
1 September 2010
ท่านผู้อ่านได้มีโอกาสรู้จักและคุ้นเคยกับ TED บ้างไหมครับ? บางท่านอาจจะเคยเห็น TED ทาง Youtube หรือ ทางเมลที่เพื่อนๆ ส่งมา หรือ เคยได้อ่านหรือได้ยินคนพูดถึงกันมาก บางท่านอาจจะสงสัยว่า TED คือใครหรือคืออะไร? สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับ TED นั้น ก็อยากจะบอกว่า TED เป็นรูปแบบของการเรียนรู้และการเผยแพร่ความรู้ในรูปแบบใหม่ที่ปัจจุบันกำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากทั่วโลก จริงๆ แล้ว TED ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดสัมมนาทางวิชาการที่มีให้เห็นอยู่ทั่วๆ ไป แต่สิ่งที่แตกต่างจากงานสัมมนาทั่วไป คือปัจจุบัน TED ได้กลายเป็นทั้งช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ผู้จะแสวงหาความรู้และมุมมองใหม่ๆ จากทั่วโลกมาพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้กัน เป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งจากการเข้าฟังสัมมนาจริงๆ และเรียนรู้ผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตในด้านต่างๆ ที่มีความหลากหลายตั้งแต่วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ธุรกิจ เทคโนโลยี สังคม ความท้าทายต่างๆ ฯลฯ
TED นั้นย่อมาจาก Technology, Entertainment, Design Conference ครับ ก่อตั้งขึ้นมา โดย Richard Saul Wurman ตั้งแต่ปี 1984 โดยจุดเริ่มต้นนั้นเริ่มจากงานสัมมนาในหัวข้อที่หลากหลายที่ครอบคลุมในศาสตร์ต่างๆ และเป็นแหล่งพบปะของผู้ที่สนใจหาแสวงหาความรู้และมุมมองใหม่ๆ ความแตกต่างระหว่าง TED กับงานสัมมนาทางวิชาการทั่วๆ ไปก็คือแทนที่จะมีหลายๆ ห้อง หรือที่เราเรียกกันว่าหลายๆ Track พูดพร้อมๆ กัน ห้องสัมมนาจะมีห้องเดียว นั้นคือทุกคนจะไม่สามารถเลือกฟังในสิ่งที่ตนเองสนใจได้ จะต้องเข้าฟังเหมือนๆ กันหมด ตัวอย่างเช่น ผมสนใจทางด้านบริหารธุรกิจ แต่ผู้พูดนั้นมาพูดเรื่องศิลปะ ซึ่งผมก็ไม่มีทางเลือกที่จะฟังหัวข้ออื่น นั้นคือในช่วงเวลาดังกล่าวก็จะต้องเข้าฟังคนมาพูดเรื่องศิลปะ (นอกจากอยากจะโดดเรียน แต่ก็เสียดายค่าลงทะเบียน $2,000) ซึ่งการมีห้องสัมมนาเดียวนั้นข้อดีที่ชัดเจนก็คือเหมาะสำหรับผู้ที่พร้อม ที่จะเข้ารับฟังในสิ่งใหม่ๆ ที่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ตนเองสนใจ และทำให้ผู้ฟังสามารถเชื่อมโยง ประสาน ระหว่างสิ่งที่ตนเองสนใจกับสิ่งที่ตนเองรับฟังได้
นอกเหนือจากรูปแบบของห้องประชุมที่มีห้องเดียวแล้ว ความแตกต่างอีกประการของ TED ก็คือเรื่องของระยะเวลาการนำเสนอครับ ซึ่งผู้พูดแต่ละคนมีระยะเวลาในการนำเสนอเพียงแค่ 18 นาทีต่อท่านเท่านั้นเองครับ ซึ่งการรับฟังผู้พูดนำเสนอเนื้อหาภายในเวลา 18 นาทีได้นั้นถือว่าน่าสนใจครับ เพราะระยะเวลา 18 นาทีไม่น้อยเกินไปจนต้องเร่งพูดเร่งฟัง และไม่มากเกินไปจนการนำเสนอเริ่มที่จะน่าเบื่อ ดังนั้นใน TED Conference ที่เขาจัดประจำทุกปีนั้น จะจัดครั้งละห้าวัน ดังนั้นถ้าผู้พูดๆ คนละไม่เกิน 18 นาที ตลอดห้าวันของการเข้าร่วมสัมมนาก็จะมีผู้พูดที่มีจำนวนเยอะพอสมควรและมีความหลากหลายในเนื้อหาของเรื่องที่พูด
TED Conference ที่จัดประจำปีๆ ละครั้งที่อเมริกาและ TED Global ที่จัดปีละครั้งที่อังกฤษถือเป็นมหกรรมทางการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้ที่สำคัญในปัจจุบัน บรรดานักคิด นักเขียน ผู้บริหารองค์กรต่างๆ ต้องจับจองเข้าร่วม TED Conference กันจนตั๋วเข้าร่วมนั้นถูกจับจองจนเต็มครึ่งปีล่วงหน้า (ปีหน้าจะจัดปลายเดือนมีนาคมนั้นตั๋วขายหมดแล้วครับ ทั้งๆ ที่บัตรราคา $2,000) สำหรับผู้พูดที่ TED Conference นั้นก็ประกอบด้วยทั้งอดีตนักการเมืองอย่าง Clinton และ Al Gore นักธุรกิจอย่าง Bill Gates นักวิชาการ ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล นักหนังสือพิมพ์ ศิลปิน ฯลฯ เรียกได้ว่ามาจากหลากหลายอาชีพมากๆ ครับ
ที่น่าสนใจสำหรับ TED ก็คือถึงแม้เราจะไม่ได้เข้าร่วมการสัมมนา แต่เรายังสามารถรับชมการพูดของผู้พูดแต่ละคนได้ผ่านทางวิดีโอที่ทาง TED ทำเผยแพร่ออกมา และที่สำคัญคือสามารถที่จะรับชมได้ฟรีด้วยครับ (ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถเข้าไปได้ที่ TED.com ครับ และสามารถดูผ่านเน็ตหรือโหลดมาดูในเครื่องเราได้ครับ หรือ จะเข้ามาเก็บไว้ใน iTunes ก็ได้เช่นเดียวกันครับ) TED นั้นถือเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรครับ รายได้ของเขานั้นมาจากบรรดาผู้สนับสนุนต่างๆ และจากค่าธรรมเนียมเข้าร่วมสัมมนาในแต่ละปี สำหรับผู้พูดแต่ละคนนั้น การมาพูดที่ TED นั้นก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้นนะครับ (นอกจากได้รับสิทธิ์เข้าร่วมงานสัมมนา TED ในครั้งนั้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย) แต่สิ่งสำคัญที่ผู้พูดของ TED ได้รับคือชื่อเสียง การยอมรับ และสายสัมพันธ์ต่างๆ ครับ เนื่องจากการพูดของเขานั้นเผยแพร่ไปทั่วโลก มีคนดู ชม เป็นล้านๆ คน อีกทั้งการเข้าร่วมในการสัมมนา TED นั้น จะทำให้มีโอกาสพบปะ เจอนักคิด หรือผู้สนใจในด้านต่างๆ ที่หลากหลาย มีธุรกิจหลายธุรกิจที่เกิดขึ้นมาจาก TED Conference ยกตัวอย่างเช่นวารสาร Wired ซึ่งเป็นวารสารทางด้านบริหารธุรกิจแนวใหม่ก็เกิดขึ้นมาจาก TED Conference
สำหรับหลายๆ คนปัจจุบัน TED เปรียบเสมือนเป็นแหล่งความรู้และรูปแบบใหม่ในการเผยแพร่ความรู้สำหรับผู้ที่สนใจทั่วไป เมื่อไม่นานมานี้มีวารสารเล่มหนึ่งที่เริ่มตั้งคำถามเปรียบเทียบระหว่าง TED กับ Harvard แล้วครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นว่า TED จะเป็น Harvard แห่งใหม่หรือไม่? ท่านผู้อ่านก็ลองเข้าไปพิสูจน์ดูที่ TED.com ได้นะครับ