
6 October 2010
องค์กรต่างๆ ในปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการสร้างสรรค์นวัตกรรมเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดีปัญหาที่องค์กรหลายแห่งเผชิญก็คือถึงแม้องค์กรต่างๆ จะเห็นถึงความจำเป็น ความสำคัญของนวัตกรรม และพยายามด้วยวิธีการต่างๆ ที่จะกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง แต่ผลลัพธ์ที่ได้รับหรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นก็ยังไม่เป็นไปในระดับที่น่าพอใจ ผู้บริหารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นหรือให้ความสำคัญกับเรื่องของการคิดหรือการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม แต่ก็ดูเหมือนว่าการกระตุ้นให้เกิดการคิดนั้นยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เมื่อมองลึกเข้าไปแล้วเราจะพบเลยครับว่าปัญหาหนึ่งที่ทำให้นวัตกรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ก็คือ “เวลา” ครับ
มีผู้สอบถามบรรดาผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต่างๆ ในอเมริกาว่าอะไรคือปัญหาหรืออุปสรรคที่สำคัญของการกระตุ้นและการก่อให้เกิดนวัตกรรมภายในองค์กร ปรากฎว่าคำตอบที่ได้รับมากที่สุดประการหนึ่งก็คือ เวลาครับ เนื่องจากในการแข่งขันและการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันที่ทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลา และแต่ละคนก็มีงานต่างๆ เข้ามามากมายเต็มไปหมด ทำให้เวลาของคนทำงานทุกคนกลายเป็นสิ่งมีค่า ในขณะเดียวกันเวลาที่เราควรจะมีเพื่อคิดเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ นั้นก็ถูกดึงดูดและล่อหลอกด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้กระบวนการในการคิดนั้นไม่ต่อเนื่องเท่าที่ควร ดังนั้นองค์กรที่ต้องการทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นนั้น กฎสำคัญประการแรกคือจะต้องทำให้พนักงานได้มีเวลาในการคิด การสร้างสรรค์ การทดลองในสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่
มีกรณีศึกษาของบริษัท Whirlpool ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของโลก ซึ่งได้มีการให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ได้มีการคัดเลือกพนักงานจำนวน 75 คนจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ให้ออกจากงานประจำที่อยู่เป็นเวลาเก้าเดือน โดยในช่วงเก้าเดือนดังกล่าวกลุ่มพนักงานดังกล่าว จะถูกอบรมและพัฒนาในเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรม ทั้งการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ การเลือกโครงการที่สำคัญ และสุดท้ายร่วมกันคิดโครงการนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญและก่อให้เกิดประโยชน์แก่บริษัท คนทั้ง 75 คนที่เลือกมานั้น ไม่ใช่พวกที่หน่วยงานไม่อยากเอาไว้นะครับ แต่เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ ความสามารถและศักยภาพที่สูง
ในช่วงแรกกิจกรรมนี้ของ Whirlpool ก็ได้รับการต่อต้านพอสมควรนะครับ เพราะการเอาบุคลากรที่มีความสามารถจำนวน 75 คนให้ออกมาจากงานประจำนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายบริษัทเป็นอย่างมาก แต่บริษัทได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการฝังรากนวัตกรรมให้เกิดขึ้นภายในองค์กร ดังนั้นจึงตัดสินใจที่ผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้น และการเกิดขึ้นของโครงการนี้ก็เสมือนเป็นการส่งสัญญาณไปทั่วทั้งบริษัทเลยครับว่าบริษัทได้เอาจริงและให้ความสำคัญกับเรื่องของนวัตกรรม เมื่อระยะเวลาเก้าเดือนผ่านพ้นไป หนึ่งในสามของคนเหล่านี้ก็กลับไปทำงานประจำของตนเอง แต่ก็กลับไปในฐานะผู้ที่ผลักดันและให้ความสำคัญกับนวัตกรรม ในขณะที่อีกหนึ่งในสามกลายเป็นที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมของบริษัทเพื่อคอยอบรมและพัฒนาพนักงานอื่นๆ ในเรื่องของนวัตกรรม และ สุดท้ายอีกหนึ่งในสามจะทำหน้าที่เป็นเจ้าของหรือผู้นำโครงการนวัตกรรมที่พวกเขาร่วมกันคิดขึ้นมาในช่วงเก้าเดือนที่ผ่านมา
ท่านผู้อ่านจะเห็นได้เลยนะครับว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Whirlpool นั้นเมื่อเขาให้ความสนใจและมุ่งมั่นในเรื่องของนวัตกรรมแล้ว เขาจะทำกันอย่างจริงจัง และเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคในเรื่องที่คนจะชอบบ่นว่าไม่มีเวลา ทางบริษัทถึงขั้นยอมเสียสละพนักงานชั้นเลิศจำนวน 75 คน เป็นเวลาเก้าเดือน เพื่อให้พนักงานเหล่านั้นได้มีเวลาในการคิดถึงเรื่องของนวัตกรรมอย่างจริงจัง นอกจากนี้ทาง Whirlpool ยังได้จัดตั้ง Innovation Board ที่ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงที่จะประชุมกันเดือนละครั้งเมื่อพูดคุยเรื่องการทำให้นวัตกรรมกลายเป็นความสามารถหลักของบริษัท อีกทั้งยังมาทบทวนโครงการทางด้านนวัตกรรมต่างๆ ของบริษัทอีกด้วย
นอกจากกรณีของ Whirlpool แล้ว Google เองก็เป็นอีกบริษัทครับที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องเวลาของพนักงาน ในการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม โดยสูตรที่โด่งดังของ Google คือ 70/20/10 ที่พนักงานจัดสรรเวลาร้อยละ 70 ของเวลาทำงานทั้งหมดไปกับธุรกิจหลักของบริษัท ร้อยละ 20 สำหรับการทำโครงการใหม่ๆ ที่สำคัญของบริษัท และ ร้อยละ 10 สำหรับโครงการส่วนตัวที่พนักงานมีความสนใจด้วยตัวเอง และโครงการส่วนตัวที่ตนเองสนใจนั้น ถ้าเป็นโครงการที่ดีและจะเป็นประโยชน์ให้กับบริษัทก็จะถูกจัดให้เข้าอยู่ใน Top 100 Pet Projects ซึ่งเจ้าของและผู้ก่อตั้ง Google จะเป็นผู้ดูแลด้วยตนเอง และโครงการหลายๆ โครงการ ใน Top 100 Pet Projects นั้นก็ได้กลายเป็นบริการสำคัญของ Google ในปัจจุบัน
ท่านผู้อ่านจะเห็นได้นะครับว่าในองค์กรที่ประสบความสำเร็จในด้านของนวัตกรรมนั้นเขาจะให้ความสำคัญกับเรื่องเวลาของพนักงานมากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้พนักงานได้มีเวลาในการคิด ริเริ่ม และทำสิ่งใหม่ๆ ท่านผู้อ่านที่เป็นผู้บริหารลองถามตนเองดูนะครับว่าได้ให้เวลากับพนักงานของตนเองในการคิดค้นในสิ่งใหม่ๆ มากพอหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ให้แล้วไปคาดหวังว่าพนักงานจะคิดสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้นั้นก็คงจะเป็นเรื่องยากครับ