6 May 2010

คำถามสำคัญที่อยากจะถามท่านผู้อ่านในสัปดาห์นี้ก็คือ ถึงเวลาจะเปลี่ยนแปลง ปฏิรูป ระบบการศึกษาทางด้าน MBA กันหรือยัง? ปัจจุบันการศึกษาทางด้าน MBA ในประเทศไทยได้เติบ โตและแพร่ไปอย่างกว้างขวาง ในรอบยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา การเติบโตของการศึกษาทางด้าน MBA ในประเทศไทย ได้เติบโตไปอย่างมากทั้งการแพร่กระจายไปยังทั่วทุกภูมิภาค สถาบันการศึกษาต่างๆ ก็แห่กันมาเปิดหลักสูตร MBA เต็มไปหมด ในขณะเดียวกันตัวหลักสูตรก็มีการโตและแตกกันมากขึ้น โดยเปิด MBA ในรูปแบบและหลักสูตรใหม่ๆ กันเต็มไปหมด โดยทุกสถาบันต้องการที่จะสร้างความแตกต่างและความโดเด่นให้กับหลักสูตรของตนเอง อาทิเช่น การเปิดหลักสูตร MBA เฉพาะด้าน เฉพาะกลุ่มลูกค้ามากขึ้น

            จริงๆ แล้ว หลักสูตร MBA ก็เปรียบเสมือนเป็นผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งนะครับ และก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกับสินค้าหลายๆ ตัวที่เรานำเข้ามาจากโลกตะวันตก และในช่วงหลังก็มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับประเทศไทยมากขึ้น ถ้าทบทวนอายุ ของผลิตภัณฑ์ตัวนี้ก็ต้องบอกว่าเก่าแก่กันพอสมควร ถ้านำเอาทฤษฎีเรื่องวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์มาประยุกต์ใช้ ก็คงต้องบอกว่า ปัจจุบันหลักสูตร MBA ในประเทศไทยนั้นน่าจะเลยจุดอิ่มตัวมาพอสมควรแล้ว สังเกตุได้จากการที่สถาบันต่างๆ พยายามแตกผลิตภัณฑ์ MBA ออกเป็น Segment ย่อยๆ ตามกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่ม มากขึ้น เปรียบได้เหมือนกับผลิตภัณฑ์และบริการทั่วไปที่เมื่อถึงจุดอิ่มตัว บรรดาองค์กรธุรกิจก็มักจะหาทางออกโดยการแตก Segment ต่างๆ ให้ย่อยลงเรื่อยๆ

            นอกจากวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่เลยจุดอิ่มตัวมาแล้ว ก็เริ่มมีคำถามจากภาคธุรกิจและผู้เรียนเหมือนกันนะครับว่า ทำไมต้องเรียน MBA ด้วย และการเรียน MBA แล้วผู้เรียนได้อะไรบ้าง?? นอกเหนือจากใบปริญญาและการได้ชื่อว่าจบ MBA และจบจากสถาบันชั้นนำแล้ว เคยมีคนเปรียบ การเรียน MBA ด้วยซ้ำไปนะครับ ว่าเป็นเสมือนการเข้าหลักสูตรอบรมที่มีระยะเวลาสองปี ในต่างประเทศนั้นเขาวิเคราะห์กันไว้ว่าผู้ที่เรียน MBA นั้นส่วนมากเป็นเพราะต้องการที่จะเปลี่ยน วิชาชีพของตนเอง เช่น จากวิศวกรก็กลายมาเป็นนักการเงิน แต่ในประเทศไทยนั้นผมพบจากลูก ศิษย์จำนวนมากที่เมื่อจบไปก็ยังคงประกอบวิชาชีพเดิม แถมบางคนยังอยู่หรือกลับไปทำงานที่ บริษัทเดิมอีกต่างหาก

            นอกจากนี้ก็ได้มีข้อสงสัยกันมานานแล้วเกี่ยวกับบรรดาหลักสูตร MBA แบบเต็มเวลา (เรียนช่วงกลางวัน) ทั้งหลาย ว่าคุ้มและก่อให้เกิดประโยชน์จริงหรือไม่? เนื่องจากถ้าบุคคลผู้หนึ่งจะต้องลาออกจากงานที่ทำอยู่เพื่อมาเรียนหนังสือเป็นเวลา 2 ปีแล้วนั้น เมื่อจบการศึกษากลับไป และเปรียบเทียบกับเพื่อนที่ยังคงทำงานอยู่ โดยไม่ได้ออกมาเรียนหนังสือ ความก้าวหน้านั้นจะเป็น อย่างไร? ในระยะหลังจะพบว่าการยังคงอยู่ในอาชีพการงาน โดยไม่ได้ลาออกมาเรียนหนังสือนั้น กลับมีโอกาสในการเติบโตได้มากกว่า ทำให้เราจะพบว่าในปัจจุบันหลักสูตร MBA แบบที่เรียน ตอนเย็นหรือช่วงสุดสัปดาห์นั้น กลับเป็นที่นิยมในประเทศไทยมากกว่าหลักสูตรที่ต้องลาออกมา เพื่อเรียนหนังสืออย่างเดียว

            อีกแนวโน้มหนึ่งก็คือการพัฒนาบุคลากรขององค์กรต่างๆ นั้นก็มีระบบและล้อเลียนจากหลักสูตร MBA กันมากขึ้น ถ้าโชคดีที่อยู่ในองค์กรที่มีระบบการพัฒนาบุคลากรที่ดี ถ้าพนักงานเพียงต้องการเพิ่มพูนความรู้ เพื่อให้สามารถรองรับต่อความก้าวหน้าทางอาชีพการงาน องค์กรที่ดีก็จะมีระบบในการพัฒนาบุคลากรที่ดีและเหมาะสมอยู่แล้ว แถมบางครั้งอาจจะดีและตรงกับความต้องการมากกว่าการมาเรียน MBA ตามปกติก็ได้ นอกจากนี้ถ้าวัตถุประสงค์ของการเรียน MBA นั้นคือเรื่องของความรู้ เราก็จะพบว่าหลักสูตรอบรมที่จัดโดยหน่วยงานต่างๆ ก็เปิดกันอย่างมากมาย โดยถึงแม้จะไม่สามารถทดแทนการเรียน MBA ในชั้นเรียนได้ แต่ก็ช่วยต่อยอดเสริมความรู้ให้กับผู้ ที่ต้องการได้ดีในระดับหนึ่ง

            ทั้งหมดที่เขียนมาไม่ได้มีเจตนาที่จะบอกว่า MBA ไม่ดีนะครับ แต่ถ้าเปรียบเสมือนสินค้า ตัวหนึ่ง MBA ก็เลยจุดอิ่มตัวมาแล้ว คิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะมาปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงระบบ การศึกษาทางด้าน MBA ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ต่างๆ มากขึ้น การเรียน MBA ยังมีข้อดีในตัว เองอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเพื่อน เวลาที่ต้องทุ่มเท การลงลึกในศาสตร์ทางด้านการบริหาร ฯลฯ แต่ก็เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ทั้งหลาย ที่พอเติบโตมาถึงจุดๆ หนึ่งก็อาจจะที่จะต้องล้มกระดานหรือ ปฏิรูปตนเอง เพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่า อย่างไรก็ดีเหมือนกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ทั่วๆ ไปนะครับ การจะปรับ MBA ให้ได้ดีนั้น คงจะไม่ใช่เพียงแค่เอาบรรดาคณาจารย์หรือผู้บริหารมานั่ง ประชุมกัน หรือ รับฟังความคิดเห็นจากศิษย์เก่าแต่เพียงอย่างเดียวนะครับ หลักในการพัฒนากลยุทธ์ หรือ ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในปัจจุบันนั้น จะต้องสำรวจและรับฟังความคิดเห็นให้หลากหลายยิ่งขึ้น ผมเองก็ไม่มีคำตอบอยู่ในใจหรอกนะครับว่า MBA ในรูปแบบใหม่เป็นอย่างไร เพียงแต่เห็นว่าควรจะถึงเวลาของการปรับเปลี่ยนแล้ว และทุกคนน่าจะมาช่วยกันเพื่อนำไปสู่ MBA ที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้