
7 October 2010
สัปดาห์นี้ขอนำเสนอเรื่องของนวัตกรรมกันอีกรอบนะครับ เนื่องจากผมมีโอกาสไปพบเจอผู้บริหารหลายๆ องค์กรที่มักจะมีคำบ่นหรือคำปรารภเกี่ยวกับนวัตกรรมไว้ว่า เพียงแค่การพูดหรือการเขียนว่านวัตกรรมเป็นสิ่งที่สำคัญ ประกอบกับการกระตุ้นให้บุคลากรเกิดการคิดค้นในสิ่งใหม่ๆ ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นนวัตกรรมขึ้นภายในองค์กรอย่างแท้จริง คำถามที่มักจะได้รับก็คือทำอย่างไรนวัตกรรมถึงจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง?? จริงๆ แล้วการที่จะเกิดนวัตกรรมขึ้นภายในองค์กรอย่างแท้จริงนั้นจะต้องมีองค์ประกอบหลายประการด้วยกัน และประการหนึ่งที่เรามักจะละเลยกันก็คือเรื่องของความแตกต่างและความหลากหลายในองค์กรครับ ความแตกต่างและความหลากหลายของบุคลากรนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่นวัตกรรมภายในองค์กร แต่ปัญหาสำคัญก็คือผู้บริหารจำนวนมากไม่ชอบให้เกิดความหลากหลายขึ้นภายในองค์กรตนเอง
ความหลากหลายและความแตกต่างของกลุ่มคนจะทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลายและแตกต่างต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และการเกิดมุมมองที่หลากหลายและแตกต่างนั้น ย่อมทำให้เกิดโอกาสที่จะเกิดความคิดเห็นใหม่ๆ เกิดขึ้นภายในองค์กร อย่างไรก็ดีปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารจริงๆ ก็คือผู้บริหารมักจะไม่ชอบให้เกิดความหลากหลายขึ้นในทีมของตนเอง เวลาสรรหาและคัดเลือกคน เราก็มักจะมีธงอยู่ในใจว่าจะหาคนที่สามารถเข้ากับวัฒนธรรม วิธีการในการคิด วิธีการในการทำงาน โดยมักจะไม่ชอบรับคนที่มีความแตกต่างจากทีมที่มีอยู่มาก ทั้งนี้เนื่องจากเกรงว่าพอรับคนที่มีความหลากหลายหรือแตกต่างมาจะกลายเป็นตัวปัญหาภายในทีมหรือภายในองค์กร
ดังนั้นท่านผู้อ่านลองสังเกตดุนะครับว่าในองค์กรจำนวนมาก โดยเฉพาะองค์กรที่เก่าและมีมานานแล้ว ความหลากหลายและความแตกต่างของแต่ละบุคคลจะมีน้อยมาก และยิ่งสูงขึ้นไปในระดับบริหารมากขึ้นเท่าใดความแตกต่างก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นเลยว่าครับว่ายิ่งสูงขึ้นไปในปิระมิดการบริหารองค์กรเท่าใด ความแตกต่างและหลากหลายในกลุ่มคนในระดับนั้นๆ จะยิ่งน้อยลง โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กร ความแตกต่างและหลากหลายจะน้อยที่สุด ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยนะครับว่าทำไมความคิดหรือไอเดียใหม่ๆ ที่ออกมาจากบริษัทจำนวนมากจึงดูไม่น่าตื่นตาตื่นใจเลย เนื่องจากผู้ที่คิดและตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งใหม่ๆ ภายในองค์กรนั้นจะกระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะในกลุ่มผู้บริหารเพียงไม่กี่คนที่มีวิธีคิดและมุมมองที่เหมือนๆ กัน
คำว่าความแตกต่างหรือหลากหลายในกลุ่มคนที่จะกระตุ้นหรือนำไปสู่นวัตกรรมนั้นมองได้หลายมุมมากครับ ทั้งความแตกต่างระหว่างพวกที่คิดในรายละเอียดกับคิดเชิงองค์รวม ระหว่างพวกนักวิเคราะห์กับนักสร้างสรรค์ ระหว่างพวกที่ทำงานตามสำนักงานใหญ่กับพวกที่อยู่ห่างไกลออกไป ระหว่างผู้อาวุโสกับผู้เยาว์ ระหว่างผู้ที่มีประสบการณ์เยอะกับพวกที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ระหว่างพวกที่เน้นเทคโนโลยีกับพวกที่เน้นคน ระหว่างผู้ที่ทำงานภายในองค์กรกับผู้อยู่ภายนอกองค์กร
อย่างไรก็ดีการทำให้ในกลุ่มหรือทีมภายในองค์กรประกอบไปด้วยบุคลากรที่แตกต่างและหลากหลายนั้น ผู้ที่จะต้องปรับตัวให้ได้มากที่สุดคือตัวผู้บริหารระดับสูงครับ ทั้งบ ทั้งน้านวผู้บริหารระดับสูงครับ ทั้งน้ารที่แตกต่างและหลากหลายนั้น ผู้ที่จะต้องปรับตัวให้ได้มากที่สุดคือจตงในด้านของการฝึกความอดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง และ การพร้อมที่จะยอมรับความคิดเห็นจากบุคคลที่มีความแตกต่างจากตนเอง ทั้งนี้เนื่องจากพอคนๆ หนึ่งก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แนวโน้มที่จะเปิดใจหรือพร้อมที่จะรับฟังต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่นๆ นั้นก็ลดน้อยลงทุกที (เนื่องจากความสำเร็จของตนเองเป็นสิ่งที่เปิดกั้นการเปิดใจยอมรับความเห็นของผู้อื่น) และยิ่งความคิดเห็นของผู้อื่นเป็นความคิดเห็นที่แตกต่างจากสิ่งที่ตนเองเคยเชื่อ หรือ เคยปฏิบัติ ยิ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารจำนวนมากไม่พร้อมที่จะรับฟัง ซึ่งตรงนี้จะเหมือนกับเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงสู่ความสามารถในด้านนวัตกรรมขององค์กรเลยครับ ถ้าผู้บริหารไม่พร้อม ไม่เปิดใจที่จะยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง การที่จะยอมให้มีบุคลากรหรือทีมที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างก็เป็นไปได้ยาก และเมื่อความคิดเห็นและมุมมองของทีมผู้บริหารเหมือนๆ กันหมด โอกาสที่จะเกิดนวัตกรรมอย่างแท้จริงก็ลดน้อยลงทุกที
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจนะครับว่าทำไมบางองค์กรถึงให้ความสำคัญและพยายามกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมภายในองค์กร และถึงแม้จะมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นในองค์กรก็จริง แต่นวัตกรรมที่เกิดขึ้นนั้นจะกลายเป็นนวัตกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ค่อยได้มีผลกระทบหรือความสำคัญต่อองค์กรเท่าใด ทั้งนี้ก็เนื่องจากการไม่พร้อมที่จะเปิดรับความแตกต่างของผู้บริหารถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ภายในองค์กรนั้นเองครับ