21 January 2010

สัปดาห์นี้ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ โดยเป็นการนำเสนอสุดยอดแนวคิดหรือเครื่องมือทางการจัดการแห่งทศวรรษของโลกตะวันตก เนื่องจากปีในโลกตะวันตกถือเป็นปีที่กำลังเริ่มต้นทศวรรษใหม่ และตามประสาพวกที่ชอบจัดลำดับ ทางกองบก. ของวารสาร Harvard Business Review เขาก็เลยมองย้อนกลับไปว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมามีแนวคิดหรือเครื่องมือทางการ จัดการอะไรบ้างที่ถือว่าสุดยอด โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอไปหกอันดับแรกได้แก่ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น มุมมองที่เปลี่ยนไปต่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ความสำคัญของความเห็นลูกค้า การบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร องค์กรแห่งความคิดสร้างสรรค์ และสุดท้ายคือเรื่องของ Open Source ครับ สัปดาห์นี้เรามาดูกันต่อในอีกหกอันดับที่เหลือนะครับ

            อันดับที่เจ็ดเป็นเรื่องทางด้านการเงินกับการดำเนินกิจการครับ โดยในอดีตนั้นองค์กรส่วนใหญ่มักจะกู้หนี้ยืมสินหรือนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มาเพื่อเป็นเครื่องมือหรือทรัพยากรในการดำเนินงาน แต่ตั้งแต่เกิดวิกฤตของ Enron เป็นต้นมา แนวทางดังกล่าวก็เริ่มได้รับ ความนิยมน้อยลง ในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องของ Private Equity หรือหุ้นนอกตลาด กลับกลายเป็นทางเลือกใหม่ของทั้งบริษัทต่างๆ และของนักลงทุน กองทุนต่างๆ ที่ลงทุนใน Private Equity ต่างได้รับความนิยมกันมากขึ้นจากนักลงทุน

            อันดับที่ 8 คือเรื่องของ Behavioral Economics หรือเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่เป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ โดยนักเศรษฐศาสตร์อาจจะบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และมีมานานกว่าสิบปีแล้ว แต่ท่านผู้อ่านลองสังเกตในรอบสิบปีที่ผ่านซิครับว่าแนวคิดในเรื่องนี้เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะ มีหนังสือขายดีหลายๆ เล่มที่เขียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม โดยเล่มที่ขายดีที่สุดก็หนีไม่พ้น Freakonomics: A Rogue Economist Explores the Hidden Side of Everything

            อันดับที่ 9 คือเรื่องของ High Potentials หรือ ผู้ที่มีศักยภาพสูงครับ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของ การบริหารทรัพยากรบุคคลและหลายๆ องค์กรในประเทศไทยก็ได้นำแนวคิดนี้มาปรับใช้ โดยในหลายๆ องค์กรอาจจะเรียกชื่อที่ต่างกัน เช่น อาจจะใช้คำว่า Talent บ้าง หรือ Star บ้าง แต่โดยนัยยะนั้นหมายถึงสิ่งเดียวกันครับ โดยมองว่าบุคลากรทุกคนในองค์กรไม่ได้มีศักยภาพหรือ ความสามารถที่เท่าเทียมกัน จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพที่สูงกว่าผู้อื่น และคนกลุ่มนี้ควรจะได้รับ การดูแล เอาใจใส่ หรือ การพัฒนาที่แตกต่าง เพื่อที่คนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญขององค์กรต่อไปใน อนาคต อย่างไรก็ดีมีข้อควรระวังเหมือนกันนะครับว่าสำหรับในสังคมไทยนั้น แนวคิดดังกล่าวจะ ประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ต้องดูกันต่อไปครับ

            อันดับที่ 10 คือแนวคิดของ Competing on Analytics หรือการใช้ข้อมูล ตัวเลข สถิติต่างๆ เข้ามามีส่วนช่วยในการตัดสินใจและการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันมากขึ้น เนื่องจากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา องค์กรส่วนใหญ่จะมีการเก็บข้อมูลต่างๆ กันอย่างบ้าคลั่ง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า ข้อมูลพนักงาน ข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานต่างๆ และจากพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศที่เพิ่มขึ้น ทำให้องค์กรสามารถที่จะนำข้อมูลดังกล่าวมาทำการจัดกลุ่ม วิเคราะห์ รวมถึงการสร้างสูตรขึ้นมาเพื่อทำนายพฤติกรรมในอนาคต ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งในประเทศไทยเองก็เริ่มเห็นแนวโน้มนี้มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมานะครับ สังเกตได้จากการที่บริษัทต่างๆ (โดยเฉพาะพวกที่มีลูกค้าเป็นผู้บริโภคโดยตรง) เริ่มเก็บข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้ากันอย่างมากมาย ผ่านทางรูปแบบและวิธีการต่างๆ

            อันดับที่ 11 คือนวัตกรรมย้อนกลับหรือ Reverse Innovation เป็นลักษณะของการที่บริษัท ต่างๆ เข้าไปลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาในประเทศที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา โดยวิจัยและพัฒนาในสินค้าหรือบริการที่เหมาะสมกับลักษณะของประชากรในประเทศดังกล่าว จากนั้นนำสิ่งที่ได้นั้นกลับไปใช้ในประเทศตน ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยสาเหตุที่เราเรียกว่า ย้อนกลับนั้นเนื่องจากในอดีตแนวโน้มนั้นจะเป็นอีกทิศทางหนึ่ง นั้นคือวิจัยและพัฒนาในประเทศที่ พัฒนาแล้ว จากนั้นนำผลไปใช้ในประเทศที่กำลังพัฒนา บริษัทที่บุกเบิกเรื่องนี้จนโด่งดังก็คือ GE นั้นเองครับ

            อันดับที่ 12 คือเรื่องของความยั่งยืน หรือ Sustainability ซึ่งคำว่ายั่งยืนของฝรั่งกับของไทยนั้นไม่เหมือนกันนะครับ ของตะวันตกนั้นเขาจะคำนึงถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นหลัก ซึ่งจะเห็นได้จากกระแสรักษ์โลก กระแสลดโลกร้อน กระแสสีเขียว ที่ออกมาอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

            เป็นอย่างไรบ้างครับสุดยอดแนวคิดแห่งทศวรรษของฝรั่ง อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับท่านผู้อ่านบ้างนะครับ แต่ก็อย่าลืมว่านี้เป็นการจัดลำดับของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นนะครับ