร็วนั้น ก็เนื่องมาจากการทำงานอย่างต่อเนื่องมักจะนำไปสู่ความเครียดจากการทำงาน ซึ่งเจ้าความเครียดจากการทำงานนั้นก็นำไปสู่ความอ่อนแอของร่างกายและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ สำหรับผู้ที่เกษียณเร็วโดยเฉพาะพวกที่เกษียณที่อายุ 55 นั้น จะเป็นพวกที่มีฐานะที่ดีอยู่แล้ว หรือมีการวางแผนการเกษียณมาอย่างดี แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้เกษียณแล้วอยู่เฉยๆ นะครับ แต่อาจจะทำงานแบบ Part-Time หรือ ทำงานแบบสบายๆ ไม่เครียด
อย่างไรก็ดียังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาโดย Darrell Victor ซึ่งไปศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอายุการเกษียณกับอัตราการตายของพนักงานในบริษัทหนึ่ง พบว่ายิ่งเกษียณอายุเร็วเท่าไรอัตราการตายกลับมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นผลที่แตกต่างจากงานของ Lin โดยการศึกษาของ Victor นั้นเขาค้นพบว่ายิ่งเกษียณเร็วเท่าไรอัตราการตายกลับมากกว่าพวกที่เกษียณอายุช้า แต่ Victor เองเขาก็มีข้อสังเกตไว้เหมือนกันครับว่าสาเหตุที่เกษียณเร็วและเสียชีวิตเร็วนั้น อาจจะเป็นเนื่องจากพวกที่เกษียณเร็วเป็นพวกที่สุขภาพไม่ค่อยดีก็เป็นได้ครับ
ไม่ว่าจะเกษียณเร็วตายช้า หรือ เกษียณเร็วตายเร็ว ก็ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลที่มีการทำการศึกษาวิจัยมาทั้งสิ้นนะครับ แต่สิ่งที่สำคัญคือทุกคนคงต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการเกษียณ มีการวางแผนอนาคตของตนเองไว้ล่วงหน้า และทำให้ตนเองไม่เครียดและมีสุขภาพที่ดี เพื่อที่จะได้มีการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขครับ