28 July 2010

ท่านผู้อ่านสังเกตไหมครับว่าในการสอนทางด้านบริหารและกลยุทธ์ต่างๆ นั้น จะมีการเน้นย้ำให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มต่างๆ อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งการให้ความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในแนวโน้มต่างๆ เหล่านี้ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อองค์กรมีการวางแผนต่างๆ นั้น ในทางปฏิบัตินั้นองค์กรจำนวนมากก็ไม่ได้มีการนำแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเหล่านั้นเข้ามาเสริมหรือเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนเท่าใด ทำให้เกิดข้อสงสัยนะครับว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วเราได้มีการให้ความสำคัญต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ รอบๆ ตัวเรากันอย่างแท้จริงมากน้อยเพียงใด?

            จริงๆ แล้วผู้บริหารองค์กรต่างๆ จะต้องให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มหรือ Trends ต่างๆ กันอย่างมากนะครับ บางบริษัทที่ละเลยการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มเหล่านี้ก็ส่งผลให้บริษัทประสบความล้มเหลวหรือถึงขั้นล้มละลายไปเลยก็มี อาทิเช่น กล้องถ่ายรูปของ Polaroid ซึ่งในอดีตเคยเป็นผู้นำในกล้องถ่ายรูปในระบบถ่ายแล้วได้ภาพทันที แต่การที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ Polaroid แทบจะสูญหายไปจากตลาด หรือ อย่าง Encyclopedia Britannica ซึ่งในอดีตเป็นเจ้าตลาดของพวกสารานุกรมต่างๆ แต่เนื่องจากยังยึดมั่นกับรูปแบบและระบบเดิมๆ ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเทคโนโลยีสารสนเทศที่เปลี่ยนแปลงไปและสุดท้ายก็พ่ายแพ้แก่อินเตอร์เน็ตดังที่ท่านผู้อ่านคงพอจะทราบดี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ถือว่าเป็นความเสี่ยงทางกลยุทธ์ประเภทหนึ่งที่ผู้บริหารองค์กรต่างๆ จะต้องมีการเฝ้าระวังและติดตามอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีการปรับการดำเนินงานขององค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงหรือแนวโน้มที่เกิดขึ้น

            เมื่อปีที่แล้วทางวารสาร Harvard Business Review ได้ตีพิมพ์บทความหนึ่งเกี่ยวกับแนวโน้มที่สำคัญ 10 ประการที่ผู้บริหารองค์กรต่างๆ ทั่วโลกควรจะต้องเฝ้าติดตาม โดยแนวโน้มทั้งสิบประการประกอบด้วย

  1.   ทรัพยากรทางธรรมชาติต่างๆ เริ่มที่จะมีอย่างจำกัดขึ้น ทั้งในเรื่องของน้ำมัน อาหาร น้ำดื่ม และพลังงานอื่นๆ ซึ่งผลจากความจำกัดของทรัพยากรทางธรรมชาติเหล่านี้ ทำให้มีแนวโน้มในอนาคตว่าราคาของทรัพยากรทางธรรมชาติเหล่านี้จะขยับสูงขึ้น
  2.  การต่อต้านต่อกระแสโลกาภิวัฒน์หรือ Globalization ซึ่งในอดีตเมื่อประมาณยี่สิบปีที่แล้ว กระแสความตื่นตัวในเรื่องของโลกาภิวัฒน์นั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งของผู้บริหารทั่วโลก แต่หลังจากที่ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจต่างๆ เป็นโลกาภิวัฒน์กันไปหมดแล้ว กลับมีอีกกระแสหนึ่งที่ต่อต้านกับภาวะโลกาภิวัฒน์ดังกล่าว ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากการที่ประชากรของประเทศต่างๆ เริ่มเห็นผลเสียของกระแสโลกาภิวัฒน์ อีกทั้งความตื่นตัวในเรื่องของการปกป้องทางการค้าของแต่ละประเทศหรือแต่ละภูมิภาคก็ทวีมากขึ้น สิ่งที่ผู้บริหารควรจะดูก็คือ ลองทบทวนดูว่ารูปแบบการทำธุรกิจของตนเองที่เน้นในเรื่องของโลกาภิวัฒน์นั้นยังเหมาะสมต่อสภาวการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรือไม่
  3.  เริ่มที่จะมีการตั้งข้อสงสัยจากภาคสังคมต่อภาคธุรกิจ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจ (โดยเฉพาะของโลกตะวันตก) นั้นจะมุ่งเน้นการตอบสนองต่อความพอใจหรือผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก และการมุ่งเน้นต่อผู้ถือหุ้นก็อาจจะกลายเป็นการทำร้ายสังคม ประชาชน หรือ ผู้ใช้บริการ ดังจะเห็นได้จากคดีทุจริตทางด้านธุรกิจต่างๆ ในต่างประเทศท่ีมีมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มนี้ทำให้องค์กรต่างๆ จะต้องหามาให้ความสนใจต่อสังคมมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากความตื่นตัวในการทำ CSR ในบ้านเรา รวมทั้งเรื่องของ Social Enterprise  ที่พูดถึงกันมากในระยะหลัง
  4.  การที่รัฐบาลได้เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะผ่านทางกฎ ระเบียบ และนโยบายต่างๆ ซึ่งในเมืองไทยเองก็จะเห็นได้จากบทบาทของรัฐบาลในช่วงหลัง ซึ่งการตัดสินใจสำคัญๆ หลายประการนั้นจะส่งผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจมากขึ้น
  5.  ในศาสตร์ทางด้านการบริหารจัดการนั้น การมองการบริหารจัดการเป็นศาสตร์นั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าดูจากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ประสบความล้มเหลวนั้นส่วนใหญ่จะพยายามเอาการจัดการมาใช้เป็นศาสตร์ แต่แนวโน้มปัจจุบันจะเป็นการมองการจัดการโดยหันไปเน้นที่ตัวคนและพฤติกรรมของคนมากขึ้น ตัวอย่างคือเรื่องของ Behavior Economics ซึ่งในช่วงหลังจะมีงานด้านนี้ออกมามากขึ้น ดังนั้นผู้บริหารไม่ควรจะมองหรือให้ความสำคัญแต่เฉพาะเรื่องของเครื่องมือการบริหารจัดการ แต่ควรจะหันกลับมามองที่ความคิด ข้อจำกัด พฤติกรรมของคนมากขึ้น

            ก็ขอนำเสนอให้เห็นแนวโน้มที่สำคัญห้าประการก่อนนะครับ สัปดาห์หน้าจะมาต่อในอีกห้าประการที่เหลือ แต่ก่อนจะจบก็อยากจะฝากท่านผู้อ่านไว้นะครับว่าเมื่อเราศึกษาหรือเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มต่างๆ อย่างต่อเนื่องแล้ว เราจะต้องสามารถนำเรื่องของแนวโน้มเหล่านี้นั้นเข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อองค์กรอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่อ่านสนุกๆ ท่านผู้อ่านลองดูนะครับ จากแนวโน้มห้าประการข้างต้นเราจะสามารถนำกลับมาปรับใช้กับการบริหารองค์กรได้อย่างไร แล้วในฉบับหน้าจะมาเสนอแนะครับ ว่าจะมีแนวทางในการนำแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้มาปรับเข้ากับกลยุทธ์ขององค์กรได้อย่างไร