
3 February 2010
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมได้เขียนเรื่องของการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติก็หลายครั้ง แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญสำหรับหลายๆ องค์กรในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งปัจจุบันเชื่อว่าผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจและเห็นความสำคัญของการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ แต่ดูเหมือนว่าการทำให้เกิดผลจริงๆ นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด ในความคิดของผมนั้นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งอยู่ที่การขาดกรอบวิธีการในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งมีความแตกต่างจากการวางแผนกลยุทธ์ เนื่องจากในกระบวนการวิเคราะห์และวางแผนกลยุทธ์นั้น เรามีกรอบแนวคิด หรือ วิธีการ หรือ กระบวนการในการคิดที่ชัดเจนว่าจะต้องพิจารณาอะไรบ้าง ดูอะไรบ้าง หรือให้ความสำคัญกับสิ่งใดบ้าง แต่ในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติให้ได้ผลนั้นกลับไม่มีกรอบหรือแนวทางในการปฏิบัติที่ชัดเจน และสำหรับผู้บริหารจำนวนมากก็ต้องอาศัยประสบการณ์เข้ามาช่วย
ท่านผู้อ่านลองนึกถึงช่วงของการวิเคราะห์และวางแผนต่างๆ ซิครับ เราก็จะมีแนวคิดต่างๆ เข้ามาช่วยให้สามารถวิเคราะห์และวางแผนกลยุทธ์เป็นไปอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนที่ชัดเจน จับต้องได้ อีกทั้งเป็นที่ยอมรับของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ SWOT การวิเคราะห์ 5 Forces การวิเคราะห์ STP (Segment-Target-Positioning) การกำหนดกลยุทธ์ในระดับต่างๆ (Corporate-Business-Functional Level Strategy) กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean Strategy) ฯลฯ อย่างไรก็ดีเมื่อองค์กรวิเคราะห์และวางแผนกลยุทธ์เสร็จสิ้นแล้ว ผู้บริหารมักจะมีความเข้าใจว่า ถ้ามอบแผนกลยุทธ์ออกไปให้กับผู้บริหารระดับล่างๆ ลงไปแล้ว กลยุทธ์ที่วางไว้ก็จะได้รับการขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ
ถึงแม้ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาจะมีแนวคิดอย่างเช่น Balanced Scorecard และ Strategy Map ซึ่งองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากที่นำมาประยุกต์ใช้ โดยหวังว่าจะเป็นทางออกสำหรับการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ แต่จริงๆ แล้ว BSC และ Strategy Map นั้น จะมีประโยชน์ต่อ องค์กรในด้านการสื่อสารกลยุทธ์ให้เกิดความชัดเจน การเชื่อมจากกลยุทธ์สู่แผนปฏิบัติการและ งบประมาณ และการทำให้ระบบการประเมินผลสอดคล้องกับกลยุทธ์มากขึ้น แต่ BSC และ Strategy Map ก็ดูเหมือนว่ายังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับการแปลงกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ ทั้งนี้เนื่องจากในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญและจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างองค์กร เรื่องของบุคลากร เรื่องของวัฒนธรรมองค์กร ฯลฯ
ทั้งจากประสบการณ์ส่วนตัวและจากงานวิชาการต่างๆ พบว่าในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จนั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ด้วยกันหลายประการครับ ทั้งในเรื่องของการสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์ที่ผู้บริหารได้เขียนขึ้น ไปทั่วทั้งองค์กร เพื่อให้บุคลากรในองค์กรได้มีความเข้าใจในกลยุทธ์ มีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ และสามารถเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์ขององค์กรกับงานประจำที่ทำอยู่ หรือ การปรับโครงสร้าง ระบบ กระบวนการในการทำงานภายในองค์กรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ หรือ เรื่องของบุคลากรภายในองค์กรทั้งในด้านของจำนวน และทักษะ ความสามารถต่างๆ หรือ เรื่องของระบบการประเมินผล การจูงใจบุคลากรให้สามารถดำเนินงานตามกลยุทธ์ที่ได้วางไว้ หรือ เรื่องของระบบข้อมูลในการบริหารและการตัดสินใจ ฯลฯ
ท่านผู้อ่านจะเห็นได้นะครับว่าการนำกลยุทธ์ไปปฎิบัตินั้นจะมีองค์ประกอบหรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องในหลายๆ ประการ และองค์ประกอบเหล่านั้นก็ยังไม่มีกรอบแนวคิดหรือวิธีการที่ชัดเจนในการปฏิบัติ เช่น เรายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าถ้าองค์กรมีกลยุทธ์ลักษณะหนึ่ง ควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง หรือ กระบวนการในการทำงานอย่างไรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ หรือ ในกลยุทธ์แต่ละลักษณะนั้น บุคลากรจะต้องมีคุณสมบัติ ทักษะ ความสามารถในด้านต่างๆ อย่างไรบ้าง ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนอาจจะช่วยกันคิด พัฒนาและแสวงหาก็คือ จะพัฒนากรอบในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร เพื่อที่องค์กรจะได้มีแนวทางในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติที่ชัดเจน
ถ้าท่านผู้อ่านนึกถึงแผนกลยุทธ์ในแง่ของการเป็นพิมพ์เขียวในการสร้างตึกก็ได้ครับ การมีแผนกลยุทธ์ก็เสมือนการมีพิมพ์เขียวสำหรับการสร้างตึก แต่ว่าตัวตึกเองยังไม่ได้ลงมือก่อสร้าง ดังนั้นการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติก็เปรียบเสมือนกับการนำเอาพิมพ์เขียวที่มีอยู่ไปก่อสร้างให้เป็นอาคารที่เป็นรูปร่างที่ชัดเจน แต่ถ้าเรามีแต่กลยุทธ์เพียงอย่างเดียวก็เสมือนมีเพียงแค่แบบและพิมพ์เขียว แต่ยังไม่ได้มีการลงมือก่อสร้าง ดังนั้นกลยุทธ์ที่ดีก็จะต้องมีการปฏิบัติที่ดีด้วย