30 June 2010

ท่านผู้อ่านคงจะทราบถึงประเด็นปัญหาในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างประชากรของประเทศอยู่แล้ว ว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมส.ว. หรือ สังคมสูงวัย เนื่องจากไม่ช้า ไม่นานประชากรไทยที่ถือเป็นผู้สูงวัยนั้นจะมากขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรนั้นไม่ได้เป็นปรากฎการณ์ที่จะเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปรากฎการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เนื่องจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยนั้นเป็นสิ่งกำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก ปรากฎการณ์สูงวัยในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น มาจากทั้งอัตราการเกิดที่ลดน้อยลง อีกทั้งการดูแลสุขภาพผู้สุงอายุก็ดีขึ้น ตัวเลขสถิติต่างๆ นั้นก็แสดงให้เห็นถึงปรากฎการณ์นี้ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ระหว่างปี 1950 และ 2000 นั้น สัดส่วนของประชากรโลกที่อายุเกิน 60 นั้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 และจากตัวเลขที่มีอยู่นั้นแสดงให้เห็นต่อไปอีกครับว่าในปี 2050 หรืออีก  40 ปีข้างหน้านั้นตัวเลขนี้จะเพิ่มเป็นร้อยละ 21 แสดงว่าหนึ่งในห้าของประชากรทั่วโลกจะมีอายุมากกว่า 60 ปี และถ้าดูเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่นญี่ปุ่น และประเทศในยุโรปตะวันตก ในอีก 40 ปีข้างหน้านั้น ประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปนั้น จะมีถึงร้อยละ 40 ของประชากรทั้งประเทศทีเดียว

            สำหรับในบางประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่นสหรัฐอเมริกานั้นกลับไม่ได้มีปัญหาเรื่องประชากรสูงวัยเหมือนประเทศพัฒนาอื่นๆ นั้นเนื่องจากที่อเมริกานั้นจะมีชาวต่างประเทศอพยพเข้าไปอยู่ในอเมริกาจำนวนมากทำให้สามารถทดแทนประชากรสูงวัยที่อเมริกาได้ อย่างไรก็ดีข้อมูลโครงสร้างของประชากรข้างต้นนั้นเป็นลักษณะของโครงสร้างประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่สำหรับที่กำลังหรือด้อยพัฒนานั้นกลับแตกต่างกัน เนื่องจากในประเทศที่กำลังพัฒนานั้นจะยังคงมีอัตราการเกิดที่สูง ทำให้ประชากรยังมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโครงสร้างของประชากรในประเทศกำลังพัฒนานั้น จะยังประกอบด้วยประชากรวัยแรงงานอยู่มากในอนาคต อย่างไรก็ดีสำหรับบางประเทศอย่างเช่นประเทศจีนนั้น กลับจะแตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เนื่องจากจีนนั้นเป็นหนึ่งประเทศกำลังพัฒนาที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับประเทศพัฒนาอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากประเทศจีนนั้นเท่าที่ผ่านมา ทางรัฐบาลมีการคุมกำเนิดกันอย่างจริงจัง ทำให้จีนสามารถคุมกำเนิดอัตราการเพิ่มของประชากรได้ในช่วงที่ผ่านมา และทำให้ในปัจจุบันร้อยละ 11 ของประชากรจีนที่มีอายุเกิน 60 และภายในปี 2040 สัดส่วนดังกล่าวจะสูงถึงร้อยละ 28

ความแตกต่างในเรื่องของโครงสร้างประชากร ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนานั้น จะก่อให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกเป็น Demographic Dividend  ซึ่งปรากฏการณ์ความแตกต่างทางโครงสร้างประชากรดังกล่าว เป็นสิ่งที่ผู้นำและนักวิชาการทั่วไปยังไม่ค่อยได้ให้ความสนใจเท่าไร

คำถามที่จะเกิดขึ้นสำหรับประเทศที่จะเข้าสู่สังคมสูงวัยก็คือเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าประกันสังคมต่างๆ รวมทั้งผลกระทบต่อต่อธุรกิจและสังคม สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือสำหรับผู้สูงอายุแล้วค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพนั้นจะสูงกว่ากลุ่มคนที่อายุน้อยกว่าถึง  7 เท่า (จากตัวเลขของประเทศญี่ปุ่น) ดังนั้น ถ้าในอนาคตสัดส่วนของประชากรสูงอายุมีมากกว่าหรือเท่ากับรุ่นหนุ่มสาวแล้ว ก็แสดงว่าคนรุ่นใหม่จะต้องทำงานหนัก เพื่อแสวงหารายได้เข้ามาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุหรือไม่?

นอกจากนี้อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือเรามักจะเหมารวมผู้สูงอายุไว้ด้วยกัน นั้นคือถ้าใครอายุเกิน 60 หรือ 65 แล้วจะถูกเหมารวมเป็นผู้สูงอายุหมด แต่จริงๆ แล้วเรายังสามารถแบ่งแยกกลุ่มผู้สูงอายุออกเป็นแต่ละช่วงชั้น ไม่ว่าพวก 50 ปลายๆ หรือ พวก 60 ขึ้นไป หรือ 70 ขึ้นไป หรือ 80 ขึ้นไป ซึ่งแต่ละช่วงอายุย่อมมีความต้องการต่อด้านต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป ได้เคยมีผู้เชี่ยวชาญให้ข้อเสนอไว้ว่าแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายมีอยู่สองแนวทางด้วยกัน นั้นคือการเปิดโอกาสให้ผู้อพยพชาวต่างชาติจากประเทศที่กำลังพัฒนา (ที่มีประชากรวัยหนุ่มสาวมาก) เข้ามามีโอกาสแสวงหางานทำมากขึ้น หรือ อีกแนวทางหนึ่งคือการให้ผู้สูงอายุได้ไปใช้ชีวิตที่ประเทศอื่น (ซึ่งวิธีนี้ประเทศญี่ปุ่นเคยพยายามทดลองแล้วครับ)

จริงๆ แล้วการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุยังเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจจำนวนมาก เพียงแต่ธุรกิจเองก็ต้องให้ความสนใจต่อการพัฒนาสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองต่อประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น ถึงแม้ในปัจจุบันจะเริ่มมีสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น แต่ธุรกิจโดยทั่วไปนั้นก็มักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุเท่าไร การที่เรากำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยนั้นภาคธุรกิจจะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติให้มุ่งเน้นและให้ความสำคัญต่อผู้สูงวัยมากขึ้น

จากข้อมูลของนักประชากรศาสตร์ ประเทศไทยเองก็กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ถึงแม้เราจะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา แต่เราก็ประสบกับปัญหาเหมือนจีนที่อัตราการเกิดลดน้อยลง ในขณะที่ผู้สูงอายุก็มีอายุยืนยาวมากขึ้น คำถามสำหรับผู้บริหารประเทศก็คือ ประเทศไทยได้มีนโยบายหรือแนวทางที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมสำหรับการเตรียมความพร้อมประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยหรือยัง? หรือเป็นเรื่องที่ยาวเกินไปสำหรับนักการเมือง?