
17 January 2010
โดยปกติการเรียนการสอน MBA ในสถาบันการศึกษาของไทย ในปัจจุบัน ก็จะมีรูปแบบ และวิธีการที่เราปรับมาจากโลกตะวันตก โดยเป็นการเรียนในห้องเรียน เน้นการบรรยาย การอภิปราย การจัดทำกรณีศึกษา การทำโครงการ การทำแผนธุรกิจ หรือ การฝึกปฏิบัติไปเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่างๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วนิสิตนักศึกษาในระดับ MBA ในประเทศไทย ก็มักจะศึกษาจากกรณีศึกษาของต่างประเทศ หรือ การเข้าไปทำโครงการต่างๆ ก็มักจะเกี่ยวเนื่องกับ องค์กรต่างๆ ในกรุงเทพ (ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก) ซึ่งการเรียนการสอนในรูปแบบปัจจุบันก็ถือเป็นสิ่งที่เหมาะสำหรับการเตรียมนิสิตนักศึกษาให้สามารถออกไปทำงานในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ องค์กรนานาชาติ หรือ การไปเป็นผู้ประกอบการด้วยตนเอง
อย่างไรก็ดีดูเหมือนมุมมองที่ยังขาดไปอีกมุมมองหนึ่งคือมุมมองที่ทำให้ผู้เรียน MBA สามารถเชื่อมโยงกลับไปที่ชุมชนและสังคมไทยในระดับฐานรากได้ ซึ่งผมเองก็ได้ลองทดลองนำรูปแบบและกิจกรรมในอีกมุมมองหนึ่งมาลองแลกเปลี่ยนกันนะครับ โดยผมเองได้ทดลองนำรูปแบบและกิจกรรมนี้มาปรับใช้กับการเรียนการสอนในวิชาการจัดการเชิงกลยุทธ์ ของนิสิตในหลักสูตร MBA (ภาคปกติ) ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ซึ่งเป็นวิชาที่ผมรับผิดชอบอยู่ โดยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ได้ลองเพิ่มกิจกรรมที่ให้นิสิตที่เรียนในวิชาดังกล่าวได้มีกิจกรรมลงไปในชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้นิสิตสามารถบูรณาการความรู้ ประสบการณ์ที่ได้เรียนมาในหลักสูตร MBA เข้ากับปัญหาและความต้องการของชุมชนต่างๆ ในประเทศไทยจริงๆ
ในปีนี้ทางคณะได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. ส่งนิสิต MBA เข้าไปร่วมกับชาวบ้านและชุมชนทั้งหมดแปดแห่งทั่วประเทศ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากชีวภาพของแต่ละชุมชน โดยนิสิตของจุฬาฯ จะเข้าไปอยู่และฝังรากกับชุมชนแต่ละชุมชนเป็นเวลาประมาณสัปดาห์หนึ่ง จากนั้นร่วมกับผู้แทนของสพภ. และชาวบ้านในแต่ละชุมชน ซึ่งจะมีทั้งการร่วมกับพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มาจากฐานชีวภาพของชุมชน หรือ นำผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีอยู่ มาพัฒนาในเชิงธุรกิจ โดยจะมีผลลัพธ์ได้ออกมาเป็นรูปแบบของแผนธุรกิจที่สามารถนำไปดำเนินการได้ รวมทั้งในบางกลุ่มก็จะมีตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ชุมชน การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตรา ยี่ห้อสินค้า ที่สามารถนำไปดำเนินการต่อได้
รูปแบบกิจกรรมที่ได้นำมาใช้กับนิสิต MBA ที่จุฬาฯ นั้นผมมองว่ามีประโยชน์หลายด้านด้วยกันครับ ทั้งเป็นการทำให้นิสิตได้นำความรู้ที่ได้เรียนมาในระดับ MBA นั้นไปใช้แก้ไขปัญหา และให้ข้อเสนอแนะอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ไม่ใช่การเขียนรายงานอยู่บนหน้ากระดาษและมา นำเสนอหน้าห้องเท่านั้น แต่นิสิตได้ลงไปสัมผัสปัญหาจริงและความต้องการจริงที่เกิดขึ้นใน ชนบทไทย แล้วประมวลความรู้ต่างๆ ที่ได้เรียนมาเพื่อช่วยเหลือต่อชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ เนื่องจากพอนิสิตได้เข้าไปคลุกคลีในชุมชนแล้ว ทางชุมชนเขาก็มีความคาดหวังและฝากความหวัง ต่อนิสิตแต่ละกลุ่ม ทำให้นิสิตเองมีความรู้สึกว่าจะต้องทำผลงานให้ออกมาดีที่สุด และสามารถก่อให้เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่ผิดหวังของชาวบ้าน นิสิตที่ไปเองก็มีความมุ่งมั่นและต้องการที่จะช่วยเหลือชุมชนอย่างแท้จริง โดยไม่ได้หวังต่อคะแนนที่จะได้รับ
ตัวอย่างเช่นนิสิตกลุ่มหนึ่งได้ลงไปในพื้นที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และร่วมกับชาวบ้านในการพัฒนาสูตรยาหม่องสมุนไพรขึ้นมาใหม่ที่อาศัยวัตถุดิบสมุนไพรจากชุมชนในท้องถิ่น จากนั้นมีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตราสินค้า และจัดทำแผนธุรกิจสำหรับยาหม่องสมุนไพรดังกล่าว ซึ่งหลังจากจัดทำและนำเสนอเสร็จ ตอนนี้ก็เริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาแล้ว
อาจจะเรียกได้ว่ากิจกรรมลักษณะนี้เป็นการนำนิสิตในกรุงเทพลงไปสัมผัส คลุกคลีกับปัญหาและความต้องการของแต่ละชุมชนโดยตรง เป็นการนำเอาความรู้ที่ได้เรียนในห้องเรียนไปใช้ในทางปฏิบัติ และเป็นการใช้เพื่อส่งเสริมต่อชุมชนท้องถิ่นของไทยจริงๆ ไม่ใช่เป็นการนำความรู้ที่มีอยู่ไปใช้อยู่วนเวียนแต่เฉพาะในเมืองหลวงเท่านั้น นอกจากนี้นิสิตเองก็ได้รับประสบการณ์อย่างมากมาย เสมือนกับการไปเรียนจากกรณีศึกษาจริงและมีชีวิต ไม่ใช่การอ่านแต่กรณีศึกษาที่คนอื่นเขาเขียนขึ้นมาเท่านั้น รวมทั้งยังทำให้นิสิตได้เข้าไปสัมผัสต่อชีวิต ความเป็นอยู่ และความต้องการของชุมชนท้องถิ่นตามจังหวัดต่างๆ ของไทย ถือเป็นการเปิดโลกประสบการณ์ในอีกมุมมองหนึ่งให้กับผู้เรียน MBA
อยากจะสนับสนุนให้หลักสูตรต่างๆ ลองนำรูปแบบและกิจกรรมต่างๆ ที่เขียนขึ้นมาข้างต้นไปปรับใช้นะครับ สรุปอีกครั้งว่าลักษณะของกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงแค่การพานิสิตไปออกค่าย หรือ ทำกิจกรรม CSR เท่านั้นนะครับ แต่ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุมชนแต่ละแห่งกับนิสิต MBA นิสิตนำความรู้จากห้องเรียน จากตำรา ไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้กับชาวบ้านที่มีความต้องการ ส่วนชาวบ้านก็ช่วยสอนประสบการณ์ชีวิต และอีกมุมมองหนึ่งของชีวิตคนไทยให้กับนิสิต