
29 September 2010
การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชากรถือเป็นปัจจัยที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อปัจจัยหลายๆ ประการ ทั้งปัจจัยในเชิงมหภาคไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือ ในระดับของการบริหารองค์กรไม่ว่าจะเป็นการส่งผลกระทบต่อการบริหารภายในองค์กร หรือ การทำการตลาดขององค์กรธุรกิจต่างๆ อย่างไรก็ดีผมยังมีความรู้สึกว่าผู้บริหารองค์กรธุรกิจของไทยยังไม่ค่อยได้เห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชาการของไทยเท่าใด และยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังเต็มที่ ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชากรนั้นต้องถือว่าเป็นสิ่งที่มีโอกาสพลิกผันได้น้อยที่สุด (ถ้าจะพลิกผันจากแนวโน้มที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็คงจะต้องรออีกชั่วคนหนึ่ง) และการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชากรนั้นถือว่าส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม
ผมได้มีโอกาสอ่านบทความชื่อ “การลดลงของอัตราเจริญพันธุ์” ในวารสารประชากรศาสตร์ เขียนโดย ดร.พัชราวลัย วงศ์บุญสิน จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในบทความดังกล่าวผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังประสบหรือจะประสบจากสาเหตุของการลดลงของอัตราเจริญพันธุ์ โดยอัตราเจริญพันธุ์รวมยอด หรือ Total Fertility Rate (TFR) ในช่วงปี 2548 – 2553 อยู่ที่อัตรา 2.6 คน (หมายความว่าในหนึ่งครอบครัว จะมีลูกกี่คน) ในขณะที่ในอดีตช่วงปี 2513 – 2518 นั้นอัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 4.7 คน ซึ่งเมื่อดูตัวเลขลึกลงไปอีกจะพบว่าสาเหตุสำคัญที่อัตราการเจริญพันธุ์ของโลกลดลงนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากประเทศที่กำลังพัฒนามีอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุสำคัญก็หนีไม่พ้นจากในอดีตที่เรามีอัตราการเพิ่มของประชากรที่มาก และเกิดภาวะกลัวว่าประชากรจะล้นโลก แต่พอมีการคุมกำเนิดหรือคุมอัตราการเจริญพันธุ์ก็ส่งผลให้การเพิ่มของประชากรลดน้อยลง
สำหรับในประเทศไทยนั้นเมื่อดูตัวเลขจากบทความแล้วก็ถือว่าน่ากลัวครับ โดยในอดีตช่วงปี 2507 – 2508 อัตราการเจริญพันธุ์รวมยอดของไทยอยู่ที่ 6.3 คน (โดยเฉลี่ยในหนึ่งครอบครัวจะมีลูกประมาณ 6.3 คน) แต่ในช่วงปี 2553 – 2558 อัตราการเจริญพันธุ์ของไทยจะอยู่ที่ 1.53 คน และเมื่อนำตัวเลขมาวิเคราะห์ต่อไปในอนาคต จะพบว่าอัตราการเจริญพันธุ์ของไทยจะยิ่งลดลงไปอีก โดยในช่วงปี 2568 – 2573 อัตราการเจริญพันธุ์จะอยู่ที่ 1.35 คนเท่านั้นเอง มีคำถามสองคำถามที่ผุดขึ้นมาเมื่อเห็นตัวเลขอัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศไทยครับ คำถามแรกคือทำไมอัตราการเจริญพันธุ์ของไทยถึงได้ลดลงจากระดับ 6.3 เป็น หนึ่งกว่าๆ ภายในช่วงเวลาไม่กี่สิบปี และคำถามที่สองก็คือ ผลจากการที่อัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศไทยลดลงอย่างมากมายนั้นจะส่งผลกระทบต่อการบริหารองค์กรและภาคธุรกิจอย่างไรบ้าง
ในคำถามแรกน้ันทางผู้เขียนบทความได้ให้คำตอบไว้อย่างชัดเจนแล้วครับว่า นอกเหนือจากการที่ช่วงหนึ่งเราให้ความสำคัญกับการคุมกำเนิดและไม่เพิ่มจำนวนประชากรของประเทศให้มากกที่เป็นอยู่ ยังเกิดขึ้นเนื่องจากกระแสทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และ วิถีการดำรงชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ ที่เปลี่ยนไป ถ้าจะสังเกตแบบง่ายๆ ไม่ต้องอาศัยตัวเลขทางด้านวิชาการ ท่านผู้อ่านลองสังเกตตัวท่านเองหรือบุคคลรอบข้างก็ได้ครับว่าปัจจุบันอายุเฉลี่ยของการแต่งงานอยู่ที่เท่าไร? อีกทั้งเมื่อแต่งงานแล้ว ครอบครัวแต่ละครอบครัวจะรอนานแค่ไหนกว่าที่จะเริ่มคิดที่จะมีลูก? และเมื่อเริ่มคิดที่จะมีลุูกแล้ว จะมีได้ง่ายอย่างที่คิด และสามารถมีได้กี่คน? ท่านผู้อ่านจะพบว่าในปัจจุบันคนไทยแต่งงานกันช้าลง หรือ จำนวนมากที่พอใจที่จะไม่แต่งงาน ในขณะเดียวกันก็มีลูกช้าลง หรือ มีลูกน้อยลง หรือ แม้กระทั่งแต่งงานแล้ว เลือกที่จะไม่มีลูกก็เยอะ
ในทางประชากรศาสตร์น้ันเขาเรียกพวกที่แต่งงานแต่ไม่มีลูก (ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ)ว่าเป็นพวก “ครอบครัวปราศจากบุตร” หรือ DINK (Double Income No Kid) ครับ ซึ่งครอบครัวประเภท DINK นั้นมีแนวโน้มสูงขึ้น จากร้อยละ 11.2 ในปี 2542 เป็นร้อยละ 14.4 ในปี 2551 แสดงให้เห็นว่าในครอบครัว 100 ครอบครัว จะเป็นครอบคัวที่ไม่มีบุตรเกือบ 15 ครอบครัว ในขณะเดียวกันเราก็จะพบเห็นครอบครัวแบบ SINK (Single Income No Kid) มากขึ้น โดยครอบครัวแบบ SINK ก็คือคนที่ตัดสินใจที่จะครองตัวเป็นโสดมากขึ้น (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) โดยตัวเลขของอัตราการสมรสมีแนวโน้มที่จะลดลงจากอัตรา 28.5 ต่อพัน ในปี 2539 เป็นอัตรา 15.6 ต่อพัน ในปี 2551 ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยแต่งงานน้อยลงก็คงหนีไม่พ้นในเรื่องวิถีชีวิตที่ให้ความสำคัญต่อผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทุกคนต้องเร่งที่จะทำงาน อีกทั้งผู้หญิงจำนวนมากก็มีความรู้สึกที่สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และไม่เห็นความสำคัญหรือความจำเป็นที่จะต้องแต่งงาน
ก็น่าคิดต่อสู่คำถามที่สองนะครับว่าการที่อัตราการเจริญพันธุ์ของไทยลดลงนั้น สุดท้ายแล้วจะส่งผลต่อการบริหารองค์กรธุรกิจอย่างไร?? เอาไว้ในสัปดาห์หน้าเรามาดูกันต่อนะครับ