
8 September 2010
ผมได้มีโอกาสในการไปอ่านบทความชื่อ America’s 21st Century Business Model ของ Joel Kotkin ที่เขียนลงในวารสาร Forbes เมื่อไม่นานมานี้และพบว่าน่าสนใจดีครับ เลยขอนำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ บทความนี้พยายามอธิบายและให้ข้อเสนอแนะสำหรับรูปแบบหรือแนวทางในการเติบโตทางเศรษฐกิจของอเมริกาที่แตกต่างจากประเทศอื่น โดยผู้เขียนเขามองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของอเมริกานั้น จะต้องมาจากบรรดาผู้อพยพหรือชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำมาหากินในอเมริกาเป็นหลักครับ
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบรูปแบบการเติบโตของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงอย่างเช่น จีน รัสเซีย หรือบราซิลแล้ว จะพบว่าประเทศเหล่านั้นจะมีการบริหารปกครองที่ค่อนข้างจะรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง ดังนั้นการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ จึงมีลักษณะที่ค่อนข้าง Centralized พอสมควร ซึ่งรูปแบบการตัดสินใจและพัฒนาโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่รัฐบาลกลางนั้นก็มีข้อดีในแง่ของการตัดสินใจที่รวดเร็วและแนวทางที่ชัดเจน แต่สำหรับอเมริกานั้นผู้เขียนบทความดังกล่าวเขามองว่าเนื่องจากในอเมริกาเองมีความหลากหลายและแตกต่างทางเชื้อชาติค่อนข้างมาก ดังนั้นอเมริกาควรจะใช้ประโยชน์จากความหลากหลายและความแตกต่างดังกล่าวเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
หลักการดังกล่าวก็เหมือนกับหลักการของนวัตกรรมทั่วไปนะครับที่เขาบอกว่าทีมหรือกลุ่มคนที่จะสร้างนวัตกรรมได้ดีนั้น จะต้องมีความแตกต่างและหลากหลายระหว่างสมาชิกภายในทีมพอสมควร พอปรับมาใช้กับระดับประเทศก็เช่นเดียวกันครับ ประเทศใดที่จะก่อให้เกิดนวัตกรรมได้มาก ก็น่าจะมีความหลากหลายของประชากรที่มากเช่นเดียวัน ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นที่อเมริกาแล้ว ในอดีตเราจะเรียกอเมริกาว่าเป็นเบ้าหลอมทางวัฒนธรรม เนื่องจากการเข้ามาอยู่อาศัยของคนหลากหลายเชื้อชาติ แต่ปัจจุบันการเข้ามาอยู่ของคนชาติอื่นนั้นดูเหมือนจะไม่ได้เป็นเพียงแค่เบ้าหลอมทางวัฒนธรรมเท่านั้นนะครับ แต่กลายเป็นเบ้าหลอมทางธุรกิจด้วย
ระหว่างปี 1990 ถึง 2005 หนึ่งในสี่ของธุรกิจที่เกิดใหม่มาจากผู้อพยพเข้ามาอยู่ในอเมริกา นอกจากการที่ผู้อพยพเหล่านี้จะเริ่มต้นหรือสร้างธุรกิจใหม่แล้ว เรายังพบว่าคนเหล่านี้ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรต่างๆ มากขึ้นทุกขณะ ตัวอย่างเช่นปัจจุบันมีผู้บริหารสูงสุดของบริษัทอเมริกาที่มียอดขายเกินสองพันล้านเหรียญ มีเชื้อสายอินเดียอยู่ถึงแปดคนด้วยกัน ที่เราพอจะรู้จักและคุ้นเคยก็อย่างเช่น CitiCorps, Adobe, Pepsi ในขณะเดียวกันผู้บริหารสูงสุดของโค๊กก็มีเชื้อสายตุรกี หรือแม้กระทั่งผู้บริหารรุ่นต่อไปอย่างเช่น Li Lu ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมยุคเหตุการณ์เทียนอันเหมินที่อพยพเข้ามาอยู่ในอเมริกา ก็ได้รับการวางตัวไว้ว่าจะเป็นตัวแทนของ Warren Buffet ในการดูแล Berkshire-Hathaway เมื่อ Warren เกษียณจากการทำงานเต็มเวลา หรือ ปรากฎการณ์ที่พบอีกประการก็คือในสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจชั้นนำของอเมริกาอย่างเช่น Stanford, MIT, Wharton, Chicago, Berkeley จะมีนักศึกษาอย่างน้อยหนึ่งในสามที่มาจากประเทศอื่นๆ จนทำให้สถาบันการศึกษาเหล่านั้นเปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนฝึกหัดทางด้านบริหารธุรกิจสำหรับผู้ที่คิดจะอยู่ทำมาหากินต่อในอเมริกา
ถ้าคิดถึงหลักการเบื้องต้นก็พอจะเข้าใจได้นะครับว่าทำไมอเมริกาถึงฝากความหวังไว้ที่ผู้อพยพเหล่านี้ในการสร้างสรรค์และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของเขา เนื่องจากผู้อพยพเมื่อเข้าสู่อเมริกาใหม่ๆ การได้รับการยอมรับจากสังคมก็ย่อมไม่สามารถเทียบเท่ากับชาวอเมริกันที่อยู่มาอย่างดั้งเดิม ในขณะที่ผู้อพยพเเหล่านี้ก็ต้องพยายามขวนขวายและดิ้นรนในทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองสามารถอยู่รอดได้ในสังคม การที่จะมัวแต่ทำธุรกิจเดิมๆ ก็มีผู้อื่นทำไปหมดแล้ว ดังนั้นผู้อพยพเหล่านี้จึงต้องพยายามมองหาโอกาสและช่องว่างใหม่ๆ ทางธุรกิจทำในสิ่งที่คนอื่นยังไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งสุดท้ายความพยายามดังกล่าวย่อมนำไปสู่นวัตกรรมทางธุรกิจ ก่อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น และเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นอกเหนือจากฐานะของผู้สร้างธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นแล้ว บรรดาผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศเหล่านี้ยังเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากอเมริกาก็เหมือนกับอีกหลายๆ ประเทศที่อัตราการเพิ่มของประชากรลดน้อยลง ดังนั้นวิธีการที่ง่ายที่สุดในการรักษาและเพิ่มอัตราการบริโภคภายในประเทศได้นั้นก็ต้องมาจากผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัยเหล่าเองครับ
ก็น่าสนใจและศึกษานะครับว่าประเทศแต่ละประเทศเขาจะมีรูปแบบและแนวทางในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็นำมาสู่คำถามสำคัญว่าแล้วของประเทศไทยนั้น อะไรคือรูปแบบและแนวทางในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ?? ใช่ยังเป็นเรื่องของการพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวอยู่เหมือนเดิมใช่หรือไม่?? ก็ฝากกันไปคิดต่อแล้วกันนะครับ