1 October 2010

ผมเชื่อว่าปัจจุบันสังคมทั้งในเชิงระดับประเทศและเชิงองค์กรกำลังอยู่ในช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญครับ และการเปลี่ยนผ่านที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันอาจจะมีหลายด้าน ทั้งในเชิงการเมือง การแข่งขันทางธุรกิจ หรือทางด้านเทคโนโลยี แต่สิ่งที่อยากจะมานำเสนอและเล่าสู่กันฟังในสัปดาห์นี้จะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านในด้านประชากร สังเกตดูแล้วเราจะพบว่าในระดับสังคมทั่วไปนั้น ผู้สูงอายุที่เพิ่งผ่านพ้นวัยเกษียณเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนมากยังดูอ่อนเยาว์ มีทั้งกำลังกาย สติปัญญา และกำลังใจที่จะสามารถทำงานต่อไปได้อีกนับสิบปี ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุปัจจุบันก็อายุยืนขึ้นด้วยการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องและการแพทย์สมัยใหม่ แต่ในมุมกลับกันอัตราการเกิดกลับลดน้อยลง หลายคนมีลูกช้าลง หรือ แต่งงานแลัวตัดสินใจที่จะไม่มีลูก ถ้ามองในระดับองค์กรนั้น เราจะพบว่าหลายองค์กรจะมีช่องว่างระหว่างวัยมากขึ้น องค์กรจำนวนมากที่จะมีบุคคลท่่ีอายุใกล้ 60 จำนวนมาก จากนั้นก็ทิ้งช่วงหายไป แล้วไปโผล่ที่กลุ่มคนที่อายุประมาณสี่สิบ ทำให้หลายๆ องค์กรเริ่มประสบกับปัญหาเรื่องการขาดแคลนคนที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำในลักษณะจากรุ่นสู่รุ่น และเราจะพบว่าในองค์กรหลายแห่งที่คนอายุสามสิบกว่าที่ขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูง ซึ่งบุคคลเหล่านี้ขึ้นมาทั้งเกิดจากความสามารถโดยส่วนตัวของเขาเอง และการขาดแคลนบุคลากรในช่วงอายุหนึ่ง

สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางด้านประชากรนั้น ทางนักประชากรศาสตร์ทั้งหลายเรียกว่าเป็นการ “เปลี่ยนแปลงทางประชากรในระยะที่ 2 หรือ 2nd Demographic Transition’ โดยลักษณะที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางประชากรในระยะที่ 2 นั้นมีหลายประการด้วยกันครับ อาทิเช่น การสมรสมีสัดส่วนที่ลดลง ในขณะเดียวกันอายุแรกสมรสหรืออีกนัยหนึ่งคืออายุที่แต่งงานนั้นเพิ่มสูงขึ้น เราจะพบอีกนะครับว่าอัตราการหย่าร้างมีเพิ่มขึ้น และเร็วขึ้น นอกจากจะสมรสกันช้าลงแล้วกว่าจะมีลูกคนแรกก็นานขึ้น ทำให้อายุเฉลี่ยของการมีลูกนั้นก็พลอยสูงขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งการมีลูกก่อนการสมรสอย่างเป็นทางการก็มากขึ้น (เหมือนกับที่เราเห็นข่าวทางนสพ.ในปัจจุบัน) นอกจากนี้หลายคู่ที่แต่งงานกันไปก็ตัดสินใจที่จะไม่มีลูกกันมากขึ้น สำหรับพวกที่ตัดสินใจไม่แต่งงานและครองตัวเป็นโสดนั้นก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะสุภาพสตรีเนื่องจากปัจจุบันความสามารถและสิทธิของสตรีก็มีมากขึ้น จนกระทั่งเท่าเทียมหรือเหนือกว่าผู้ชาย ฯลฯ

ท่านผู้อ่านลองดูนะครับว่าตัวท่านเองนั้นถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางประชากรในระยะที่ 2 หรือไม่? ประเด็นที่สำคัญก็คือผลลัพธ์จากการเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางประชากรในระยะที่ 2 นั้น ทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ของคนไทยลดน้อยลง โดยปัจจุบันอัตราการเจริญพันธุ์ของไทยอยู่ที่ประมาณ 1.53 ในขณะที่อดีตนั้นอัตราการเจริญพันธุ์ของไทยอยู่ที่ประมาณ 6.3 (อัตราการเจริญพันธุ์ก็คือครอบครัวหนึ่งครอบครัวจะมีบุตรกี่คน) จริงๆ แล้วผมมองว่าสาเหตุที่ทำให้ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย และมีอัตราการเจริญพันธุ์ลดน้อยลงนั้น สืบเนื่องมาตั้งแต่อดีตที่เราให้ความสำคัญกับการคุมกำเนิด เนื่องจากในอดีตนั้นเรากลัวว่าประชากรจะล้นโลก กลัวคนไทยจะมากเกินไป จึงมีการรณรงค์การคุมกำเนิดกันอย่างทั่วถึงและส่งผลให้อัตราการเกิิดของคนไทยลดน้อยลง จนเข้าสู่ช่วงสังคมสูงวัยในปัจจุบัน ประกอบกับการดำรงชีวิตในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการสร้างฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางประชากรในระยะที่ 2

ผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงทางประชากรในระยะที่ 2 นั้น จะก่อให้เกิดความท้าทายที่สำคัญสำหรับทั้งผู้บริหารประเทศและผู้บริหารองค์กรต่างๆ เพียงแต่เชื่อว่าหลายๆ ท่านอาจจะไม่ได้นึกถึง หรือ ต่อให้นึกถึงก็มองว่าไกลเกินไป สำหรับการบริหารองค์กรนั้นปัญหาหลักที่จะประสบก็คือในอนาคตเราจะขาดแคลนบุคคลในวัยแรงงาน เนื่องจากสัดส่วนของบุคคลในวัยแรงงานจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด และเมื่อจำนวนบุคคลในวัยแรงงานลดน้อยลงแล้ว คำถามที่จะมีต่อมาก็คืออุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยแรงงานมีฝืมือที่ประเทศไทยกำลังพึ่งพาอย่างมากในปัจจุบัน จะทำอย่างไรต่อไป? หรือ การที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ประกอบกับผู้สูงวัยนั้นยังแข็งแรงและพร้อมที่จะทำงานต่อไปได้อย่างน้อยอีกหลายปี องค์กรต่างๆ มีนโยบายที่จะขยายเวลาเกษียณให้ยาวออกไปหรือไม?่ แต่ถ้าบุคคลที่สูงวัยเหล่านี้ยังอยู่ในการทำงาน แล้วโอกาสในการเติบโตในหน้าที่การงานของคนรุ่นใหม่จะเป็นอย่างไร?

นอกเหนือจากคำถามที่เกี่ยวข้องกับตลาดแรงงานแล้ว การที่มีบุคลากรสูงวัยมากขึ้น ในขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ของคนไทยลดน้อยลง จะทำให้ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไปหรือไม่?? ในอนาคตเราจะเห็นอุตสาหกรรมหรือธุรกิจใหม่ๆ ที่ในอดีตไม่เคยเห็นมาก่อน ที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชากรที่เปลี่ยนไปหรือไม่? หรือ องค์กรธุรกิจจะใช้ประโยชน์จากแนวโน้มจากการที่สุภาพสตรีอยู่เป็นโสดมากขึ้นได้อย่างไร? ดูเหมือนว่าจะมีคำถามมากมายท่ีตามมากับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรในระยะที่ 2 นะครับ และคำถามเหล่านั้น ในปัจจุบันก็ยังดูเหมือนว่าจะไม่มีคำตอบที่ชัดเจน นี้เพียงแค่คำถามสำหรับผู้บริหารองค์กรเท่านั้น แล้วถ้าเป็นผู้บริหารประเทศ ซึ่งจะต้องมองภาพรวมว่าการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชากรส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจ สังคม ระบบสุขภาพ ระบบสวัสดิการ ฯลฯ ซึ่งเชื่อว่าความท้าทายที่สำคัญก็คือเรื่องของเตรียมการเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรนั้น จะต้องมองกันยาวๆ ครับ และไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้นักการเมืองชนะการเลือกตั้งในระยะเวลาอันไม่ไกล

ดูเหมือนว่าบทความสัปดาห์นี้จะเต็มไปด้วยคำถามแต่ยังไม่คำตอบนะครับ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจอยากจะศึกษาเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางประชากรในระยะที่ 2 ก็แนะนำบทความชื่อ การลดลงของอัตราการเจริญพันธุ์ ในวารสารประชากรศาสตร์ ของ ดร.พัชราวลัย วงศ์บุญสิน จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนะครับ ผมเองก็นำเนื้อหาบางส่วนในสัปดาห์นี้มาจากบทความดังกล่าว