
13 May 2010
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอถึงสาเหตุและความจำเป็นต่างๆ ที่การศึกษาทางด้าน MBA ในประเทศไทยควรจะเปลี่ยนไป มาในสัปดาห์นี้มาต่อเนื่องกันนะครับว่าในต่างประเทศนั้นเขามอง ถึงแนวโน้มของการศึกษาทางด้าน MBA ไว้อย่างไรบ้าง โดยนำมาจากสรุปของหนังสือชื่อ Rethinking the MBA: Business Education at a Crossroads เขียนโดย Srikant M. Datar, David A. Garvin, และ Patrick G. Cullen ซึ่งข้อมูลหนังสือเล่มนี้มาจากการที่เมื่อสองปีที่แล้ว Harvard Business School ฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีของการก่อตั้ง และได้มีการทำการจัดกิจกรรมและเสาะหาข้อมูลเพื่อแสวงหาถึงแนวทางในการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจ โดยข้อมูลต่างๆ ได้รวบรวมมาจากการสัมภาษณ์ทั้งผู้บริหาร คณบดี ศิษย์เก่าของสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจในอเมริกา รวมทั้งการศึกษาจากข้อมูล ตัวเลข และสถิติต่างๆ ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาทางด้าน MBA ในอเมริกา ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดี สำหรับเมืองไทยได้เช่นเดียวกันครับ
ปัญหาที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ประสบอยู่ในปัจจุบันก็คือจำนวนผู้ที่สมัครเรียน MBA ลดน้อยลง บริษัทหลายๆ แห่งก็จะไม่สนับสนุนให้พนักงานของตนเองเข้าศึกษาต่อในระดับ MBA โดยจัดหลักสูตรอบรมต่างๆ ให้แทน โดยมองว่าการไปเรียน MBA นั้นเปรียบเสมือนการไปเข้า คอร์สอบรมนานสองปี ผลการศึกษาพบว่าสถาบันต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการสอนทางด้าน MBA เสียใหม่ โดยในอดีตและปัจจุบันนั้น MBA ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องของการวิเคราะห์ เรื่องของตัวเลข สถิติ โมเดลต่างๆ อย่างไรก็ดีผลจากการวิจัยพบว่าสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการจากผู้ที่จบ MBA ไม่ใช่เรื่องของตัวเลข การวิเคราะห์ หรือ สถิติต่างๆ แต่กลับเป็นเรื่องของแนวคิดเชิงโลกาภิวัตน์ (Global mindset) การเป็นผู้นำที่รู้จักตนเอง (Self-Awareness) การเข้าใจถึงบทบาทและความรับผิดชอบของธุรกิจ รวมทั้งความเข้าใจถึงข้อจำกัดต่างๆ ของตลาดและอุตสาหกรรม
สิ่งที่ผู้เขียนหนังสือได้เสนอแนะไว้ว่าในอดีตนั้นการสอน MBA จะเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ หรือ Knowing เป็นหลัก ดังนั้นกระบวนการในการเรียนการสอนจึงเน้นการให้ความรู้ในห้องเรียนผ่านกรณีศึกษา ผ่านการบรรยาย ฯลฯ แต่ในอนาคตผู้ที่จบ MBA นั้น นอกเหนือจากการที่จะมี ความรู้หรือ Knowing เป็นหลักแล้ว ยังจะต้องสามารถมีความสามารถในการปฏิบัติ หรือ Doing และการรู้จักตนเอง หรือ Being ด้วย การปฏิบัติหรือ Doing นั้นก็คือการมีทักษะต่างๆ ที่สำคัญและจำเป็นต่อการบริหารองค์กรในปัจจุบัน ซึ่งทักษะเหล่านี้อาจจะดูเป็นทักษะง่ายๆ แต่ไม่ค่อยได้มีการสอนกันในสถาบันการศึกษาเท่าไร อาทิเช่น ทักษะการนำการประชุม ซึ่งผู้บริหารทุกคนจะต้องมีความสามารถในการที่จะเป็นผู้นำการประชุมได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือประสิทธิผล หรือ ทักษะในการนำเสนอ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งง่ายๆ แต่ถ้าผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกมาก่อนก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ง่ายได้
นอกเหนือจาก Doing แล้ว ยังมีอีกปัจจัยที่สำคัญนั้นคือ Being นั้นคือผู้ที่จบจาก MBA ควรจะมีความตระหนักถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งที่เกี่ยวข้องกับตนเอง และเกี่ยวกับองค์กร สิ่งที่เกี่ยวข้องกับตนเองนั้น จะเป็นการตระหนักในตนเอง นั้นคือควรจะรู้ว่าตัวเองนั้นมีจุดแข็ง หรือ จุดอ่อนอะไรบ้าง อะไรคือสิ่งที่ตนเองเชี่ยวชาญ อะไรคือสิ่งที่ตนเองยังต้องพัฒนา อีกทั้งยังต้องรู้และเข้าใจด้วยว่าสิ่งต่างๆ ที่ตนเองกระทำนั้นจะส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่นๆ รอบข้างมากน้อยเพียงใด ส่วนการตระหนักถึงสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวนั้น ก็เป็นการเข้าใจถึงพลวัตรและความเป็นไปภายในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจัยต่างๆ ที่จับต้องไม่ได้ ทั้งเรื่องของการเมืองภายในองค์กร แหล่งและที่มาของอำนาจต่างๆ ภายในองค์กร
ดูเหมือนว่าการมุ่งเน้นใน Doing และ Being มากขึ้นนั้นจะทำให้ผู้จบ MBA หันมาให้ความ สำคัญกับปัจจัยต่างๆ ที่จับต้องไม่ได้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การเรียน MBA เพื่อให้มีความรู้และความ สามารถในการวิเคราะห์เท่านั้น แต่ยังต้องมีทั้งทักษะต่างๆ ที่สำคัญต่อการบริหารองค์กร และความ ตระหนักต่อทั้งตนเองและสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในองค์กร สาเหตุของความจำเป็นที่ MBA จะต้องเปลี่ยนนั้นก็เนื่องจากลักษณะของผู้นำที่ประสบความสำเร็จกำลังจะเปลี่ยนไป จากผู้นำในอดีตที่ค่อนข้างมีอำนาจอยู่เยอะ จะกลายเป็นผู้นำที่ลูกน้องมีความแตกต่างทางความคิดมากขึ้น ทำให้ผู้นำจะต้องเผชิญกับความขัดแย้งมากขึ้น จะต้องมีความเข้าใจในตัวผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว และมากขึ้น ผู้นำยุคใหม่จะต้องเข้าใจบุคคลรอบข้าง และสามารถที่จะทำงานร่วมกับบุคคลที่มีความแตกต่างและหลากหลาย อีกทั้งสามารถจูงใจและกระตุ้นให้คนรอบตัวสามารถทำงานได้สำเร็จ โดยที่ผู้นำเองอาจจะไม่ต้องเป็นผู้ออกหน้าเหมือนในอดีต