3 August 2010

            เนื้อหาในสัปดาห์นี้ยังคงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ โดยขอนำเสนอแนวโน้มต่างๆ ที่ผู้บริหารองค์กรต่างๆ ไม่ควรพลาด โดยข้อมูลของแนวโน้มต่างๆ เหล่านี้ผมก็นำมาจากวารสาร Harvard Business Review ที่เขามีการรวบรวมแนวโน้มต่างๆ เหล่านี้ไว้เป็นระยะๆ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้นำเสนอแนวโน้มที่สำคัญไปแล้ว 5 ประการ สัปดาห์นี้เรามาต่อกันเลยนะครับ

            แนวโน้มที่สำคัญประการหนึ่งคือเรื่องของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปครับ ซึ่งจริงๆ เรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นถือว่าเป็นแนวโน้มที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว แต่ยิ่งหลังภาวะวิกฤตหรือช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เริ่มฟื้นตัวกลับขึ้นมาอีกครั้ง เชื่อว่าพฤติกรรมผู้บริโภคก็ย่อมเปลี่ยนไปจากในอดีต สิ่งที่เรามั่นใจได้ประการหนึ่งก็คืออัตราการใช้จ่ายของผู้บริโภคน่าจะลดลงเนื่องจากการที่เพิ่งพลิกฟื้นจากภาวะวิกฤต ประกอบกับภาวะประชากรที่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ก็จะทำให้อัตราการค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคลดต่ำลง

            ผู้บริโภคในปัจจุบันจะต้องการสินค้าหรือบริการที่มีความเรียบง่ายหรือ Simplicity มากขึ้น ผู้บริโภคต้องการสินค้าหรือบริการจากบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการสินค้าหรือบริการที่เรียบง่าย ทั้งในแง่ของการออกแบบและการใช้งาน เนื่องจากในอดีตผู้บริโภคจะเผชิญกับสินค้าหรือบริการที่ยุ่งยากและสลับซับซ้อนมาเยอะ ดังนั้นในปัจจุบันผู้บริโภคจะถวิลในสิ่งที่เรียบง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นสินค้าและบริการที่ง่ายต่อการใช้งาน ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้จากความสำเร็จของบริษัทอย่างเช่น Apple ได้นะครับ สาเหตุความสำเร็จของ Apple ประการหนึ่งนั้นคือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่ายและเป็นมิตรต่อผู้บริโภค

            นอกจากนี้แนวโน้มที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคในยุคปัจจุบันก็คือการให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากสังคมทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ตัวอย่างเช่นในสหรัฐนั้นในอีกห้าปีข้างหน้า ครึ่งหนึ่งของมูลค่าการใช้จ่ายโดยผู้บริโภคนั้นจะมาจากลูกค้าที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป

            แนวโน้มอีกประการหนึ่งก็คือการเติบโตของประเทศในทวีปเอเซีย โดยนักวางแผนทั้งหลายจะให้ข้อเสนอแนะไว้ครับว่าให้นักลงทุนทั้งหลายเพิ่มการลงทุนในประเทศแถบเอเซียมากขึ้น เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตจะมาจากทวีปนี้เป็นหลัก แต่การจะเข้าไปลงทุนในประเทศเอเซียได้นั้น จะต้องมีการเลือกคู่ค้าหรือพันธมิตรที่สำคัญ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลท้องถิ่น และการปรับสินค้า บริการ และคุณค่าที่นำเสนอให้เข้ากับตลาดของแต่ละประเทศ ปัจจุบันในเมืองใหญ่ๆ ในเอเซียนั้นจะมีการเติบโตที่ค่อนข้างเกือบจะอิ่มตัวอยู่แล้ว ดังนั้นข้อแนะนำคือถ้าจะเข้าตลาดเอเซียนั้นควรจะเน้นในเมืองเล็กๆ ตามต่างจังหวัดมากกว่าที่จะเข้าสู่เมืองใหญ่ อย่างไรก็ดีการเข้าสู่เมืองเล็กๆ นั้นก็มีความท้าทายทั้งในเชิงของการตลาดและการจัดจำหน่ายนะครับ แนวโน้มอีกประการหนึ่งที่สำคัญสำหรับตลาดเอเซียคือประเทศตะวันตกจะไม่เพียงแค่เข้ามาลงทุนหรือทำการตลาดในทวีปเอเซียมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะมีการย้านฐานการวิจัยและพัฒนา การออกแบบ และเรื่องของนวัตกรรมเข้ามาที่เอเซียมากขึ้น เรียกได้ว่าเพื่อให้เรื่องของนวัตกรรมนั้นใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมายหลักมากขึ้น ไม่ใช่ให้เกิดนวัตกรรมในประเทศตะวันตกเพื่อมาขายในโลกตะวันออก

            พอเขียนเรื่องนวัตกรรมก็ต้องเขียนถึงแนวโน้มของเรื่องนวัตกรรมด้วยเช่นเดียวกันครับ ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาบริษัทต่างๆ จะเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาและการลงทุนในด้านนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแนวโน้มหนึ่งที่พบก็คือถึงแม้ภาวะเศรษฐกิจจะไม่ดี บริษัทต่างๆ จะประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าค่าใช้จ่ายในด้านนวัตกรรมหรือการวิจัยและพัฒนานั้นกลับจะไม่ได้ลดลงเลยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยและพัฒนาในสาขาที่จะมีความสำคัญในอนาคตไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีสารสนเทศ Biotechnology, Nanotechnology, Material Science และเรื่องของพลังงานที่สะอาดหรือ Clean Energy

            อย่างไรก็ดีถึงแม้แนวโน้มของค่าใช้จ่ายเรื่องวิจัยและพัฒนาจะไม่ลด แต่หลายๆ บริษัทก็จะให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องของการวิจัยและพัฒนามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการควบควมกิจกรรมด้านวิจัยและพัฒนาเข้าด้วยกัน เป็นต้น มีงานวิจัยที่น่าสนใจที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทที่มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนามากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังประสบกับปัญหานั้น เมื่อเศรษฐกิจพลิกฟื้นตัวใหม่แล้วบริษัทดังกล่าวจะสามารถก้าวไปได้มากกว่าและเร็วกว่าบริษัทอื่นที่ไม่ได้ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนามากในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ตัวอย่างที่เห็นอย่างชัดเจนก็คือ Apple อีกเหมือนเดิมครับที่ระหว่างปี 2001-2003 ที่อุตสาหกรรมประสบกับปัญหาเรื่องของยอดขายและกำไรนั้น ทาง Apple กลับลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ออกมาเป็น Apple iPod  ที่ท่านผู้อ่านคุ้นเคยดีครับ