
25 January 2010
ในทุกๆ ปีทางวารสาร Harvard Business Review จะมีการจัดทำสุดยอดไอเดียทางด้านการ จัดการของแต่ละปี โดยในปีนี้เขาก็มีการจัดทำรายชื่อเหล่านี้ขึ้นมาเหมือนกันครับ สัปดาห์นี้ผมขอนำเสนอไอเดียหนึ่งซึ่งน่าสนใจ และน่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านทั่วๆ ไปนะครับ แล้วถ้าท่านผู้อ่านสนใจอยากจะดูไอเดียอื่นๆ เพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปดูได้ที่นิตยสาร Harvard Business Review นะครับ
แนวคิดที่น่าสนใจแห่งปีของ HBR นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจูงใจครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากครับ และเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ผู้บริหารทุกๆ ท่านล้วนแล้วแต่ให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอะไรคือปัจจัยหรือสิ่งที่สามารถจูงใจบุคลากรในการทำงานได้ดีที่สุด? ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูซิครับว่าอะไรคือสิ่งที่จูงใจให้บุคลากรในหน่วยงานของท่านมีความคิดเชิงบวก มีขวัญและกำลังใจในการทำงานบ้าง? บางท่านอาจจะมองว่าสิ่งที่จะจูงใจคนได้ดีนั้นเป็นเรื่องของการทำงานให้สำเร็จ หรือ เป็นเรื่องของคำชมเชย หรือ เป็นเรื่องของสิ่งจูงใจต่างๆ ที่สามารถจับต้องได้ อาทิเช่น เงิน รางวัลต่างๆ เป็นต้น
เคยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยที่จะจูงใจให้บุคลากรสามารถทำงานได้ดีนั้นคือเรื่องของความสำเร็จของงานครับ นั้นคือเมื่อบุคลากรทำงานได้สำเร็จ และรู้สึกว่างานที่ทำไปนั้นก่อให้เกิดคุณค่าหรือมีคุณค่าเกิดขึ้น บุคลากรนั้นก็จะเกิดแรงจูงใจขึ้นมา อย่างไรก็ดีตอนนี้มีอีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ การที่บุคลากรจะเกิดแรงจูงใจได้นั้นไม่ได้จำเป็นจะต้องทำงานสำเร็จเสมอไปครับ เพียงแค่งานที่ทำมีความคืบหน้าหรือมีความก้าวหน้า ก็ก่อให้เกิดแรงจูงใจได้แล้วเช่นกัน
งานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าความเชื่อดั้งเดิมนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจกันผิดพลาดครับ สิ่งที่จะสามารถจูงใจบุคลากรและทำให้บุคลากรสามารถรู้สึกดีได้นั้นกลับเป็นเรื่องของความคืบหน้าในการทำงานหรือสิ่งที่เรียกว่า Progress ครับ ทั้งนี้เมื่อบุคลากรทำงาน และเริ่มมีความรู้สึกว่างานที่ตนเองทำอยู่นั้นเริ่มมีความคืบหน้า บุคลากรจะรู้สึกมีขวัญ มีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันถ้าทำงานแล้วรู้สึกว่างานที่ตนเองทำนั้นไม่มีความคืบหน้าหรือก้าวหน้าเลย ขวัญ กำลังใจ และความรู้สึกในด้านดีๆ ก็จะหดหายไปด้วย
ท่านผู้อ่านลองมองที่ตัวท่านเองก็ได้นะครับ ในแต่ละวันที่มานั่งทำงานนั้น ถ้าวันไหนที่พบว่างานที่ตนเองทำอยู่นั้นมีระดับความก้าวหน้าในระดับที่น่าพอใจ ถึงแม้ว่างานดังกล่าวจะไม่สำเร็จก็ตาม เราจะมีความรู้สึกที่ดี กลับไปบ้านก็จะรู้สึกเป็นสุขกับความคืบหน้าในการทำงานที่เกิดขึ้น แต่ถ้าวันไหนที่มานั่งทำงานทั้งวันแล้วพบว่างานที่ทำนั้นไม่คืบหน้าไปถึงไหนเลย เหมือนกับวนเวียนอยู่ในอ่างน้ำตลอดเวลา
งานวิจัยที่ทำขึ้นนั้นชี้ให้เห็นเลยครับว่าความคืบหน้าหรือความก้าวหน้าในการทำงานแม้เพียงน้อยนิด ก็มีส่วนสัมพันธ์กับอารมณ์และแรงจูงใจของพนักงานที่ดี ซึ่งถ้ามองในฐานะผู้บริหารและถ้าเป็นไปตามผลวิจัยที่เกิดขึ้น ก็ถือเป็นข่าวดีครับ เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้จะกลายเมาเป็นข้อมูลที่สำคัญอีกประการที่จะสามารถใช้ในการจูงใจบุคลากรภายในหน่วยงาน และถือเป็นวิธีการในการจูงใจบุคลากรที่ผู้บริหารสามารถที่จะควบคุมได้ในระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็เป็นวิธีการในการจูงใจที่ไม่ซับซ้อนเหมือนกับการจูงใจด้วยผลตอบแทนหรือรางวัลต่างๆ ผู้บริหารอาจจะใช้วิธีการในการตั้งเป้าหมายในการทำงานเพื่อจูงใจบุคลากร และผู้บริหารจะต้องหาหนทางและวิธีการต่างๆ นานาในการขจัดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในอันที่จะทำให้การทำงานของบุคลากรไม่สามารถก้าวหน้าจากที่เป็นอยู่ได้
สิ่งที่ผู้บริหารสามารถทำได้ก็คือการสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นของความคืบหน้าในการทำงานครับ ถ้าท่านผู้บริหารก็ต้องระมัดระวังในการตั้งเป้าหมายในการทำงานให้ชัดเจน ต้องคอยสนับสนุนลูกน้องในด้านต่างๆ เพื่อให้ลูกน้องสามารถทำงานได้อย่างมีความก้าวหน้า แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังเรื่องของการกดดันพนักงานในเรื่องของเวลา การสร้างวัฒนธรรมในการทำงานที่แสดงถึงความช่วยเหลือ การเกื้อกูลกัน อาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็น ในขณะเดียวกันผู้บริหารต้องทำหน้าที่ในการประสาน คอยช่วยเหลือพนักงานเพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างคืบหน้า และเกิดขวัญ กำลังใจในการทำงาน
ท่านผู้อ่านก็ลองนำแนวคิดการจูงใจในรูปแบบใหม่ไปปรับใช้ดูนะครับ นั้นคือไม่ต้องสำเร็จ แต่ขอให้มีความคืบหน้าก็รู้สึกจูงใจแล้ว