
13 January 2010
พอขึ้นปี 2010 ซึ่งถ้าตามความเชื่อฝรั่งก็ถือว่าผ่านพ้นไปอีกสิบปีหรือครบหนึ่งทศวรรษ ก็จะเริ่มมีจัดโพลหรืออันดับของสิ่งต่างๆ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งพอเปิดศักราชใหม่ทางกองบรรณาธิการของวารสาร Harvard Business Review ซึ่งถือเป็นวารสารทางวิชาการที่ทรงอิทธิพล มากที่สุดฉบับหนึ่งก็ได้เริ่มจัดอันดับกันแล้วครับว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมา อะไรคือแนวคิดทางการจัดการที่เจ๋งที่สุดหรือมีอิทธิพลต่อการบริหารจัดการขององค์กรมากที่สุด ดังนั้นเรามาดูของฝรั่งกันนะครับว่ามีอะไรบ้าง แล้วลองเทียบดูในใจนะครับว่าเป็นสิบอันดับที่อยู่ในใจท่านผู้อ่านในรอบสิบปีที่ผ่านมาหรือไม่?
อันดับแรกคือความสำคัญของการสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น หรือ Shareholder Value ครับ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องความสำคัญของผู้ถือหุ้นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ในทศวรรษที่ผ่านมาดู เหมือนความพยายามของทั้งนักวิชาการและองค์กรธุรกิจต่างๆ ในการผลักดันและหาวิธีการที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นนั้นจะทวีความรุนแรงมากขึ้นนะครับ จนกระทั่งหลายๆ คนมักจะคิดว่าการเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญประการหนึ่งขององค์กร ทศวรรษที่ผ่านมาจะมีเครื่องมือและวิธีคิดใหม่ๆ ที่ออกมาเพื่อหาทางวัดและเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น ทำให้เรื่องของกำไร ราคาหุ้น เงินปันผล และโบนัสกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการตัดสินใจสำหรับหลายๆ องค์กร อย่างไรก็ดีผมมองว่าการพุ่งความสนใจไปที่ผู้ถือหุ้นอย่างเดียวก็เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของบริษัทต่างๆ ในอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทในประเทศไทยเองกลับมีการบริหารจัดการที่ไม่ได้เน้นที่ตัวผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญเหมือนโลกตะวันตก แต่ยังให้ความสำคัญต่อพนักงาน ลูกค้า และสังคมโดยรวมเป็นหลักด้วย
แนวคิดแห่งทศวรรษประเด็นที่สองคือมุมมองที่เปลี่ยนไปต่อเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่แต่องค์กรก็เริ่มที่จะปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของไอที ที่ในอดีตจะต้องเป็นระบบเฉพาะของบริษัท ต้องเป็นเรื่องภายใน แต่ทศวรรษที่ผ่านมาเริ่มเห็นแนวโน้มว่าไอทีนั้นเป็นสิ่งที่สามารถแบ่งปันและซื้อหามาได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาสำหรับใช้ภายในองค์กรโดยเฉพาะ แต่สามารถสรรหามาได้ด้วยวิธีการต่างๆ
อันดับที่สามนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกค้าครับ โดยในทศวรรษที่ผ่านมาเสียง ความคิดเห็นของลูกค้าทวีความสำคัญขึ้นมาอย่างมาก จะสังเกตได้จากพฤติกรรมในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ของเราในปัจจุบัน ที่จะไม่ได้เชื่อเฉพาะคนขายเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่เราจะหาข้อมูลต่างๆ จากเว็บหรือแหล่งต่างๆ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบการตัดสินใจมากขึ้น แนวโน้มดังกล่าวทำให้องค์กรต่างๆต้องแสวงหาวิธีการต่างๆ ที่จะรับเสียงและความคิดเห็นของลูกค้าไม่ว่าจะผ่านทางเว็บต่างๆ หรือ ทางเครือข่ายสังคมออนไลน์
อันดับที่สี่นั้นเป็นเรื่องของความสำคัญเรื่องของการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร หรือ Enterprise Risk Management ซึ่งแนวโน้มนี้ก็เห็นได้อย่างชัดเจนในประเทศไทยเช่นเดียวกันครับ องค์กรต่างๆ หันมาให้ความสนใจกับการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น หน่วยงานกำกับต่างๆ ก็พยายามผลักดันให้องค์กรต่างๆ ทำเรื่องของการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น และอีกแนวโน้มหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือเริ่มมีผู้บริหารระดับสูงที่มารับผิดชอบเรื่องของความเสี่ยงโดยเฉพาะมากขึ้น อย่างในต่างประเทศจะเริ่มมีตำแหน่ง CRO หรือ Chief Risk Officer เกิดขึ้นบ
อันดับที่ห้านั้นคือเรื่องขององค์กรแห่งการคิดสร้างสรรค์หรือ Creative Organization ซึ่งทศวรรษที่ผ่านมาจะเห็นว่าองค์กรเริ่มมองในอีกมุมหนึ่งเกี่ยวกับสาเหตุของความสำเร็จว่าอยู่ที่ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ดังนั้นองค์กรจำนวนมากจึงแสวงหาวิธีการต่างๆ นานาในการทำให้ตนเองสามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็แตกยอดสู่เรื่องของการคิดเชิงออกแบบหรือ Design Thinking ที่พูดถึงกันเป็นอย่างมากในปัจจุบัน
อันดับที่หกคือเรื่องของ Open Source ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่แล้วในด้านไอที แต่พอมาทศวรรษที่ผ่านมาหลักการของ Open Source ได้แตกหน่อมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากการถือ กำเนิดของ Wikipedia แล้วขยายต่อไปสู่รูปแบบในการคิดค้นนวัตกรรมในรูปแบบใหม่ที่เราเรียกว่า Open Market Innovation ในปัจจุบัน
สัปดาห์นี้ขอนำเสนอหกอันดับแรกของแนวคิดทางการจัดการแห่งทศวรรษที่ผ่านมาก่อนนะครับ สัปดาห์หน้าจะนำเสนออีกหกอันดับที่เหลือ แต่ก่อนจบขอฝากประชาสัมพันธ์หลักสูตรที่ตนเองดูแลหน่อยนะครับ ทางหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (Master of Management) สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กำลังเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเรียนต่อในระดับปริญญาโทอยู่ครับ โดยเป็นการเรียนในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ และเป็นหลักสูตรนานาชาติ ผู้ที่สนใจก็ลองโทร.มาสอบถามได้ที่ 02-218-5912 หรือ http://mmchula.acc.chula.ac.th ได้ครับ