30 July 2010

จากความสำเร็จของ Apple ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อนะครับว่ามีหลายๆ บริษัท หลายๆ องค์กร ที่อยากจะเป็นเหมือน Apple หรืออยากจะเป็น Apple ในธุรกิจของตนเอง แต่ก็มีคำถามนะครับว่าแนวทางในการบริหารของ Apple และ Steve Jobs นั้นเหมาะสมที่จะนำมาปรับใช้ในองค์กรอื่นได้หรือไม่? ผมเองไม่ได้มองว่าการบริหารของ Apple ไม่ดีจนไม่สามารถนำมาใช้ในองค์กรอื่นนะครับ เพียงแต่แนวคิดและหลักการในการบริหารของ Apple นั้นค่อนข้างมีเอกลักษณ์ของตนเองและยากที่จะลอกเลียนแบบได้พอสมควร

            เมื่อไม่นานมานี้ทาง Apple เพิ่งประกาศผลการดำเนินงานในรอบสามไตรมาสของปีนี้ออกมา ซึ่งปรากฎว่าผลประกอบการของ Apple ดีกว่าที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้เนื่องจากยอดขายที่มาแรงของทั้ง ipad และ iphone 4 ถึงแม้ว่า iphone 4 จะมีปัญหา (ซึ่ง Jobs บอกว่าไม่ได้เป็นปัญหา) จากเรื่องของการรับและแสดงสัญญาณโทรศัพท์ ท่านผู้อ่านที่ใช้สินค้าหรืออยากจะได้สินค้าของ Apple ลองสังเกตุดูนะครับว่าความสามารถหนึ่งของ Apple และ Jobs ก็คือการทำให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าเกิดกิเลส เชื่อว่าสำหรับหลายๆ ท่านที่ซื้อหรืออยากซื้อ iPad มาใช้นั้น ในช่วงแรกจะไม่ได้มีความต้องการหรือความอยากที่จะใช้สินค้าดังกล่าวเลย แต่เมื่อเห็นตัวผลิตภัณฑ์แล้วกลับมีความต้องการเกิดขึ้น และสุดท้าย เมื่อซื้อมาแล้วก็สามารถหาทางใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ได้ สมดังที่ Steve Jobs เคยกล่าวไว้ครับว่า People don’t know what they want until you show it to them หรืออีกนัยหนึ่งคือคนจะไม่รู้หรอกว่าตนเองต้องการอะไร จนกว่าจะได้แสดงให้เขาเห็นก่อน

            หลายคนหลายองค์กรอยากจะเป็นเหมือน Apple และ Jobs ทำให้มีความพยายามในการศึกษาหลักการและแนวทางในการบริหารของเขา ซึ่งในนิตยสาร Fast Company ฉบับล่าสุดก็ได้มีการเขียนวิเคราะห์ถึงลักษณะการบริหารของ Jobs ไว้อย่างน่าสนใจครับ ท่านผู้อ่านลองดูนะครับ แล้วสุดท้ายลองพิจารณาดูว่าแนวคิดและหลักการบริหารเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้ในองค์กรท่านได้หรือไม่? Apple เองมีแนวทางในการบริหารที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองพอสมควร โดยจากการไม่รับฟังเสียงจากภายนอกครับ สำหรับนักข่าวและนักวิเคราะห์ทั้งหลายแล้ว ต้องถือว่า Apple เป็นบริษัทที่ปิดตัวเองพอสมควร ถึงแม้จะมีนักเทคโนโลยี นักข่าว นักวิเคราะห์ พยายามวิเคราะห์ วิจารณ์​และให้ข้อเสนอแนะต่างๆ แก่ Apple นั้น แต่ Apple และ Jobs นั้นกลับไม่ค่อยได้ให้ความสนใจและใส่ใจต่อเสียงจากภายนอกเท่าไร เหมือนกับว่าที่ Apple นั้นเขาเชื่อว่าการที่จะสามารถสร้างความต้องการให้กับลูกค้าได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่การเชื่อฟังหรือรับฟังต่อบรรดานักวิจารณ์ทั้งหลาย

            นอกจากนี้ต้องถือว่า Apple และ Jobs อาจจะแหกกฎของนวัตกรรมต่างๆ พอสมควรครับ ที่ Apple นั้นการตัดสินใจเรื่องของผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่นั้นจะขึ้นอยู่กับตัว Jobs เป็นสำคัญ ซึ่งขัดกับหลักในการคิดนวัตกรรมสมัยใหม่ที่ระบุว่านวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ควรจะต้องเกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่หลากหลาย และมีกระบวนการที่ชัดเจน แต่สำหรับที่ Apple นั้น เหมือนๆ กับจะเป็นประเทศเผด็จการ นั้นคือ การตัดสินใจทุกอย่างโดยเฉพาะอย่างย่ิงเรื่องของการคิดและออกแบบผลิตภัณฑ์นั้น สุดท้ายจะต้องจบลงที่ Jobs ซึ่งจากการที่การตัดสินใจสำคัญอยู่ที่ Jobs หรือผู้บริหารระดับสูงเพียงไม่กี่คน ก็จะทำให้เห็นว่า Apple เองจะไม่ค่อยมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมามากในแต่ละปี ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็จะแตกต่างจากอีกบริษัทชั้นนำอย่าง Google ที่ีมีความเชื่อว่าไอเดียดีๆ ต้องเกิดขึ้นจากพนักงาน ซึ่ง Google เขาจะเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างเต็มที่ ที่ Google เขาจะมีกฎ 20% ที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้มีเวลา 20% เพื่อคิดในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือในส่ิงที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่

            กระบวนการในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แตกต่างกันของ Apple และ Google นั้น ทำให้ในแต่ละปี Google มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมามาก แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น Waved (ไม่ทราบหลายท่านยังจำผลิตภัณฑ์ตัวนี้ของ Google ได้ไหมครับ?) ในขณะเดียวกันถึงแม้ Apple จะออกผลิตภัณฑ์มาไม่มาก แต่อัตราความสำเร็จนั้นกลับมากกว่า

            อีกข้อแตกต่างระหว่างแนวคิดของ Apple กับ Google นั้นได้แก่เรื่องของการเปิดและปิดครับ ที่ Google นั้นเขามีความเชื่อว่าถ้าซอฟแวร์ต่างๆ เป็นระบบ Open Source ที่ผู้ใช้แต่ละคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดและพัฒนาได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ที่ Apple นั้นเขาจะมองกลับกันครับ ระบบของ Apple จะเป็นระบบที่ปิด ที่ซอฟแวร์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Apple นั้นจะได้รับการออกแบบมาให้ใช้ได้กับระบบของ Apple เท่านั้น และโอกาสที่นักพัฒนาระบบจากภายนอกจะเข้าไปช่วยหรือยุ่งเกี่ยวในการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ นั้นก็ไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ดีทาง Apple เขาก็มองว่าการที่ระบบของเขาเป็นระบบปิดนั้น ก็เพื่อนไปสู่เป้าหมายสูงสุด ก็คือการที่ทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด

            แนวคิดอีกประการที่น่าสนใจของ Apple ก็คือการไม่มีสิ่งต่างๆ ที่มากเกินไป ท่านผู้อ่านที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของ Apple จะสังเกตได้นะครับว่าเมื่อเทียบผลิตภัณฑ์ของ Apple กับคู่แข่งในระดับเดียวกันแล้ว Apple มีอุปกรณ์หรือลูกเล่นต่างๆ ที่ไม่จำเป็นน้อยกว่า เช่นใน Mac Book Pro นั้นก็มีพอร์ตต่างๆ เพียงไม่กี่พอร์ต มีแต่ช่องให้เสียบหูฟังหรือลำโพง แต่ไม่มีช่องให้เสียบไมค์ ช่อง USB ก็มีแค่สองช่อง หรือ อย่างกรณีของ iPhone ก็ไม่สามารถเล่นวิทยุได้ เป็นต้น Jobs เองในฐานะซีอีโอ ต้องทำหน้าที่ในการตัดอุปกรณ์ต่างๆ ที่เขาเห็นว่าไม่จำเป็นทิ้งไป Jobs เองเคยให้สัมภาษณ์ไว้ด้วยซ้ำไปนะครับว่าเขาเองภูมิใจในผลิตภัณฑ์ของ Apple ที่ไม่เคยออกสู่ตลาดหรือที่เขาไม่อนุมัติพอๆ กับผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาด สาเหตุของการไม่มีสิ่งต่างๆ ที่ Jobs มองว่าเกินความจำเป็นนั้น เนื่องจาก Jobs เองเป็นคนที่ไม่ชอบความสลับซับซ้อน หรือ ความยุ่งยากต่างๆ และการที่มีส่ิงต่างๆ ที่มากเกินไปย่อมจะทำให้เกิดความยุ่งยากโดยใช่เหตุ

            การไม่มีสิ่งต่างๆ นั้นก็มีประโยชน์หลายอย่างนะครับ ทั้งการทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง การทำให้เกิดกระแสข่าววิพากษ์วิจารณ์ และทำให้คนเกิดความต้องการ ดังนั้นเมื่อออกผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาและมีสิ่งดังกล่าวก็จะทำให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคมีความสุขยิ่งขึ้น ตัวอย่างง่ายเช่นกรณีของ iPhone ครับ ซึ่งในรุ่นเก่าๆ ไม่สามารถที่จะทำงานหลายๆ อย่างได้พร้อมกันหรือที่เรียกว่า Multi-Tasking แต่พอในซอฟแวร์และใน iPhone รุ่นใหม่ที่สามารถทำได้หลายๆ อย่างพร้อมกัน แต่พอรุ่นใหม่กลับมี หรือกรณีของ iPad ที่กำลังเป็นที่ฮือฮาอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหลายคนวิจารณ์ว่าไม่มีกล้องถ่ายรูป (ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ควรจะมี) บางคนก็บอกนะครับว่าการที่ Apple ทำอย่างนี้ก็เพื่อให้ลูกค้าเดิมๆ เหล่านั้นกลับมาซื้อสินค้าของ Apple ใหม่อีกครั้งเมื่อมีรุ่นใหม่ๆ ออกมา

            เป็นอย่างไรบ้างครับ บางส่วนในแนวคิดการบริหารของ Apple จะเห็นได้นะครับว่าเขามีหลักคิดและแนวทางในการบริหารที่ค่อนข้างแตกต่างจากหลักการและองค์กรทั่วๆ ไปมากพอสมควร ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ทำได้เนื่องจากมี CEO ที่ชื่อ Steve Jobs ไม่ทราบว่าองค์กรต่างๆ ยังอยากที่จะเป็นเหมือน Apple กันอยู่ไหมครับ?