2 December 2009

ท่านผู้อ่านเคยตั้งข้อสังเกตบ้างไหมครับว่า ปัจจุบันเมื่อองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับนวัตกรรม แต่หลายๆ ครั้งเราก็มาติดอยู่ตรงที่แล้วจะทำหรือคิดอย่างไรให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมาได้จริงๆ เพราะหลายองค์กรที่ตื่นตัวและพูดถึงนวัตกรรมกันมากๆ แต่ไม่ได้บอกหรือให้แนวทางในการคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมนั้น ก็มักจะถูกพนักงานบ่นด้านหลังว่าเป็นนโยบายที่ดีแต่หนทางหรือแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิบัติ

            ผู้บริหารสูงสุดหรือ CEO บางท่านก็เป็นผู้บริหารที่ดี แต่ไม่ได้มีลักษณะของความเป็น นวัตกร (ขอนำคำนี้มาใช้แทนคำว่า Innovator นะครับ) แต่ในขณะเดียวกันทำไมผู้บริหารสูงสุดบาง ท่านถึงมีลักษณะเป็นนวัตกร นั้นคือมีไอเดียกระฉูดอยู่ตลอดเวลา และสามารถคิดและสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นตลอดเวลา ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนธันวาคมนี้ มีบทความที่น่าสนใจอยู่บทความหนึ่งชื่อ The Innovator’s DNA เขียนขึ้นโดย Jeffrey H. Dyer, Hal B. Gregersen, และ Clayton M. Christensen โดยผู้เขียนบทความดังกล่าวได้ทำการวิจัยศึกษาเพื่อหาคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของคนที่เป็นนวัตกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารระดับสูงในองค์กร โดยผู้เขียนได้ทำการศึกษา ติดตาม พฤติกรรม และสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ ที่มีความเป็นนวัตกรไปในตัวด้วย และที่น่าสนใจคือผู้บริหารระดับสูงที่เป็นนวัตกรเหล่านี้ จะไม่ได้มีความคิดหรือความรู้สึกว่าตนเองจะต้องมอบหมายเรื่องของการคิดหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชานะครับ แต่ผู้บริหารเหล่านี้มีความคิดและทัศนคติว่าตนเองจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างสรรค์และพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

            จากงานวิจัยของผู้เขียนบทความทั้งสามท่านทำให้ได้พบถึงทักษะหรือคุณลักษณะที่สำคัญห้าประการที่ผู้บริหารที่เป็นนวัตกรมี โดยผู้บริหารที่เป็นนวัตกรนั้นจะให้ความสำคัญและให้เวลากับการพัฒนาทักษะต่างๆ เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เรามาดูกันนะครับว่าทักษะที่ผู้บริหารที่เป็นนวัตกรควรจะมีประกอบด้วยทักษะอะไรบ้าง และท่านผู้อ่านจะพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้อย่างไร ท่านผู้อ่านที่ไม่ค่อยจะมีความคิดสร้างสรรค์เท่าไรก็อย่าเพิ่งไปท้อนะครับ เนื่องจากมีงานวิจัยระบุอีกครับว่าความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของคนเรานั้นหนึ่งในสามมาจากพันธุกรรม อีกสองในสามนั้นมาจากการเรียนรู้ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำก่อนก็คือรับทราบและเรียนรู้ว่ามีทักษะไหนบ้างที่จำเป็นต้องความคิดสร้างสรรค์ จากนั้นก็ต้องค่อยๆ ฝึกหัด พัฒนา ฝึกฝน จนกระทั่งเกิดความมั่นใจครับ

            ทักษะประการแรกคือการเชื่อมโยงหรือ Associating ครับ จริงๆ เรื่องนี้ผมเองก็เคยเขียน ผ่านหน้านี้มาหลายครั้งครับ ก็ต้องถือว่าเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นเลยสำหรับการคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เนื่องจากในปัจจุบันจะสังเกตได้ครับว่าสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น จำนวนมากเลยที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่เข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงในสิ่งที่ไม่สัมพันธ์หรือไม่เกี่ยวข้องกันเข้าไว้ด้วยกัน คำถามสำคัญก็คือแล้วทำอย่างไรเราถึงจะมีความสามารถหรือทักษะในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ก็ต้องเริ่มต้นจากการที่บุคคลผู้นั้นจะต้องมีประสบการณ์ที่หลากหลายก่อนครับ เนื่องจากประสบการณ์ที่หลากหลาย จะทำให้แต่ละบุคคลมีมุมมองที่หลากหลาย ได้พบเจอประสบการณ์ เหตุการณ์ที่แตกต่างและหลากหลาย หรือถ้าในองค์กรเราไม่สามารถพัฒนาบุคคลคนหนึ่งให้มีประสบการณ์ที่หลากหลายได้ เราก็อาจจะใช้วิธีทำให้ทีมผู้บริหารมีความหลากหลาย เพื่อที่ผู้บริหารแต่ละคนจะได้มีมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน และสามารถนำมาแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงกันได้

            ทักษะประการที่สองคือการตั้งคำถามครับ โดยการตั้งคำถามที่ดีนั้นยากกว่าการตอบคำถามเสียอีกครับ Peter Drucker เคยกล่าวไว้ครับว่า “The important and difficult job is never to find the right answers, it is to find the right question,” เนื่องจากนักคิดหรือนวัตกรที่ดีจะไม่ค่อยยอมรับต่อสิ่งที่เป็นอยู่หรือต่อสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นคนเหล่านี้จะคอยตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และการตั้งคำถามดังกล่าวนี้เองก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกระบวนการในการคิดแบบต่อยอดจากคำถามที่ตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามที่จะหาคำตอบต่อคำถามที่ตั้งขึ้นมา

            ตอนที่ Michael Dell เริ่มต้นคิดธุรกิจของตนเองขึ้นมานั้น เขาก็ตั้งคำถามเหมือนกันครับ โดยเป็นคำถามที่ว่า ทำไมคนจะต้องเสียเงินซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แพงกว่าราคาของชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์รวมกันถึงห้าเท่า ดังนั้นจะเห็นได้นะครับว่านวัตกรทั้งหลายนั้นบางครั้งจะทำตัวเป็นผู้สนับสนุนซาตานหรือ Devil Advocate ที่จะคอยตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และที่สำคัญคือคำถามที่ดีนั้นจะเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีเลยครับให้คนเกิดการคิดนอกกรอบ

            สัปดาห์นี้ขอนำเสนอไว้สองข้อก่อนนะครับ สัปดาห์หน้าเรามาต่อในอีกสามข้อที่เหลือสำหรับทักษะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับผู้ที่จะเป็นนวัตกร