8 February 2010

            ตามหัวข้อบทความในสัปดาห์นี้เลยครับ องค์กรของท่านมีระบบเตือนภัยทางกลยุทธ์หรือยัง? ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยนะครับว่าระบบเตือนภัยทางกลยุทธ์หรือ Strategic Warning Systems (SWS) ที่ผมกำลังนำเสนอนั้นคืออะไร จริงๆ แล้วเจ้า SWS นั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการ บริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์ครับ เนื่องจากความเสี่ยงทางกลยุทธ์ประการหนึ่งที่สำคัญคือความเสี่ยงว่ากลยุทธ์ที่องค์กรกำหนดไว้นั้นอาจจะล้าสมัยหรือไม่เหมาะสม เนื่องจากสภาวะแวดล้อมในด้านต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ดังนั้นเพื่อให้องค์กรสามารถรับมือต่อความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์ที่อาจจะเกิดขึ้น องค์กรจึงควรที่จะมีระบบในการเฝ้าระวังและติดตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่สำคัญ ที่จะส่งผลต่อกลยุทธ์ขององค์กร และเมื่อมีระบบการเฝ้าระวังแล้ว ก็ควรจะต้องมีระบบการเตือนภัย เพื่อส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้บริหารถึงปัญหาและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

            ดังนั้นสำหรับผมแล้ว ระบบเตือนภัยทางกลยุทธ์จึงหมายถึงระบบที่องค์ใช้ในการเฝ้าระวัง ติดตาม และเตือนภัย ในปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์ขององค์กรนั้นเองครับ ส่วนการที่องค์กรจะพัฒนาระบบ SWS ขึ้นมาได้ องค์กรก็ต้องเริ่มต้นจากการระบุหรือกำหนดให้ชัดเจน ก่อนว่าอะไรบ้างคือปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์ที่องค์กรได้กำหนดไว้ หรือ อีกนัยหนึ่งก็คืออะไรคือปัจจัยชี้นำที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงทางกลยุทธ์สำหรับองค์กร ทั้งนี้เนื่องจากความเสี่ยงทางกลยุทธ์นั้นเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมภายนอกต่างๆ ดังนั้นสิ่งที่องค์กรต้องระบุให้ได้ก็คือ อะไรบ้างคือปัจจัยชี้นำ (Driving Forces) ที่จะชี้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงทางกลยุทธ์ขององค์กร

            ตัวอย่างง่ายๆ อย่างหนึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลของสินค้าและบริการต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ว่าก่อนที่จะซื้อสินค้าอะไรนั้น ผู้บริโภคจะต้องมีการสำรวจและหาข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ตก่อน  ซึ่งถ้าองค์กรไม่มีระบบหรือกลไกในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องให้แก่ลูกค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ต ก็อาจจะกลายเป็นความเสี่ยงต่อองค์กรสำหรับบางอุตสาหกรรมได้

            ดังนั้นสิ่งที่องค์กรจะต้องทำคือเริ่มจากการระบุว่าอะไรบ้างคือปัจจัยชี้นำที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่การเป็นความเสี่ยงทางกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วปัจจัยชี้นำเหล่านี้ก็หนีไม่พ้นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงในกฎ ระเบียบ นโยบายของรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงในแนวโน้มทางด้านสังคมและประชากร และการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของคู่แข่งขัน ซึ่งเมื่อเราระบุปัจจัยชี้นำเหล่านี้ไว้ องค์กรอาจจะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ เนื่องจากปัจจัยแต่ละประการอาจจะมีลำดับความสำคัญในแง่ของการนำไปสู่ความเสี่ยงทางกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน

            เมื่อระบุปัจจัยชี้นำที่จะเฝ้าระวัง และจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการจัดกลุ่มบุคคลที่รับผิดชอบเพื่อทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ โดยกลุ่มบุคคลในที่นี้อาจจะไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มบุคคลใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่อาจจะเป็นบุคลากรทั้งหมดขององค์กรก็ได้ เพียงแต่ต้องมีการส่งสัญญาณจากผู้บริหารลงไปที่ชัดเจน เพื่อให้บุคลากรทุกคนได้ตระหนักและรับรู้ถึงสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง การเฝ้าระวังต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ นั้นอาจจะดูง่าย แต่ในทางปฏิบัติแล้ว องค์กรจะต้องให้ความสำคัญและลงทุนในด้านนี้พอสมควรครับ ไม่ใช่เพียงแค่การพูดหรือมอบนโยบายจากผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น

            โดยแนวทางหนึ่งที่องค์กรสามารถทำได้ ก็คือการสร้างเครือข่ายข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยอาจจะเป็นเครือข่ายทั้งภายนอกและภายใน และเครือข่ายเหล่านี้สามารถทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง และติดตามการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงของปัจจัยชี้นำต่างๆ ที่ได้ระบุไว้ล่วงหน้า และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ องค์กรก็ควรที่จะต้องสร้างระบบในการรายงานข่าวสารให้กับผู้บริหาร เพื่อให้ผู้บริหารได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น และผลกระทบต่อองค์กร เพื่อที่จะได้หาแนวทางในการบริหารจัดการที่เหมาะสม อย่างไรก็ดีระบบในการรายงานผลนั้น ควรจะต้องออกแบบมาในลักษณะที่มีความสมดุลนั้นคือ ทั้งไม่มากจนเกินไปจนกระทั่งดูไม่มีความสำคัญ อีกทั้งควรจะมีความสั้น กระชับที่เหมาะสำหรับผู้บริหาร และสามารถสื่อสารที่ต้องการได้ในระยะเวลาอันสั้น

            ก็ถือว่าไม่ง่ายนะครับในการสร้างระบบ SWS แต่ถ้าองค์กรสามารถสร้างระบบดังกล่าวขึ้น มาได้ องค์กรก็น่าจะมีความมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าจะสามารถบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์ได้ อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล