
10 September 2010
เมื่อวันพฤหัสที่ 9 ที่ผ่านมา ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจจัดเสวนาในเรื่องของก้าวสู่อนาคตด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปีของคณะฯ ในงานนี้เราเชิญผู้บริหารองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจำนวนหนึ่งมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณาจารย์ของคณะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งรายละเอียดของผู้พูดแต่ละท่านและสิ่งที่ท่านพูดไปนั้น ผมขอไม่เล่าซ้ำนะครับ เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะได้เห็นจากข่าวต่างๆ ที่ลงอยู่แล้ว แต่อยากจะนำเสนอประเด็นต่างๆ จากมุมมองของผมทั้งในฐานะผู้ร่วมออกแบบการสัมมนา ผู้ฟัง และหนึ่งในผู้ดำเนินรายการ
เนื่องจากเวลาเรานึกถึงเรื่องของนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์นั้น เรามักจะนำแนวคิดและตำราของต่างประเทศ โดยเฉพาะโลกตะวันตกมาใช้ ทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่าสำหรับผู้บริหารของไทยแล้วเขามีมุมมองและแนวทางในการคิดค้นนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์อย่างไรบ้าง ซึ่งก็เป็นโจทย์สำหคัญของงานสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งเท่าที่ได้ฟังวิทยากรที่เป็นผู้บริหารและผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จหลายๆ ท่าน พบว่าทั้งในด้านความสำคัญและกระบวนการคิด ในเรื่องนวัตกรรมของผู้บริหารคนไทยนั้น ก็ไม่ได้แตกต่างจากผู้บริหารประเทศอื่นมากนัก เพียงแต่ชื่อที่ใช้ในการเรียกและมุมมองต่อเรื่องนี้อาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง
ผู้บริหารโดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้ประกอบการนั้นไม่ได้ยึดติดกับคำว่านวัตกรรมเหมือนกับองค์กรขนาดใหญ่ทั่วๆ ไป เพียงแต่ผู้บริหารเหล่านี้เขามองว่าเพื่อความอยู่รอดและความสำเร็จของธุรกิจเขานั้น พวกเขาจะต้องไม่หยุดคิด จะต้องคิดตลอดเวลา เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้มีความแตกต่างและโดนใจผู้บริโภค ผู้ประกอบการอย่างน้อยสองท่านที่มาร่วมงานเสวนาใช้คำว่า “โดนใจ” โดยไม่ได้นัดหมาย และคำว่า “โดนใจ” ในที่นี้ไม่ใช่การคิดหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แล้วโดนใจผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจ แต่จะต้องโดนใจลูกค้าหรือผู้บริโภคเป็นหลัก ดูเหมือนว่าคำว่า “แตกต่าง” และ “โดนใจ” จะเป็นคำพูดที่ใช้กันมากจากบรรดาผู้ประกอบการที่มาเป็นวิทยากรในงานนี้มากกว่าคำว่านวัตกรรมเสียอีกครับ ซึ่งก็แตกต่างจากเวลาไปฟังผู้บริหารที่บริหารองค์กรขนาดใหญ่ๆ พูดเรื่องเหล่านี้ ซึ่งดูเหมือนท่านเหล่านั้นจะเน้นที่คำว่านวัตกรรมเป็นหลัก ก็แสดงให้เห็นได้นะครับว่าสำหรับผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจทั้งหลาย ท่านเหล่านั้น จะไม่ได้สนใจว่าเราจะใช้คำว่านวัตกรรมในความหมายใด เพียงแต่ขอให้สามารถคิดและสร้างสรรค์ในสิ่งที่แตกต่างจากผู้อ่ืนและโดนใจลูกค้าเป็นหลัก
ข้อคิดอีกประการหนึ่งที่ได้รับจากงานสัมมนาในครั้งนี้ก็คือบรรดาผู้บริหารที่เป็นผู้คิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ นั้น เขาจะไม่ได้มานั่งเพ่งกระแสจิตเพื่อมุ่งเน้นการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ แต่สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากโอกาสที่เข้ามาหรือเกิดขึ้นจากความคิดที่แว่บเข้ามาในช่วงสถานการณ์ต่างๆ แล้วผู้ประกอบการเหล่านั้น สามารถเกาะกุมโอกาสและใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เข้ามาในขณะนั้นได้มากน้อยเพียงใด กรณีของคุณตัน ภาสกรนที ในตอนที่คิดโออิชิบุฟเฟ่ต์ได้นั้น ก็เกิดจากการไปรับฟังผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังถึงร้านในลักษณะเดียวกันในอเมริกาที่มีข้าวปั้นเต็มไปหมดก็เลยเกิดแนวคิดที่จะทำร้านลักษณะดังกล่าวขึ้นในเมืองไทย หรือ กรณีของคุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ ที่คิดชื่อหนังได้โดนใจอย่างเช่น รถไฟฟ้ามาหานะเธอ หรือ กวนมึนโฮ ก็เป็นความคิดที่เกิดขึ้นในขณะกำลังนั่งอยู่บนรถไฟฟ้าและได้ยินเสียงประกาศคำว่า “รถไฟฟ้ามหานคร” หรือ ขณะกำลังเดินเล่นที่ตลาดหัวหินและเห็นเสื้อยืดปักคำว่า “กวน” แขวนขายอยู่
ดังนั้นจะเห็นได้นะครับว่าการที่จะคิดสร้างสรรค์งานหรือธุรกิจใหม่ๆ ได้นั้น ไม่ได้จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากกระบวนการในการคิดอย่างเป็นทางการ แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่ไม่ใช่การทำงาน และในขณะเดียวกันจะต้องสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้นให้เข้ากับงานที่กำลังทำอยู่ได้ ดูเหมือนว่าคุณสมบัติสำคัญสำหรับการคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ทั้งตามตำราต่างประเทศและจากประสบการณ์ของผู้บริหารไทยนั้นจะเหมือนกันก็คือจะต้องสามารถคิดและเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ท่ีเกิดขึ้นรอบตัวเราเข้าด้วยกันให้ได้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
ข้อคิดประการสุดท้ายสำหรับสัปดาห์นี้คือเรื่องของการรับฟังคำวิพากษ์ วิจารณ์ ความคิดเห็นของผู้อื่น แล้วนำความเห็นเหล่านั้นมาปรับปรุงเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้ดีขึ้นครับ ผู้บริหารทุกท่านที่มาเป็นวิทยากรนั้น ถึงแม้จะประสบความสำเร็จอยู่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าทุกท่านจะไม่ได้หลงตัวเองและยึดมั่นต่อความสำเร็จของตนเอง ทุกท่านจะมีกระบวนการและวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป และทุกท่านก็พร้อมที่จะยอมรับที่จะนำความคิดเห็นเหล่านั้นมาปรับใช้เพื่อให้สินค้าและบริการของตนเองดีขึ้น ซึ่งแตกต่างจากผู้บริหารบางองค์กรที่พบเจอ ที่มักจะคิดว่าสิ่งท่ีตนเองทำนั้นดีสุด และประเสริฐสุด อีกทั้งพอมีคนมาวิจารณ์ก็จะปิดหู ปิดตา ไม่ยอมรับต่อคำวิจารณ์เหล่านั้น
วิธีการหาและรับฟังความคิดเห็นที่แท้จริงของลูกค้านั้น จะแตกต่างกันออกไปตามสไตล์และรูปแบบของผู้บริหารแต่ละคน แต่ที่ดูเหมือนว่าจะคล้ายๆ กันก็คือ ผู้บริหารเหล่านี้จะลงภาคสนามเอง จะพยายามหาทางไปสัมผัสตัวลูกค้าจริงๆ ไม่ได้นั่งฟังแต่รายงานที่ลูกน้องทำขึ้นมาให้แต่เพียงอย่างเดียว ตัวอย่างที่คุณตันใช้น้ัน ก็เรียกว่าเป็น Toilet Research ที่ไปคอยฟังลูกค้าที่ร้านวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับอาหารและความคุ้มค่าของราคาในห้องน้ำ ระหว่างที่ลูกค้าเข้าห้องน้ำและคุยกัน หรือ กรณีของคุณวิสูตรที่จะเข้าไปนั่งในโรงภาพยนตร์แต่แทนที่จะดูหนัง กลับคอยดูปฏิกริยาของผู้ชมว่าในแต่ละตอนแต่ละฉากจะมีปฏิกริยาอย่างไรบ้าง ฉากที่ควรจะหัวเราะสามารถเรียกเสียงหัวเราะได้จริงหรือไม่? นอกจากนั้นยังคอยเดินปะปนออกไปกับผู้ชมเพื่อคอยฟังเสียงวิพากษ์ของผู้ชมต่อหนังของตนเอง
จะเห็นได้ว่าผู้บริหารของไทยก็มีวิธีการในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในรูปแบบของแต่ละท่านที่แตกต่างกันออกไป เพียงแต่เราอาจจะยังขาดระบบในการจัดเก็บวิธีการและวิธีคิดเหล่านี้เพื่อจัดทำเป็นแนวคิดและทฤษฎีแบบไทยๆ เท่านั้นเองครับ