
22 December 2009
สัปดาห์นี้เรามาต่อที่สุดยอดหนังสือทางด้านการจัดการสำหรับปี 2009 ที่ผ่านมากันเลยนะครับ โดยจากสัปดาห์ที่แล้วได้นำเสนอรายชื่อหนังสือที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสุดยอดหนังสือทางด้านการจัดการจากวารสาร Strategy+Business โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนำเสนอในหมวดภาวะ วิกฤตกับหมวดภาวะผู้นำ สัปดาห์นี้มาในหมวดต่อไปครับคือหมวดเรื่องของกลยุทธ์ โดยในปีนี้มีหนังสือที่ได้รับการยกย่องอยู่สามเล่มด้วยกัน เล่มแรกชื่อ The Invisible Edge: Taking Your Strategy to the Next Level Using Intellectual Property เขียนโดย Mark Blaxill และ Ralph Eckardt ซึ่งชื่อก็บอกไว้อย่างชัดเจนแล้วนะครับว่าเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือ Intellectual Property ทั้งหลาย เวลาเรานึกถึง IP นั้นเรามักจะนึกถึงแต่เรื่องของกฎหมาย แต่ในหนังสือเล่มนี้เขาพยายามนำเสนออีกมุมมองหนึ่งว่าจริงๆ แล้วเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญานั้นไม่ใช่เรื่องของกฎหมายแต่เป็นเรื่องทางธุรกิจ ดังนั้นเรื่องเหล่านี้นักธุรกิจควรที่จะให้ความสนใจอย่างมาก ไม่ใช่ทิ้งไว้ในมือนักกฎหมายอย่างเดียว
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่น่าอ่านนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับท่านที่เน้นในเรื่องของนวัตกรรมทั้งหลาย เนื่องจากหนังสือไม่ได้เน้นอยู่ที่เรื่องของกฎหมายแต่มองเรื่องของ IP เป็นเรื่องของการบริหารความรู้ แถมยังบอกอีกด้วยว่านวัตกรรมที่ไม่มีการป้องกันนั้นก็เปรียบเสมือนกับการทำบุญนั้นเอง เพราะไม่ช้าไม่นานผู้อื่นก็จะลอกเลียนแบบสิ่งที่องค์กรสามารถคิดค้นขึ้นมาใหม่ได้ โดยหนังสือเล่มนี้ให้ข้อเสนอแนะว่าจะทำอย่างไรถึงจะสามารถปกป้องและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาที่คิดค้นขึ้นมาได้
อีกเล่มหนึ่งในหมวดกลยุทธ์ได้แก่ Dynamic Capabilities and Strategic Management: Organizing for Innovation and Growth เขียนโดย David Teece ซึ่งเป็นหนังสือที่เป็นลักษณะของการรวบรวมบทความต่างๆ ที่ Teece เขียนไว้ตั้งแต่อดีต (Teece เองก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ผมอ่านและ อ้างผลงานของเขาสมัยทำปริญญาเอกครับ) โดยแนวคิดของ Teece ในด้านกลยุทธ์นั้นจะต่างจากของ Michael Porter ที่เราคุ้นๆ กัน นั้นคือแทนที่ความสำเร็จขององค์กรจะเกิดขึ้นจากสภาวะ อุตสาหกรรม และพฤติกรรมขององค์กร แต่เกิดขึ้นจากความสามารถหลักขององค์กร ผมเองแนะนำว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับผู้ที่จะศึกษาทางด้านกลยุทธ์ในเชิงวิชาการอย่างลงลึกและให้อีกมุมมองหนึ่งที่ต่างจากที่เรียนกันส่วนใหญ่ครับ
สำหรับเล่มสุดท้ายทางด้านกลยุทธ์ที่เขาแนะนำไว้ได้แก่ Innovation Corrupted: The Origins and Legacy of Enron’s Collapse เขียนโดย Malcolm Salter ซึ่งจากชื่อก็คงพอเดาได้นะครับว่าเขียนถึงเรื่องอะไร ผมเองเท่าที่ดูคร่าวๆ ก็เหมือนกับเป็นการเอากรณีศึกษาเดิมมาวิเคราะห์ มอง และให้มุมมองในการคิดที่ใหม่ คราวนี้เรามาดูในหมวดทางด้านการจัดการบ้างดีกว่าครับ มีหนังสือที่ได้รับการแนะนำอยู่ทั้งหมดสี่เล่มด้วยกันได้แก่ The Upside of the Downturn: Ten Management Strategies to Prevail in the Recession and Thrive in the Aftermath โดย Geoff Colvin ซึ่งมองว่าในช่วงวิกฤตนี้เองที่เป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนแปลงและการทำสิ่งใหม่ๆ โดยผู้เขียนได้ให้คำแนะนำเป็นข้อๆ ไว้ว่าในช่วงวิกฤตนั้นควรจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้เกิดความแตกต่าง ก็เป็นหนังสืออีกเล่มที่ออกมาช่วงวิกฤต และ อาจจะจางหายไปเมื่อผ่านพ้นวิกฤต
เล่มที่สองทางด้านการจัดการนั้นชื่อ Managing เขียนโดย Henry Minzberg ซึ่งผู้ที่ศึกษาทางด้านการจัดการมาก็คงพอคุ้นๆ ชื่อของเขากันบ้างนะครับ วิธีการให้ได้มาซึ่งข้อมูลในหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ต่างจากในอดีตครับนั้นคือผู้เขียนก็จะใช้เวลา 1 วันเต็มๆ กับผู้บริหารจำนวน 29 คนเพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมของผู้บริหารเหล่านั้น และได้ข้อสรุปถึงรูปแบบและแนวทางในการเป็นผู้บริหารที่ดี เล่มถัดมาชื่อ Enough: True Measures of Money, Business, and Life เขียนโดย John Bogle ซึ่งชื่อก็ชัดเจนนะครับว่าเขียนถึงความโลภ ความไม่เพียงพอของคน และความไม่เพียงพอนั้นเองที่นำไปสู่ปัญหาและวิกฤตเศรษฐกิจ เท่าที่ดูๆ ก็เหมือนกับหลักคำสอนของทางฝั่งตะวันออกหลายประการครับ
เล่มสุดท้ายคือ The Next 100 Years: A Forecast for the 21st Century เขียนโดย George Frieldman ซึ่งดูแล้วก็เว่อร์ไปนิดนะครับ ที่จะมองอนาคตอีกร้อยปีข้างหน้า เพียงแต่ผู้เขียนหยิบประเด็นสำคัญคือเรื่องของประชากรโลกที่จะไม่เติบโตเหมือนในอดีตมาเป็นประเด็นหลัก และมองว่าโลกในอนาคตจะต้องเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะไหน อย่างไรก็ดีการพยากรณ์ไปอีกร้อยปีข้างหน้าก็ถือเป็นความกล้าหาญนะครับ
จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายเล่มนะครับที่ได้รับการยกย่อง และยังมีอีกหลายสำนักที่ได้มีการจัดอันดับ ถ้ามีโอกาสก็จะนำมาเสนอเพิ่มเติมนะครับ สำหรับท้ายนี้ก็ขอสวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทุกท่านและขอขอบพระคุณที่ติดตามอ่านงานของผมมาครับ