
15 September 2010
บริษัทหน่ึงที่น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับผู้สนใจศึกษาทางด้านกลยุทธ์คือนินเทนโด ผู้ผลิตอุปกรณ์และเกมยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับนินเทนโดก็คือกลยุทธ์ที่บริษัทใช้สำหรับการมุ่งจับกลุ่มผู้ที่ไม่ใช่ลูกค้าหรือขาประจำที่เล่นเกมเป็นประจำ และสามารถสร้างสรรค์ตลาดใหม่ขึ้นมาได้ และทำให้บริษัทประสบความสำเร็จทั้งในด้านยอดขายและชื่อเสียงด้วยเครื่องเล่น Wii อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นนอกเหนือจากการศึกษาถึงความสำเร็จในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาแล้ว ก็คือสิ่งที่นินเทนโดควรจะทำหรือควรจะมุ่งเน้นต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะทิศทางของบริษัทว่าควรจะมุ่งไปในทิศทางไหน อย่างไร?
ท่านผู้อ่านที่เล่นหรือติดตามเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกมคงจะทราบปรากฎการณ์ของ Wii ซึ่งเป็นเครื่องเล่นเกมที่นินเทนโดออกมาเมื่อประมาณสี่ปีที่แล้วได้เป็นอย่างดีนะครับ ในขณะที่คู่แข่งซึ่งใหญ่กว่าในทุกๆ ด้านอย่าง โซนี่ (ผ่านทางเครื่องเล่น Play Station) และ Microsoft (ผ่านทางเครื่องเล่น Xbox) พยายามที่จะผลิตเครื่องเล่นที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย (วัยรุ่นและเด็กที่ชอบเล่นเกม) โดยการทำให้เครื่องออกมามีสมรรถนะสูง มีความกราฟฟิกสวยงาม มีระบบเสียงดี แต่นินเทนโดกลับผลิตเครื่องออกมาโดยมุ่งเน้นกลุ่มบุคคลที่เราเรียกเป็น Non-Customers ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าปกติหรือผู้ที่เล่นเกมเป็นหลัก อาทิเช่นผู้ใหญ่จำนวนมากที่เลยวัยที่จะเล่นเกมแล้วให้ย้อนกลับมาเล่นเกม ด้วยการออกแบบระบบที่เล่นง่าย สามารถที่จะควบคุมหรือบังคับการเคลื่อนไหวของเกมได้อย่างง่ายดายด้วยการเคลื่อนไหวตัวรีโมตไปมา ซึ่งผลจากการจับกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าประจำของนินเทนโดนั้น ท่านผู้อ่านก็คงทราบแล้วนะครับว่าทำให้นินเทนโดมีผลประกอบการที่ดีที่สุดเท่าที่เคยดีมาก่อน และครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งในตลาดสำคัญอย่างอเมริกา โดยที่อเมริกานั้นส่วนแบ่งตลาดของเครื่อง Wii นั้นใหญ่กว่าส่วนแบ่งตลาดของ Play Station และ Xbox รวมกันด้วยซ้ำไปครับ
อย่างไรก็ดีเมื่อผลิตภัณฑ์ประสบความสำเร็จแล้วก็ถึงคราวที่จะเสื่อมถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าทางด้านเทคโนโลยีที่ในปัจจุบันเครื่องเล่น Wii ได้เลยจุดสูงสุดมาแล้ว และทุกคนก็กำลังเฝ้ารอเครื่องเล่นในยุคต่อมาว่าจะออกมาในรูปแบบ หน้าตาแบบไหน ขณะเดียวกันคุู่แข่งสำคัญอย่าง โซนี และ Microsoft หลังจากตกตะลึงไปกับความสำเร็จของ Wii มาเกือบ 3 ปี ก็ได้ประการตัวอุปกรณ์ต่อพ่วงเข้ากับเครื่อง Playstation และ Xbox ที่ทำให้ผู้เล่นสามารถอาศัยการเคลื่อนไหวทั้งตัวรีโมตและการเคลื่อนไหวของร่างกายในการบังคับและเล่นเกมได้ (ของโซนีนั้นชื่อ Sony PlayStation Move ในขณะของ Microsoft ชื่อ Kinect) คราวนี้ก็เป็นความท้าทายของนินเทนโดแล้วครับว่าจะทำอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคู่แข่งสำคัญทั้งสองรายมีเครื่องเล่นที่สามารถควบคุมและบังคับได้ง่าย เพียงอาศัยการเคลื่อนไหวของรีโมตหรือร่างกายก็บังคับเกมได้แล้ว แถมกราฟฟิกและสมรรถนะของเครื่องเล่นก็ดีกว่า Wii เสียอีก
วิเคราะห์กันไปมาก็พบว่านินเทนโดมีทางออกอยู่สองทางหลักๆ ครับ ทางแรกก็คือการขึ้นไปเล่นในตลาดบนชนกับคู่แข่งเลย โดยเครื่องเล่นเกมรุ่นใหม่ของนินเทนโดนั้นต้องไม่ด้อยกว่าคู่แข่งทั้งในเรื่องสมรรถนะ กราฟฟิก ระบบเสียง และอื่นๆ อีกมากมาย ในขณะเดียวกันก็ยังคงต้องมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับเรื่องของการเคลื่อนไหวอย่างง่ายและการเล่นเกมที่ง่ายที่เป็นจุดเด่นของนินเทนโด โดยในทางเลือกแรกนี้ก็ถือว่าท้าทายสำหรับนินเทนโดพอสมควรครับ เนื่องจากจะต้องทำให้เครื่องของตนเองมีสมรรถนะที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังคงใช้ฐานความสำเร็จของตนเองในเรื่องของการบังคับ การเคลื่อนไหว และการเล่นที่ง่าย มาต่อยอดเพื่อหาทางสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งซึ่งถือว่ามีกำลังและทรัพยากรที่เหนือกว่า ถ้านินเทนโดเลือกที่จะใช้กลยุทธ์นี้ก็ต้องถือว่าเป็นการชนแบบตรงๆ และมองว่าโอกาสที่จะประสบความสำเร็จของนินเทนโดจะไม่มากเท่าไร
อีกทางเลือกหนึ่งก็คือนินเทนโดยังคงมุ่งเน้นกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้า หรือ Non-Customer อยู่เหมือนเดิมครับ โดยจะต้องคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้สามารถดึงดูดกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าหลักของอุตสาหกรรมเกมให้เข้ามาเล่นเกมให้ได้ ซึ่งถ้านินเทนโดสามารถดึงกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าเหล่านี้ให้มาเล่นเกมได้ก็ถือว่าเป็นการขยายตลาดให้เติบโตขึ้นอีกรอบหนึ่ง อย่างไรก็ดีคำถามสำคัญสำหรับ Wii ก็คือกลุ่มไหนคือกลุ่มที่เป็น Non-Customer ที่ทางนินเทนโดควรจะมุ่งเน้นและจับเพื่อดึงเข้ามาเป็นลุูกค้าของตนเองให้ได้? ท่านผู้อ่านบางท่านก็อาจจะมองว่าเมื่อนินเทนโดออก Wii มา ก็ได้มุ่งเน้นไปยังกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าหลักอยู่แล้ว และสามารถดึงเอาผู้ใหญ่จำนวนมากที่ปกติไม่คิดจะซื้อและเล่นเกมให้มาเล่นเกมมากขึ้น จะยังเหลือกลุ่มไหนอีกที่นินเทนโดควรจะเข้าไปจับหรือมุ่งเน้น?
จริงๆ ถ้าคิดให้แหวกแนวไปก็อาจจะพบว่ายังมีอีกหลายกลุ่มนะครับ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ที่ไม่มีกำลังพอที่จะซื้อ Wii หรือเกมของ Wii มาเล่น หรือ กลุ่มผู้ที่ไม่มีเครื่องโทรทัศน์ที่บ้าน หรือ แม้กระทั่งกลุ่มที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ นินเทนโดจะออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อจับพวกที่เป็น Non-Customer เหล่านี้ได้หรือไม่??
กรณีของนินเทนโดนั้นต้องถือว่าเป็นหนังยาวที่ยังไม่จบดีครับ คงจะต้องเฝ้าดูต่อไปนะครับว่านินเทนโดจะใช้กลยุทธ์อะไรต่อไปและจะยังคงประสบความสำเร็จเช่นในอดีตได้หรือไม่