8 March 2022

ในยุคที่ผู้นำและคนทำงานจะต้องให้ความสำคัญกับการ Reskill และ Upskill ตนเอง ก็มีคำถามที่น่าสนใจว่าแล้ว ทักษะหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนทำงานและผู้นำทุกคน คือ “การนอน” นั้นควรจะถูกบรรจุเป็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนาผู้นำและบุคลากรหรือไม่?

ยิ่งในยุคโควิดที่ปัจจุบันองค์กรได้ให้ความสนใจต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของบุคลากรมากขึ้น แต่เรื่องการนอนกลับเป็นตัวเลือกอันดับท้ายๆในแง่ของการดูแลสุขภาพ ลองสังเกตคำประชาสัมพันธ์ในเรื่องของการดูแลสุขภาพที่มักจะเริ่มต้นด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ตามด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แล้วจึงจะมาถึงการพักผ่อนอย่างเพียงพอ

    สำหรับผู้นำแล้ว การได้นอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ ควรจะเป็นหนึ่งในความสามารถที่สำคัญที่ต้องมีกันเลย เมื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำ เนื่องจากภาระงาน ความเครียด เรื่องที่ต้องคิดและตัดสินใจที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณและคุณภาพของการนอนก็ลดน้อยลง 

ในปัจจุบันได้มีการศึกษาถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ของการนอนกับเรื่องภาวะผู้นำกันมากขึ้น มีงานชิ้นหนึ่งระบุเลยว่าผู้นำที่นอนไม่พอ จะไม่สามารถคิดและนำผู้อื่นได้ดี ผู้นำที่นอนไม่พอเมื่อต้องประชุมหรือทำงานร่วมกับผู้อื่น ก็จะทำให้ชีวิตของผู้ที่ต้องทำงานด้วยเต็มไปด้วยความยากลำบาก กลายเป็นผู้นำที่ไม่น่าอยู่ใกล้ชิดหรือทำงานร่วมด้วย 

มีงานศึกษาที่พบว่า สมองของผู้ที่นอนน้อยนั้นความถูกต้องในการตัดสินใจจะด้อยลง ทำให้ชอบคิดเข้าข้างตนเองว่าจริงๆ ตนเองสามารถเป็นผู้นำที่ดีโดยไม่ต้องนอน หรือ ยังสามารถทำงานได้ดีแม้จะนอนน้อย

    ผู้นำบางคนที่รู้ว่าตนเองนอนไม่พอ ก็จะอัดกาแฟหรือคาเฟอีนเข้าไปเพื่อให้ไม่ง่วง แต่ก็มีการศึกษาที่พบว่าผู้นำเหล่านี้จะมีปัญหาในการจดจำข้อมูลง่ายๆ บางครั้งชอบเหม่อลอยและไม่สนใจ ขาดความอดทน และไม่สามารถคิดและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างชัดเจน 

    บริษัทที่ปรึกษาทางด้านการจัดการระดับโลกอย่าง McKinsey ก็ได้ให้ความสนใจต่อเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างภาวะผู้นำกับการนอนแล้วได้ออกบทความที่แสดงให้เห็นว่าการนอนน้อยนั้นส่งผลเสียต่อการคิดและการตัดสินใจของผู้นำในด้านใดบ้าง 

พบว่าการนอนน้อยส่งผลต่อการมุ่งเน้นและให้ความสนใจต่อสิ่งที่สำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อผู้นำในการวิเคราะห์และประเมินว่าองค์กรยังมุ่งไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ ในทางกลับกันการได้นอนหลับอย่างเพียงพอจะทำให้ผู้นำสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น 

การนอนที่ดีจะทำให้สามารถมองเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ และสามารถคิดสร้างสรรค์แนวทางใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งการได้หลับสั้นๆ ในช่วงบ่ายยิ่งช่วยในการคิดสร้างสรรค์แก้ไขปัญหาได้มากขึ้น

    สำหรับผู้นำแล้ว เรื่องการทำความเข้าใจในผู้อื่นหรือที่เรียกว่า Empathy เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ผู้นำที่นอนน้อยแล้วสมองจะประเมินและตีความในสัญลักษณ์และการแสดงออกของผู้อื่นผิดพลาดมากขึ้น ทำให้ความสามารถในด้าน Empathy ลดลง 

ขณะเดียวกันตัวผู้นำที่นอนน้อยก็มักจะแสดงออกทั้งในด้านกริยาและน้ำเสียงถึงทางอารมณ์ในเชิงลบมากกว่าปกติ ยังมีงานศึกษาที่พบว่าผู้ที่นอนน้อยจะขาดความไว้วางใจในตัวผู้อื่น และพบว่าถ้าหัวหน้างานนอนน้อย ความผูกพันในการทำงานของพนักงานก็จะลดน้อยลง

    องค์กรควรจะทำคือการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทั้งผู้นำและพนักงานได้นอนหลับอย่างเพียงพอ ผู้นำเองก็ต้องแสดงบทบาทในการกระตุ้นและสนับสนุนให้พนักงานได้มีโอกาสนอนหลับอย่างเพียงพอ รวมทั้งทำตัวเป็นแบบอย่างให้ลูกน้องได้เห็นด้วย เช่น ห้ามส่งอีเมลหรือข้อความในช่วงดึกๆ หรือ พูดคุยและแบ่งปันเรื่องพฤติกรรมการนอนของแต่ละคน และไม่ทำให้พนักงานที่ได้มีโอกาสนอนมาก มีความรู้สึกที่ผิด

    ถึงขั้นที่มีงานศึกษาหนึ่งที่พบเลยว่าร้อยละ 70 ของผู้นำระบุว่าหัวข้อของ Sleep Management ควรจะเป็นหนึ่งในหัวข้อการอบรมที่มีในองค์กรเช่นเดียวกับเรื่องของการบริหารเวลา หรือ การสื่อสาร ดังนั้นฝากคำว่าในองค์กรท่านได้เริ่มให้มีการอบรมเรื่องการนอนกันหรือยัง?